‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’: อาชีวทวิภาคี-เพิ่มงบฯ วิจัย ปูทางไทยสู่ประเทศพัฒนา
"หากเป็นยุคของอาจารย์ป๋วย ภาครัฐอาจเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่ปัจจุบันมีสาเหตุมากมาย ทำให้ภาครัฐของไทยอ่อนแอลง จึงตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาได้อย่างไร ในเมื่อภาครัฐไทยมีความอ่อนแอเช่นนี้ แต่ทำได้โดยการพัฒนากำลังคน รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา"
ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดขึ้นเนื่องในวาระรำลึก 100 ปี ชาตกาลของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญของโลก ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัด และได้คัดเลือกบุคคลผู้สืบสานปณิธานในแวดวงต่าง ๆ เพื่อแสดงปาฐกถาต่อสาธารณะ ในหัวข้อที่สะท้อนถึงความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณของอาจารย์ป๋วย
ทั้งนี้ ได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน นับตั้งแต่เมษายน 2558 จนกระทั่งครั้งที่ 8 ได้รับเกียรติจาก ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาในหัวข้อ รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักศึกษา และสื่อมวลชน อย่างคับคั่ง
บางช่วงบางตอน ดร.สมเกียรติ บอกเล่าด้วยการหยิบยกข้อมูลเปรียบเทียบปี 2556 กับ 2547 ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่า ในรอบ 10 ปี จำนวนคนภาครัฐของไทยเพิ่มขึ้น 50% โดยส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของพนักงานและลูกจ้างของรัฐอยู่ระดับ 0.9 ล้านคน จากเดิม 0.2 ล้านคน ส่วนข้าราชการอยู่ระดับ 1.3 ล้านคน จากเดิม 1.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สาเหตุเป็นเช่นนี้เนื่องจากตำแหน่งข้าราชการถูกแช่แข็งไว้โดยนโยบายของรัฐ
ส่วนเงินเดือนของข้าราชการกลับไม่ต่ำอีกต่อไป นับตั้งแต่มีการรับประกันเงินเดือนระดับปริญญาตรี เริ่มต้น 15,000 บาท/เดือน จากเดิม 6,000 บาท/เดือน ขณะที่เงินเดือนของพนักงานเอกชนระดับปริญญาตรี เริ่มต้น 13,000 บาท/เดือน จากเดิม 9,000 บาท/เดือน
เมื่อคำนวณจะพบว่า งบบุคลากรภาครัฐของไทยต่อจีดีพีสูงกว่าหลายประเทศ จากการที่บุคลากรมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้งบบุคลากรจึงเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 10 ปีที่แล้ว อยู่ระดับ 7.1% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อยู่ระดับ 6.4% ของจีดีพี ฟิลิปปินส์ 5.1% ของจีดีพี สิงคโปร์ 3.0% ของจีดีพี อินโดนีเซีย 2.3% ของจีดีพี และเกาหลีใต้ 2.1% ของจีดีพี
ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผลงานของภาครัฐไทยกลับตกต่ำลง โดยจากการจัดอันดับดัชนีธรรมาภิบาลภาครัฐของไทย เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน กฎระเบียบและการกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมาย ล้วนลดลง แล้วภาครัฐจะเป็นคำตอบของการพัฒนาเศรษฐกิจได้หรือไม่
“หากเป็นยุคของอาจารย์ป๋วย ภาครัฐอาจเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่ปัจจุบันมีสาเหตุมากมาย ทำให้ภาครัฐของไทยอ่อนแอลง” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจไทยจะพัฒนาได้อย่างไร ในเมื่อภาครัฐไทยมีความอ่อนแอเช่นนี้ แต่จะทำได้โดยการพัฒนากำลังคน รวมถึงงานวิจัยและพัฒนา
ดร.สมเกียรติ ขยายความถึงการพัฒนาคนว่า เป็นเรื่องกว้างใหญ่ และอยู่ในความสนใจของอาจารย์ป๋วยมาก แต่จะกล่าวเฉพาะส่วน ‘อาชีวศึกษา’ ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยให้ความสำคัญ แต่รูปธรรมที่เกิดขึ้นมีน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกปัจจุบันมีความนิยมในอาชีวศึกษาลดลง
แต่การศึกษาแบบ ‘อาชีวศึกษาทวิภาคี’ กลับได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเฉพาะในสวิซเซอร์แลนด์ และเยอรมัน ด้วยเพราะเป็นการเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและสถานประกอบการ ใช้เวลาอย่างน้อย 25% ในสถานประกอบการ อาจเรียนสลับกันไปมาในช่วงเวลา 1-4 ปี ได้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และได้รับค่าจ้างด้วย
“จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า อาชีวศึกษาทวิภาคีจะเข้มแข็งต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ นายจ้างมีส่วนร่วม มีการรับรองคุณสมบัติ และมีการเรียนในสถานประกอบการควบคู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่อาชีวทวิภาคีจะได้รับความนิยม”
ทั้งนี้ บทบาทของรัฐและเอกชนในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาทวิภาคีมีหลายรูปแบบ กล่าวคือ 1.กลุ่มรัฐและเอกชนมีบทบาทมาก เช่น เยอรมัน เดนมาร์ก 2.กลุ่มรัฐมีบทบาทน้อย เอกชนมีบทบาทมาก เช่น ญี่ปุ่น 3.กลุ่มรัฐมีบทบาทมาก เอกชนมีบทบาทน้อย เช่น สวีเดน ฝรั่งเศส และ 4.รัฐและเอกชนบทบาทน้อย เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ ไทย
สำหรับตัวอย่างอาชีวศึกษาทวิภาคีในไทย ประธานทีดีอาร์ไอ ชื่นชมวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาทวิภาคีแห่งแรกของไทย และได้รับความนิยมสูงมาก นักศึกษาที่จบจากสถาบันแห่งนี้จะได้ทำงานในสถานประกอบการที่ดี ที่สำคัญ มีความอดทนสูง โดยเรียนในโรงงานเป็นหลัก เสริมด้วยภาคค่ำในวิทยาลัย
ที่สำคัญ สถาบันแห่งนี้มีแนวทางรับประกันคุณภาพล่วงหน้า โดยคัดเลือกนักเรียนเข้าร่วมโครงการเตรียมตัว 1 ปี มีการสอบไล่ เรียนซ่อม ก่อนขึ้นชั้น ซึ่งจะไม่ผลักภาระบุคคลที่สอบไม่ผ่านให้สถานประกอบการ อีกทั้งยังมีครูนิเทศคอยดูแลนักเรียนที่อยู่ระหว่างการฝึกงานอย่างใกล้ชิด ทำให้สถาบันแห่งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดทวิภาคี
ดร.สมเกียรติ ยังยกตัวอย่างความสำเร็จของวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน โดยร่วมมือกับสถานประกอบการของญี่ปุ่น อาทิ Pioneer Canon Honda ด้วยการทำทวิภาคีกับนักศึกษา ปวส.1 ซึ่งปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จนั้นเกิดจากการเตรียมตัวตั้งแต่ ปวช. นั่นเอง
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะที่ดีเป็นสิ่งเป็นไปได้ในไทย แต่ต้องสร้างตัวช่วยโดยที่รัฐออกเงินอุดหนุน และเอกชนบริหารภายใต้การกำกับของรัฐ มีการกำหนดคุณสมบัติแรงงานและวางระบบประกันคุณภาพ จูงใจสถานประกอบการให้ร่วม โดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่าย และจูงใจนักเรียนโดยให้ประกาศนียบัตรพิเศษ ดังเช่นในต่างประเทศ นักศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการด้วย
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า หากไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ นอกจากทักษะแรงงานที่ดีขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่ดีด้วย ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ หากมีการสนับสนุนวิจัยและพัฒนา โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้สวยหรูว่า ปี 2559 ไทยจะมีงบประมาณส่วนนี้ 1% ของจีดีพี และเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในปี 2564 จะขยับขึ้นเป็น 2% ของจีดีพี
“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนปัจจุบัน ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้น จึงผลักดันให้รัฐบาลตั้งกองทุนวิจัยโดยใช้เงิน 1.5% ของกำไรของรัฐวิสาหกิจ สมทบ ซึ่งถือเป็นความพยายามที่ดี”
กระนั้นแนวโน้มการลงทุนที่ผ่านมา พบว่า การวางเป้าหมายให้ได้ 2% ของจีดีพี ล่าช้าไป ในเวลาเดียวกัน การอยากได้เป้าภาคเอกชนลงทุน 70% ในปี 2564 การศึกษาของนักวิจัยทีดีอาร์ไอคาดการณ์เป็นไปไม่ได้ ยกเว้น เอกชนต้องลงทุนเพิ่มจากแนวโม 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เช่นนี้จะถึงเป้าในปี 2618
“หากโมเดลของไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาน้อย แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่วางนโยบายแบบเดิมไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาไม่ได้ ดังนั้นวิธีการที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ รัฐต้องลงทุนสมทบกับภาคเอกชน โดยใช้เงินของรัฐตั้งเป้าให้ภาคเอกชนลง และถ้าภาคเอกชนลง รัฐจะสมทบให้กี่เท่าก็ว่ากันไป ซึ่งถือเป็นวิธีเป็นไปได้” ดร.สมเกียรติ กล่าวในที่สุด .