"แก้ พ.ร.บ.กลาโหม-ปรับลดงบทหาร-ไฟใต้" ปมอ่อนไหว"รัฐ-กองทัพ"หลังน้ำลด
"จะทำอย่างไรได้ในเมื่อมีความจำเป็น เมื่อประเทศชาติมีภัยและมีการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้นการที่จะถูกลดงบประมาณลงบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องขอชี้แจงว่างบประมาณของกองทัพบกถูกลดไปร้อยละ 10 แต่เมื่อลดไปแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่ามันจะเกิดอะไรบ้าง จะต้องยอมรับสภาพกัน...ผมไม่ได้ว่าอะไรแต่ต้องกระเบียดกระเสียนกัน หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็ทำงานได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าทุกคนเข้าใจ เพราะใจพวกเราเกินร้อยอยู่แล้ว"
เป็นเสียงบ่นดังๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อถูกนักข่าวถามเรื่องงบกองทัพถูกปรับลดลงถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เสียงแห่งความพึงพอใจ
พลิกดูเอกสารร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา จะพบว่าในส่วนที่ตั้งไว้เป็นงบกองทัพนั้น "ถูกปรับลด" อย่างชัดเจน โดยงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม ตั้งเอาไว้ที่ 167,446 ล้านบาทเศษ เปรียบเทียบกับตัวเลขงบประมาณเมื่อปี 2554 ที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 170,258 ล้านบาท เท่ากับลดลงไปเกือบๆ 3 พันล้านบาท
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมเกือบทุกหน่วยถูกปรับลดงบประมาณเกือบจะถ้วนหน้า เริ่มจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม งบปี 2555 ตั้งไว้จำนวน 5,904 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรร 6,129 ล้านบาทเศษ, กองบัญชาการกองทัพไทย งบปี 2555 ตั้งไว้ที่ 13,230 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับ 13,676 ล้านบาทเศษ ถือว่าลดลงเล็กน้อย
กองทัพบก ตั้งงบไว้ที่ 81,716 ล้านบาทเศษในปี 2555 ส่วนปีที่แล้วได้รับการจัดสรร 83,508 ล้านบาทเศษ ลดลงไปเกือบ 2 พันล้านบาท, กองทัพเรือ ตั้งงบปี 2555 ไว้ที่ 32,905 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรร 33,506 ล้านบาทเศษ มีเพียงกองทัพอากาศเท่านั้นที่ตั้งงบประมาณเอาไว้สูงขึ้น กล่าวคือ ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ตั้งงบไว้ 32,174 ล้านบาทเศษ ขณะที่ปี 2554 ได้รับการจัดสรรจำนวน 31,817 ล้านบาทเศษ
แม้แต่ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ตั้งงบรวมเอาไว้ที่ 6,747 ล้านบาท แยกเป็นงบดับไฟใต้ 6,100 ล้านบาทนั้น เมื่อปี 2554 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณถึง 8,792 ล้านบาท (แยกเป็นงบดับไฟใต้ 8,019 ล้านบาทซึ่งมีทิศทางเพิ่มขึ้นทุกปี) เท่ากับปีนี้หายไปถึง 2 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งถูกโยกไปเป็นงบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ที่เพิ่งมีกฎหมายรองรับองค์กรและเสนองบประมาณเองเป็นปีแรกจำนวน 1,422 ล้านบาท
ขณะที่ยอดรวมงบดับไฟใต้ในปีงบประมาณ 2555 เองก็ลดลงจากเดิมราว 3 พันล้านบาท กล่าวคือ จาก 19,102 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 เหลือตั้งไว้เพียง 16,277 ล้านบาทในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555
เป็นที่ทราบกันดีว่า "งบดับไฟใต้" ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เป็นงบของฝ่ายความมั่นคงกว่าครึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นงบเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ และงบทรงชีพ หรืองบสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วย ฉะนั้นเมื่อเม็ดเงินถูกปรับลดลง ย่อมส่งผลสะเทือนถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะกองทัพบกซึ่งเป็นดั่งเสาหลักใน กอ.รมน.
ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.เพิ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็น "องค์กรหลัก" ในภารกิจดับไฟใต้ซึ่งเพิ่งจัดทำพิมพ์เขียวกันใหม่...
คิดในเชิงการเมือง หากกองทัพไม่มีส่วนร่วมอะไรเลยหรือมีส่วนร่วมแต่ไม่มากนักกับงบปกติที่ใช้ฟื้นฟูหลังน้ำลดซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ราว 1.2 แสนล้านบาท และยังอาจไม่มีส่วนร่วมกับงบประมาณที่จะเสนอผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูประเทศและวางระบบบริหารจัดการน้ำใหม่ ซึ่งจะใช้งบราว 8 แสนล้านบาท หนำซ้ำยังถูกตัดลดงบประมาณของกองทัพเองและงบดับไฟใต้อีกด้วย ก็น่าคิดว่ากองทัพจะรู้สึกอย่างไร
ทั้งๆ ที่กองทัพเพิ่งรับบท "พระเอก" ของประชาชนในภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัย...
เป็นบท "พระเอก" ที่แลกมาด้วยความเหนื่อยยาก เพราะรัฐบาลแทบไม่มีแผนงานอะไรชัดเจนในช่วงแรกๆ ของการรับมือกับมวลน้ำ กลายเป็นว่านึกอะไรไม่ออกก็เรียกใช้ "ทหาร" เล่นเอากำลังพลจำนวนมหาศาลต้องรับผิดชอบภารกิจมากมายเสียจนอ่อนเปลี้ยเพลียแรง กระทั่งมีข่าวทหารตั้งวงประเมินรัฐบาล "สอบตก"
แม้ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกจะออกเอกสารปฏิเสธข่าวนี้ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าในวงสนทนาหลายๆ ระดับของบรรดาคนในเครื่องแบบวิจารณ์รัฐบาลกันอย่างดุเดือดเพียงใด
อีก 30 วันของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในชั้นแปรญัตติ น่าติดตามว่างบกองทัพจะถูกรุมซักและเสนอให้ปรับลดอีกขนาดไหน โดยเฉพาะจาก ส.ส.บางปีกบางฝ่ายที่ยังฝังใจกับปฏิบัติการของกองทัพในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว และบางปีกบางฝ่ายก็ยังคาใจกับผลการเลือกตั้ง ส.ส. 11 ที่นั่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ปีนี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยสูญพันธุ์อย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยนั่งเป็นประธานและรองประธานกมธ. ก็รับเรื่องที่มีการเสนอศึกษาเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เอาไว้ เพื่อเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปทลาย "กฎเหล็ก" การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลซึ่งปัจจุบันฝ่ายการเมืองแทบไม่มีส่วนร่วมได้เลย
พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ประธาน กมธ.จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในราวๆ เดือน ธ.ค. โดยให้ผ่านห้วงวิกฤติจากมหาอุทกภัยไปเสียก่อน ซึ่งก็สอดรับกับท่าทีของขุนพลพรรคเพื่อไทยอีกหลายๆ คน รวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างชัดเจนว่าต้องรื้อกฎหมายฉบับนี้
ประเด็นการปรับลดงบประมาณท่ามกลางภารกิจมากมายที่ยังต้องใช้ทหาร ทั้งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดับไฟใต้ กับการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จะเป็นปรอทวัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพหลังน้ำลดว่าจะยังคงราบรื่นดีอยู่หรือไม่...
ในห้วงที่การเมืองไทยยังคงพลิกผันได้ทุกนาที!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.2554 และเว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com โดยชิ้นที่นำเสนอในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้ปรับแก้หัวเรื่องและเนื้อหาเล็กน้อย
ภาพประกอบ : ภารกิจของทหารทั้งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมและดับไฟใต้ (ภาพจากเว็บไซต์ และถ่ายโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์) ภาพผ่านการตกแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา