ฝันไทยเพิ่มงบวิจัย 2% ทีดีอาร์ไอชี้สำเร็จยาก เหตุแผนพัฒนาศก.ฉ.12 เป้าไม่ชัด
‘ดร.สมเกียรติ’ วิพากษ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 ตั้งเป้าไว้สูง แต่ไร้ความชัดเจน วาดฝันไทยลงทุนวิจัยพัฒนา 2% ของจีดีพี ภายในปี 2564 ระบุขืนมีมาตรการเรื่อย ๆ เหมือนลมโชย ไม่สำเร็จ ได้แค่ 0.6% กว่าจะได้คาดต้องรอถึงปี 2590
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาหัวข้อ ‘รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ’ ในเวทีปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 8 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ใจความตอนหนึ่ง ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มีสโลแกน มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน และวางเป้าหมายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจสาขา ความเป็นเลิศด้านอาหาร การพัฒนาศักยภาพคน การลดความเหลื่อมล้ำ การเติบโตอย่างยั่งยืน และการพัฒนาพื้นที่ภาคและเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งล้วนมีความสำคัญ
โดยตัวอย่างเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ไทยต้องเป็นประเทศรายได้สูงใน 10 ปี ซึ่งขอตั้งเครื่องหมายคำถามตัวโตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะไทยยังเดินทางไม่ถูกต้อง หรือต้องมีเศรษฐกิจโต 5% ต่อปี ภาคบริการโต 7% ต่อปี ผลิตภาพการผลิตโต 2.5% ต่อปี และการลงทุนวิจัยและพัฒนา 2% ของจีดีพี ถือเป็นความคาดหวังที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หลายคนไม่เชื่อการวางแผนพัฒนาของรัฐไทย แตกต่างจากจีนที่ค่อนข้างได้รับความเชื่อถือ
“ผมมีโอกาสได้อ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 คร่าว ๆ มีข้อสังเกตว่า แผนฉบับนี้มีข้อมูลสนับสนุนและประชาชนมีส่วนร่วมพอสมควร ไม่ใช่แผนเลื่อนลอย แต่ความชัดเจนของเป้าหมายกลับไม่สูง กลายเป็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผน ยิ่งรับฟัง ยิ่งได้ความคิดเห็นหลากหลาย โดยไม่มีการขมวดประเด็นกลายเป็นฉันทามติร่วมกัน” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่า เมื่ออ่านแล้วจึงให้ความรู้สึกไปเรื่อย ๆ เหมือนลมโชย ให้อีก 10 ปี ไทยจะกลายเป็นประเทศรายได้สูง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แตกต่างจากจีนและมาเลเซีย ที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ให้ความรู้สึกเร่งด่วน ฉะนั้นหากไม่ทำอะไรเร่งด่วน ประเทศไม่สามารถขยับไปข้างหน้าได้
ทั้งนี้ แม้ไทยจะวางเป้าหมายทะเยอทะยานจะเป็นประเทศรายได้สูงในอีก 10 ปี ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แต่มาตรการนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวกลับไม่เชื่อมโยงกัน แม้กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 ยังไม่ทราบว่าเป้าหมายใดประสบความสำเร็จบ้าง เพราะการขาดกลไกติดตามแผนที่ชัดเจนเท่าที่ควร พร้อมยกตัวอย่าง เป้าหมายให้ไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา 2% ของจีดีพี ภายในปี 2564 โดยให้มีการปฏิรูปแรงจูงใจด้านการเงินการคลังเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งค่อนข้างกว้าง ไม่เป็นรูปธรรม
ขณะที่ข้อมูลการศึกษาของนักวิจัยทีดีอาร์ไอ ประมาณการณ์ไว้ว่า ถ้าไทยยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ปี 2564 ไทยจะมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพียง 0.6% ของจีดีพี เท่านั้น กว่าจะขยับไปถึง 2% ของจีดีพี ต้องใช้เวลาอีก 26 ปี หรือปี 2590 จึงตั้งคำถามว่า หากรัฐไม่มีการวางแผนมาตรการให้ชัดเจน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างไร .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ยูทูป