หนักอึ้งปลูกป่า 26 ล้านไร่ อ.อ.ป. ชี้เป้าพึ่งภาคเอกชน รัฐให้การสนับสนุน
ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ชี้เป้า จะพัฒนาเรื่องป่ายั่งยืนรัฐต้องให้การสนับสนุน แนะลดภาษีสำหรับป่าปลูก สร้างตลาดและโอกาสส่งออกไม้ต่างประเทศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์วิจัยป่าไม้ จัดเสวนาวิชาการป่าไม้ เรื่อง"ชี้เป้า วิกฤตการป่าไม้ไทย ต้องแก้...ด่วน" ณ ห้องประชุมจงรักปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน
นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาป่าไม้ไทยอนาคตการปลูกและการใช้ไม้ของประเทศไทยจะสามารทำอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งตามที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติกำหนดไว้ว่า เราต้องมีพื้นที่ป่าไม้ 40% ปัจจุบันที่ทำการสำรวจ พบว่า ถ้าจะให้ได้ตามเป้าจะต้องปลูกป่าเพิ่ม 26 ล้านไร่ คำถามในสังคมที่ตามมาคือ จะปลูกที่ไหน ปลูกอย่างไร
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ณ ปัจจุบันป่าปลูก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ปลูกเอง และรับมอบจากกรมป่าไม้มามีทั้งหมดโดยประมาณ 1.2 ล้านไร่ ของภาคเอกชน ของกรมป่าไม้ ของกรมอุทยาน รวมเบ็ดเสร็จ 10-11 ล้านไร่ ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว หากต้องปลูกป่า 26 ล้านไร่ ภาครัฐไม่สามารถทำไม่ได้ กรมป่า กรมอุทยานทำไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชน
ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า หลายๆ ประเทศในโลกนี้อาศัยเอกชนในการสร้างป่า การที่จะให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่านั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาสนับสนุน ถามว่าจะสนับสนุนอย่างไร หากดูโครงการเก่าของกรมป่าไม้ อย่างโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี2537 ช่วงแรกของโครงการก็มีปัญหาจนเริ่มซบเซาไปเรื่อยๆ แต่ระหว่างนั้นยังคงมีการดำเนินงานอยู่บ้าง มาปี 2559 ที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะยกเลิกโครงการนี้ ถามว่าแล้วรัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาปลูกป่า เพราะปลูกป่าไร่หนึ่งใช้เงินหลายบาท แต่ถ้ารัฐบาลสนับสนุนเงินตามโครงการนี้ไร่ละ 3,000 บาท 26 ล้านไร่ ประมาณแสนกว่าล้าน เราจะมีป่าเพิ่มขึ้นมา 26 ล้านไร่
"ผมว่ารัฐบาลควรจะสนับสนุน เพราะที่จ่ายจำนำข้าวเกือบพันล้านบาท ยังยอมจ่ายได้ ค่าบ่อบำัดน้ำเสียคลองด่านหมื่นล้านบาท จ่ายได้ ถามว่าเอาเงินนี้ไปปลูกป่าก็ได้หลายสิบล้านไร่ นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องช่วย ต้องสนับสนุน"
ทั้งนี้ ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า หากเราสนับสนุนให้เอกชนปลูกแล้ว เมื่อเขาปลูกแล้ว จะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร จะมีการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างไร ยกตัวอย่าง ชาวบ้านปลูกไม้ยูคาลิปตัส ที่นำเอาไปทำเยื่อกระดาษ เอาไปทำพลังงาน ซึ่งพวกนี้จะมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มารองรับตรงนี้ แต่หากเป็นไม้ดีมีค่าจะขายที่ไหน มีหลายคนถามเข้ามาว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จะรับซื้อไหม ใช้ราคากลางขององค์การได้ไหม
"จริงๆ ผมเองอยากทำตลาดกลาง แต่มีทักมาว่า ทำไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาเวลาประมูล หากตกลงกันไม่ได้ ใครจะเป็นคนเจรจาใครจะเป็นคนตัดสิน ต่อมาเลยเปลี่ยนวีธีว่า เป็นตลาดกลางที่ให้คนขายและคนซื้อมาเจอกัน ไม่ต้องมีการประมูลกัน เป็นตลาดที่คนปลูกสามารถนำของมาวางขายได้เลย ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการกันอยู่"
นายพิพัฒน์ กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลช่วยได้คือ หาตลาดจากภายนอก ไม้ที่มาจากป่าปลูก หากสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ตรงนี้จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ตอนนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับสิทธิ์จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สามารถส่งออกไม้ไปต่างประเทศได้เพียงผู้เดียว
"ผมเห็นด้วยที่จะมีการแก้กฎหมายให้เอกชนมีส่วนร่วมในการส่งออกไม้ไปต่างประเทศได้ นอกจากสามารถส่งออกไม้ไปหาตลาดได้เเล้ว เรื่องภาษี ทุกวันนี้ภาษีการส่งออกอยู่ที่ 40 % ซึ่งมาจากฐานของเพดานไม้จากป่าธรรมชาติ แต่ไม้จากป่าปลูกยังใช้เพดานเดียวกันกับป่าธรรมชาติ สิ่งที่รัฐบาลช่วยได้คือ ลดภาษีให้กับป่าปลูก เมื่อลดภาษีตรงนี้ได้ คนปลูกก็มีความสามารถที่จะนำออกไปขาย ในราคาที่ต่ำลง สามารถไปสู้กับผู้ค้ารายอื่นได้" นายพิพัฒน์ กล่าว และว่า แต่ประเด็นที่จะตามมาก็คือ เมื่อเราเปิดตลาดการค้าเเล้ว ให้ส่งออกไปต่างประเทศเเล้ว ตอนนี้หลายๆ ประเทศปิดตายสำหรับไม้ผิดกฎหมาย ประเทศทางยุโรปรวมตัวกันไม่ยอมให้ประเทศตัวเองเป็นตลาดของไม้ผิดกฎหมาย นั่นหมายถึงเขาทำกติกาทำหลักเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อป้องกันเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐ และเกษตรกรผู้ปลูกป่าต้องพัฒนาตัวเอง ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาป่าอย่างยั่งยืน
ผอ.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสนับสนุน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดูเเลคนที่ปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นลดภาษี การสนับสุนเม็ดเงิน เป็นต้นทุนแก่เกษตรกร หากเกษตรกรมีต้นทุนตรงนี้ พวกเขาก็พร้อมที่จะปลูกป่า ปลูกป่าแบบผสมผสาน โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนั้น สร้างผลกำไรต่อไป