จากคลิปเสียงอ้างดูหมิ่นศาสนา ถึงข่าวปริศนา "อาร์เคเค" บริจาคซื้อเรือช่วยน้ำท่วม
ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้มีข่าวแปลกๆ เกิดขึ้นหลายข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้ แต่ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจมากเป็นพิเศษมีอยู่ 2 ข่าว คือ ข่าว "อาร์เคเค" ระดมทุนบริจาคซื้อเรือช่วยผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลางและกรุงเทพฯ กับข่าวการเผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
ข่าวแรกค่อนข้างฮือฮาในส่วนกลาง แต่ไม่ค่อยส่งแรงสะเทือนถึงพื้นที่ชายแดนใต้มากนัก แต่ข่าวหลังนี่สิ แม้จะไม่มีพูดถึงในส่วนกลางเลย แต่ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานต้องบอกว่าคุยกันแซ่ดแทบทุกร้านน้ำชา
เอาข่าวแรกก่อน จริงๆ เรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้วก่อนจะปรากฏเป็นข่าวครึกโครมโดยบังเอิญ (หรือจัดฉากยังไม่รู้แน่ชัด) กล่าวคือ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนของเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า "เตมูจิน" ให้ข่าวกับสื่อบางแขนงว่า ได้ลงใต้ไปเจรจากับ "กลุ่มอาร์เคเค" ในทางลับเพื่อขอให้หยุดก่อเหตุชั่วคราว เนื่องจากไม่ต้องการให้ซ้ำเติมสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน
คำว่า "อาร์เคเค" ในที่นี้หมายถึงกองกำลังติดอาวุธที่จัดชุดเป็นหน่วยรบขนาดเล็ก ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ซึ่งแต่ละคนผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์ โดยฝ่ายความมั่นคงไทยใช้เรียกกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มีคำยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า สมาชิกกลุ่มติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เรียกตัวเองว่า "อาร์เคเค" แต่เป็นคำที่ทางการไทยเรียกกลุ่มเหล่านี้เท่านั้น โดยนำมาจากชื่อหลักสูตรฝึกทหารของประเทศอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันหากเอ่ยคำว่า "อาร์เคเค" ทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงกลุ่มติดอาวุธที่ก่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลับมาเข้าเรื่องต่อ เมื่อนายเตมูจินได้คุยกับกลุ่มอาร์เคเคเรียบร้อย (ตามอ้าง) ปรากฏว่าอาร์เคเคเข้าใจเป็นอย่างดี แถมยังรวบรวมเงินในลักษณะ "เงินบริจาค" มาให้ถึง 7 หมื่นบาทเพื่อจัดซื้อเรือมอบให้ประชาชนในภาคกลางและกรุงเทพฯที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย
นายเตมูจินที่ว่านี้ยังให้ข่าวด้วยว่า ได้เติมเงินส่วนตัวและของเครือข่ายอีกราว 3 หมื่นบาทเพื่อให้ครบแสน จะได้ซื้อเรือไฟเบอร์ขนาด 4 ที่นั่งได้ครบ 20 ลำ มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นำไปแจกจ่ายกับพี่น้องประชาชน
ทีแรกข่าวนี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันแพร่หลายนัก แม้นายเตมูจินจะพยายามให้ข่าวผ่านหลายช่องทาง (เข้าใจว่านักข่าวที่ได้รับข่าวสารคงพอประเมินได้ว่ามีโอกาสความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด) กระทั่งมาเป็นข่าวดังขึ้นมาเมื่อวันอังคารที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง เมื่อตำรวจ สน.นางเลิ้ง กลางเมืองหลวง เรียกตรวจรถกระบะบรรทุกเรือไฟเบอร์กลาส 20 ลำ ซึ่งด้านข้างของเรือพ่นสีเป็นข้อความว่า "ปันน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกลุ่มเจมูติน อาร์เคเค" พร้อมทั้งเชิญตัวคนขับรถไปสอบปากคำ และนำผ้าใบมาคลุมเรือท้ายกระบะรถเอาไว้เพื่อไม่ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ (แต่ก็ยังมีภาพหลุดออกมาอยู่ดี)
คำว่า "เจมูติน" ที่เพี้ยนไปจาก "เตมูจิน" ไม่แน่ใจว่าเป็นการเขียนผิดแบบจงใจหรือไม่...
หลังสอบปากคำโชเฟอร์ ตำรวจออกมาอธิบายว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด โดยเรือทั้งหมดมีผู้จะนำไปบริจาคให้ชาวชุมชนย่านสะพานพระราม 8 แต่มีคนไปพบว่าใช้สีสเปรย์พ่นข้อความเกี่ยวกับ "อาร์เคเค" จึงเชิญตัวไปสอบปากคำ แต่ไม่มีอะไรต้องสงสัย จึงปล่อยตัว โดยคนขับรถให้การว่าเป็นคนนำเรือไปส่งเท่านั้น
มีข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า มีผู้นำเรือล็อตนี้ไปมอบให้ ศปภ.แล้ว แต่ ศปภ.ปฏิเสธที่จะรับ เพราะติดขัดที่ข้อความข้างเรือ คนขับรถขนเรือจึงนำเรือไปมอบให้ผู้ประสบภัยย่านสะพานพระราม 8 แทน ตามข่าวบอกด้วยว่ามีชาวบ้านพบเห็นจึงแจ้งให้ตำรวจจับ แต่รถกระบะคันนี้พยายามหลบหนี กระทั่งไปจนมุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ท้องที่ สน.นางเลิ้ง
น้องนักข่าวที่ผมรู้จักและติดตามการเคลื่อนไหวของเครือข่าย "เจมูติน" หรือ "เตมูจิน" มาตลอด ให้ข้อมูลว่า ไม่รู้แหล่งที่มาของเงินที่นำมาซื้อเรือว่ามาจากกลุ่มอาร์เคเคตามอ้างจริงหรือไม่ แต่ตลอดเวลาของการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ นักข่าวตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการพยายามสร้างข่าวมากกว่าจะตั้งใจช่วยเหลือจริงๆ
ถ้าข้อสังเกตของน้องนักข่าวรายนี้มีน้ำหนัก ก็น่าเศร้าใจที่มีคนนำเอาชื่อ "กลุ่มอาร์เคเค" ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการก่อความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็น "เครื่องมือ" ในการประชาสัมพันธ์ตัวเอง
ทั้งๆ ที่ความรุนแรงที่นั่นเต็มไปด้วยคราบเลือดและน้ำตาของผู้สูญเสียมากมาย...
ไม่ว่ากลุ่มอาร์เคเคจะบริจาคเงินผ่านเครือข่ายนี้จริงหรือไม่จริง ผมก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องสมควรที่ใครจะนำมาเป็นประเด็นสร้างข่าว เพราะต้องไม่ลืมว่ามีครอบครัว ญาติพี่น้องจำนวนไม่น้อยของทหารตำรวจที่ลงไปพลีชีพที่ชายแดนใต้กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ พวกเขาคงไม่รู้สึกดีกับข่าวนี้แน่ๆ
ยิ่งไล่อ่านดูความเห็นในสังคมออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว ยิ่งเห็นกระแสในเชิงลบ ไม่ยอมรับ และด่าทอ แน่นอนว่าหลายๆ คำวิจารณ์ลามไปถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดและผู้คนที่นั่น
หากอาร์เคเคบริจาคเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยจริง คงเสียใจที่ถูกต่อต้านและปฏิเสธน้ำใจเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นการส่งสัญญาณดีๆ และสร้างบรรยากาศที่ดีมากๆ ในการร่วมกันแสวงหาแนวทางสันติภาพต่อไป
แต่หากไม่ได้มีการบริจาคเกิดขึ้นเลย ก็น่าแปลกใจว่ากลุ่มที่สร้างเรื่องนี้ขึ้นมามีจุดประสงค์แอบแฝงอะไร นอกเหนือจากอาการ "อยากเป็นข่าว" เพราะเรื่องราวแบบนี้ยิ่งทำให้ความรู้สึกระหว่างคนภาคอื่นกับคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กินแหนงแคลงใจกันมากขึ้นไปอีก
เรียกว่าเป็นการ "ตอกลิ่ม" ทางอ้อมก็คงไม่ผิดนัก...
อีกข่าวหนึ่งที่ผมเกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นก็คือข่าวการแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่ามีเนื้อหาโจมตีศาสนาอิสลาม โดยคลิปที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอยู่แทบทุกหัวระแหงขณะนี้มีอยู่ 3 คลิปด้วยกันคือ
1.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องเพื่อชีวิตชื่อดัง
2.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดังแห่งยุค
3.คลิปเสียงอ่านคุตบะห์ของผู้นำศาสนาที่อ้างว่าเป็น "รองจุฬาราชมนตรี" ประณามนักร้อง 2 รายที่ถูกอ้างถึงใน 2 คลิปแรก
จากการที่ผมขอให้น้องๆ "ทีมข่าวอิศรา" ช่วยตรวจสอบคลิปเสียงที่ว่านี้พบว่า คลิปที่ 1 ยังหาต้นตอไม่ได้ คือมีแต่คนบอกว่า "มี" แต่เอามายืนยันไม่ได้ว่า "มีจริงๆ" ส่วนคลิปที่ 2 ฟังแล้วไม่ใช่เสียงของนักร้องแร็พชื่อดังแห่งยุค คลิปที่ 3 ได้รับคำยืนยันจากสำนักจุฬาราชมนตรีว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และในช่วงนี้ก็ไม่มีข่าวคราวการแต่งเพลงหรือร้องเพลง (จากคนศาสนาอื่น) ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลามแต่อย่างใด
เมื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับไป ปรากฏว่ามีกรณีนักร้องเพื่อชีวิตชื่อดังให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งในทำนองดูหมิ่นศาสนาอิสลามจริง ขณะที่นักร้องเพลงแร็พชื่อก้องก็มีกรณีใส่เสียงที่คล้ายเสียงละหมาดเข้าไปในเพลงของเขา จนเข้าข่ายละเมิดศาสนาเช่นเดียวกัน แต่ทั้งสองกรณีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน โดยทั้งคู่ได้ขอขมาต่อสาธารณะแล้ว (เป็นการกระทำคนละครั้งกัน ไม่เกี่ยวโยงกัน) โดยเฉพาะนักร้องเพื่อชีวิตนั้นได้ทำหนังสือถึงสำนักจุฬาราชมนตรีด้วย จึงเท่ากับเรื่องยุติไปนานมากแล้ว
ที่สำคัญตำแหน่ง "รองจุฬาราชมนตรี" ที่อ้างในคลิปที่ 3 นั้นไม่เคยมีในสารบบ ซึ่งคนมุสลิมน่าจะรู้ดี!
แต่เชื่อหรือไม่ว่า คลิปทั้ง 3 คลิปนี้ทำให้เกิดกระแสเกลียดชังคนศาสนาอื่นมากขึ้นในกลุ่มคนบางกลุ่ม (ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย) ในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ฟังแล้วเชื่อเลย หรือฟังแล้วก้ำกึ่ง เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่พอมีคนยุยงส่งเสริมก็เลยเชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่มีมูลเหตุ หรือหากจะคิดว่ามีมูลเหตุ ก็เกิดขึ้นนานจนน่าจะยุติลงได้แล้ว
จากกระแสข่าวในพื้นที่น่าเชื่อว่าการเผยแพร่คลิปเสียงทั้ง 3 คลิป เป็นการดำเนินการอย่าง "เป็นขบวนการ" เพื่อหวังผลบางอย่าง อาจจะเป็นการ "กระชับพื้นที่ทางความรู้สึก" ของกลุ่มก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อตอกย้ำให้มวลชนยืนอยู่ข้างตัวเอง หรือไม่ก็อาจเป็นผลประโยชน์ในการเลือกตั้งผู้นำศาสนาบางระดับในห้วงนี้
จะเรียกว่าเป็นการ "ตอกลิ่ม" ก็ไม่ผิดเช่นกัน...
นี่คืออันตรายของการ "สร้างข่าว" จาก 2 มุมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ส่งผลลบไม่ต่างกัน และยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์อันสับสนอลหม่านที่ชายแดนใต้ให้วุ่นวายหนักขึ้น
จาก 2 เรื่องราวที่หยิบมาเล่าให้ฟังนี้ ชี้ให้เห็นว่าสังคมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นสังคมที่อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการถูกชี้นำในหลายเรื่องหลายประเด็น แล้วก็มีคนที่ทั้งหวังดีและหวังร้าย (หรืออาจจะหวังดี แต่เกิดผลร้ายโดยไม่เจตนา) คอยหาประโยชน์จากสังคมนี้อยู่ตลอดเวลา...
และที่เห็นได้ตลอดมาคือการอ้างเสียงของประชาชน แต่พอถามผู้คนรากหญ้าจริงๆ กลับไม่รู้ไม่เห็นอะไรด้วย ได้แต่ตกเป็น "เหยื่อ" ในทุกสถานการณ์
ฉะนั้นตั้งสติสักนิด อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ และอย่าปล่อยให้ใครอ้างเสียงของท่านไปใช้ประโยชน์เพื่อกลุ่มพวกของตน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์เดลินิวส์
หมายเหตุ : ในวงกลมสีแดงคือคำว่า "อาร์เคเค" จากข้อความที่ใช้สีสเปรย์พ่นข้างเรือว่า "ปันน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกลุ่มเจมูติน อาร์เคเค" (ตกแต่งภาพโดย ฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)