เปิดสถิติคนไทยตายบนถนนนำโด่งในอาเซียน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกถึง 2 เท่า
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เผยอย่ามองอุบัติเหตุเป็นเรื่องเคราะห์กรรม วอนสื่อเสนอข่าวเชิงลึก เน้นสืบหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อร่วมสร้างการป้องกันให้เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น จัดอบรมการทำข่าวป้องกันอุบัติเหตุให้กับสื่อมวลชน ณ โรงแรมเจดับบิล มาริออท สุขุมวิทซอย 2 กรุงเทพฯ
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า จากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2558 ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน 1.25 ล้านคน ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีคนไทยตายบนถนนในปี 2015 ถึง 24,237 คน หรือคิดเป็น 36.2 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกถึง 2 เท่า โดยอัตราเฉลี่ยตายทั้งโลกจะอยู่ที่ 17 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ในรายงานองค์การอนามัยโลกยังระบุประเทศที่มีรายได้น้อย รายได้ปานกลางจะมียานพาหนะเพียงครึ่งหนึ่งของยานพาหนะทั้งหมดในโลก แต่อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศทั้ง 2 กลุ่มนี้กลับมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90% ของอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก กลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากเป็นอันดับแรกๆคือคนใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินเท้า และคนปั่นจักรยาน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 49%
"สำหรับประเทศไทยนั้นถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นั่นแสดงว่าเราถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนโดยประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางจะมีอัตราการเสียชีวิต 74% รายได้น้อย16% และประเทศรายได้สูง 10%"
ทั้งนี้ในส่วนของคะแนนในเรื่องสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้ถนนปลอดภัยจากการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ กับระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ในปี 2555 ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยการจำกัดความเร็วสูงสุดของเมืองไทย ได้คะแนนอยู่ที่ 3 คะแนนจาก 10 คะแนน ขณะที่กฎหมายว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมเมาแล้วขับ หมวกนิรภัย การขาดเข็มขัดนิรภัย มีคะแนนดีขึ้นจาก 5 คะแนนขยับมาอยู่ที่ 6 คะแนน ซึ่งในส่วนกฎหมายการจำกัดความเร็วสูงสุดที่ได้เพียง 3 คะแนนนั้น ประเทศไทยกำหนดความเร็วสูงสุดในเขตเมืองไว้ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนกำหนดไว้เพียง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น โดยความเร็วก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงตัวเลขการตายจากอุบัติเหตุแสดงให้เห็นว่า ในทุกๆวันจะมี 40 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิก และทุกๆวัน จะมีอีก 15 ครอบครัวต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้สร้างเพียงภาระให้กับครอบครัว เศรษฐกิจแต่ยังส่งผลกระทบต่อบริการสุขภาพ ทั้งด้านงบประมาณและภาระงานของบุคลากรที่มีจำกัด โดยปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ และสื่อมวลชนเองมีหน้าที่ในการร่วมกันผลักดันให้คนในสังคมรับรู้และตระหนักว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ไม่ใช่เรื่องของเคราะห์กรรม
“เวลาทำข่าวเรื่องความสูญเสียจากอุบัติเหตุสื่อสนใจเพียงตัวเลขของผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต แต่ไม่ได้สืบเสาะหาประเด็นที่แท้จริงว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นคืออะไร เมื่อตำรวจบอกว่า ขับรถโดยประมาท สื่อก็เขียนข่าวเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูต้นตอว่าแท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาคืออะไร มีการเสียชีวิตเพราะไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ถนนในพื้นที่เกิดเหตุเป็นอย่างไรบ้าง หรือกรณีที่รถปูนชนรถเเท็กซี่อัดก๊อปปี้กับรถเมล์ ทำให้รถแท็กซี่มุดไปอยู่ใต้ท้องรถ สื่อพาดหัวข่าวว่ารอดปาฏิหาริย์เพราะมีพระดี เขารอดก็ถามว่าเขาห้อยพระอะไร”
ขณะที่นายคิม ลัว ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ปัญหาของอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดจากเรามุ่งที่จะออกแบบถนนเพื่อคนใช้รถมากกว่าคนเดินเท้า ทั้งๆที่ทั้งโลกมีคนเดินเท้ามากกว่าคนใช้รถด้วยซ้ำ การออกแบบที่ดีจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การสร้างระบบความปลอดภัยบนท้องถนนจะต้องสร้างหลักจริยธรรมในการใช้ถนนให้เกิดขึ้น ภาครัฐจะต้องปรับปรุงหลักจริยธรรมซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณและเวลาระยะหนึ่ง ที่สำคัญทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมผิดชอบและป้องกันความผิดพลาดของตัวเองด้วย