'ขรก.การเมือง-ประจำ' เอี่ยวปัญหามือถือหัวเว่ย! กฤษฎีกาชี้ กสท สั่งสอบได้
กฤษฎีกา ชี้ กสท มีอำนาจสั่งตั้งกก.สอบได้ หลัง คกก.ความรับผิดทางแพ่ง สอบพบ 'ขรก.การเมือง-ขรก.ระดับสูง'หลายราย พันโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่หัวเว่ย ระบุชัดหากปรากฎข้อเท็จจริงพยานหลักฐานครบ ทำให้ผลประโยชน์ บริษัทฯ เสียหาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ขอปรึกษาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งกรณีข้อพิพาทกับกิจการร่วมค้า หัวเว่ย ไทยแลนด์ คอนซอร์เตียม ในโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000 1 X ซึ่งตรวจสอบพบว่า อาจมีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูงจากหลายหน่วยงาน แต่คณะกรรมการสอบสวนไม่มีอำนาจเรียกบุคคลดังกล่าวมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเป็ฺนธรรมกับทุกฝ่ายได้
บมจ.กสท. จึงขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีนี้ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ บมจ.กสท หรือเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีหน่วยงานใด เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงและมีความเห็นว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยให้ความเห็นไปแล้วว่า บมจ.กสท. ไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจาก บมจ.กสท มิใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมิใช่หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ดังนั้น บมจ.กสท จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
อย่างไรก็ดี สำหรับการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งสามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีที่พนักงานหรือลูกจ้าง บมจ.กสท.ก่อให้เกิดความเสียหายเห็นว่า ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงย่อมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับความรับผิดของพนักงานและลูกจ้าง บมจ.กสท
2. กรณีที่กรรมการ บมจ. กสท ก่อให้เกิดความเสียหายเห็นว่า โดยที่กรรมการบริษัทมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ข้อบังคับของบริษัทและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ตามมาตร 85 วรรหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535
ดังนั้น หากกรรมการของบมจ.กสท. ผู้ใดกระทำการหรือละเว้นกระทำการใดและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น บมจ.กสท. สามารถพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อพิพาทระหว่าง บมจ.กสท กับกิจการร่วมค้า หัวเว่ย ไทยแลนด์ คอนซอร์เตียม ในโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 2000 1 X เกิดขึ้นจากปัญหาการส่งมอบงานล่าช้า โดยโครงการมีมูลค่าทั้งสิ้น 7,100 ล้านบาท ขณะที่ค่าปรับที่กิจการร่วมค้า หัวเว่ย ไทยแลนด์ จะต้องจ่ายให้กับ บมจ.กสท คาดว่าอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 10,000-20,000 ล้านบาท