ป่าไม้ไทยวิกฤต! ปฎิรูปอย่างไรให้ตรงจุด แก้ปัญหายั่งยืน
"ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ที่รัฐกลับมองเรื่องกระบวนการตรวจสอบ กับเรื่องการดูเเลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการความชัดเจน กลายเป็นเรื่องขัดขวางความเจริญ ทั้งที่เราน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ออกไป แล้วหาเป้าชัดเจนว่าจะดูเเลรักษาผืนป่าที่เหลืออยู่เอาไว้อย่างไรจะดีกว่า"
หมายเหตุ:นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการป่าไม้ 'ชี้เป้าวิกฤตการป่าไม้ไทยต้องเเก้...ด่วน' หัวข้อ ปฏิรูปอย่างไรให้ตรงจุด ซึ่งจัดโดย ศูนย์วิจัยป่าไม้ ณ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน
ป่าไม้ไทยวันนี้
สถานการณ์ป่าไม้ไทย สำหรับปี 2558 พบว่า มีพื้นที่ป่าอยู่ 31.57 % ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ยังแบ่งออกเป็น
1. พื้นที่ยังคงสภาพป่าที่กรมป่าไม้ดูเเลประมาณ 58.68%
2.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในการดูเเลของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช 48.10 %
3. พื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 38.68%
โดยในปี 2567 ได้วางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ทั้งหมด 40% ของพื้นที่ประเทศ
"การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ไม่อาจเกิดได้ในเร็ววันแน่นอน เพราะพื้นที่ต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน แต่คิดว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะประกาศในปี 2559 ซึ่งพื้นที่ป่าทั้งหมดที่ว่ามานี้คือพื้นที่ป่าในการดูเเลของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐในการดูเเลรักษาผืนป่าเหล่านี้เอาไว้ และเข้าไปจัดการดูเเล" เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าว
การบริหารจัดการที่ทำได้ในวันนี้
สิ่งที่สามารถจัดการได้วันนี้ คือ 1. การจัดทำฐานข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการได้อย่างตรงจุด เพราะเวลาเราพูดว่าพื้นที่ป่าไม้ลดลง หรือกรมป่าไม้ระบุว่าเราดูเเลป่าไม่ได้ เพราะกำลังเราน้อย พื้นที่เราเยอะ
แต่ถามว่า จริง ๆ เเล้ว ได้มีการวิเคราะห์กันหรือไม่ว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแต่ละแห่งเหลือป่าเท่าไร ที่เหลือมีการบุกรุกเท่าไร ตรงไหนมีการใช้ประโยชน์บ้าง แล้วใช้ประโยชน์อย่างไร
"เท่าที่ได้พูดคุยกับหัวหน้าในหลายพื้นที่ พบว่า แทบจะไม่มีข้อมูลในเรื่องแผนที่ในดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะมีฐานข้อมูล เพื่อไว้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลตรงนี้ เเต่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างฐานข้อมูลชุดนี้ขึ้นมา"
2.วิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ และวางแผนในแต่ละพื้นที่ ให้มีการจัดการรูปแบบอย่างไร ส่วนไหนจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนไหนจะเป็นป่าชุมชน เป็นพื้นที่ต้นน้ำ หรือการอนุรักษ์ผืนป่า รวมถึงการดูแลพัฒนาป่าสงวนเเห่งชาติให้มีความชัดเจน
เพราะปัญหาที่เจอ คือ ป่าสงวนเเห่งชาติในแต่ละแห่ง หน่วยงานต่าง ๆ จะกรูกันเข้าไปทำงานในพื้นที่เยอะมาก แม้ในกรมป่าไม้เอง มีทั้งสำนักส่งเสริมป่าชุมชน หน่วยป้องกัน เเละหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต่างลงเข้าไปทำงานในพื้นที่โดยไม่มีการพูดคุยกันว่า ในป่าผืนนั้นมีกิจกรรมอะไร เเละอยู่ตรงไหนบ้าง
"ผมมีปัญหาเรื่องหนึ่ง นั่นคือ การสนับสนุนให้ชุมชนบริเวณขอบป่าตะวันตก มีการจัดตั้งป่าชุมชนขึ้นมา ซึ่งจากการหารือกับกรมป่าไม้ พบว่า จะทำอย่างไรให้เร่งประกาศพื้นป่าชุมชน เพื่อที่จะป้องกันการขยายตัวของพื้นที่เกษตร ป้องกันไม่ให้คนเอาป่าที่เหลืออยู่มาเป็นพื้นที่ทำกิน
อีกอย่างที่อยากได้ คือ เป็นแนวกันชนให้กับป่าผืนใหญ่ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำอย่างไรให้กรมประกาศพื้นที่เหล่านี้และให้ชุมชนได้ดูเเลเร็วที่สุด แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมา คือ การจัดตั้งป่าชุมชน โดยมีเรื่องของงบประมาณเข้ามา ทำไมปีหนึ่งได้สามป่า ปีหนึ่งได้สี่ป่า"
ขณะเดียวกันชุมชนมีความพร้อมเสมอในเรื่องป่าชุมชนกว่า 64 ป่า นั่นหมายความ เราต้องรออีกกี่ปี ที่ชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการเข้ามารักษาป่าชุมชนอย่างถูกต้อง สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ก็คือ พยายามที่จะป้องกันไว้ก่อน ด้วยการเดินสำรวจด้วยกัน และทำชุดข้อมูลขึ้นมา เมื่อวันหนึ่งกรมป่าไม้พร้อมที่จะจัดตั้งป่าชุมชน จะได้มีข้อมูลในการจัดตั้งอย่างทันที
เมื่อเสนอไปขณะนั้นฝ่ายป่าชุมชนบอกว่า ไม่ได้ เวลาไปเดินเจ้าหน้าที่สำนักป่าชุมชนต้องไปเดินด้วย แต่พอเราไปเชิญ เขากลับไม่ว่างที่จะมา อันนี้อยากให้เห็นว่า พื้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติ ถ้าเรามีรูปแบบที่เอกภาพ คล้าย ๆ กับอุทยานแห่งชาติเเห่งหนึ่ง ที่มีหัวหน้าพื้นที่ที่ชัดเจนและมีการร่วมกันทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นสมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนมีส่วนในการดูแลพื้นที่เหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่งานของตัวเอง ซึ่งตรงนี้กรมป่าไม้เคยมีแนวทางในการจัดการเรื่องนี้อยู่ จึงอยากให้มีการดำเนินการต่อ เพราะอยากให้สร้างเอกภาพในการทำงานตรงนี้ให้ได้
3.การพัฒนาองค์กร บุคลากรและเครื่องมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เรื่องขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สวัสดิการซึ่งวันนี้มีน้อยมาก ซ้ำยังมีปัญหาผู้บุกรุก ซึ่งมีอิทธิพล ทำยังไงถึงจะพัฒนาศักยภาพตรงนี้ให้มีความพร้อมที่จะทำงาน
4.กลไกของคณะกรรมการร่วมเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ คล้าย ๆ กับเรามีกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าสงวน เพื่อจะให้มีหน่วยรัฐเเละเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันมองว่า เราจะดูเเลพื้นที่นี้อย่างไร ให้คำแนะนำต่าง ๆ ผมมองว่าเป็นกลไกที่จะช่วยลดปัญหาที่กฎหมายไม่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ทำ เเละกรรมการก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้
5.การเชื่อมประสานการทำงานและการดูแลรักษาป่าระหว่างป่าสงวนเเห่งชาติและป่าอนุรักษ์ กรมป่าไม้เเละกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช เมื่ออยู่ในพื้นที่ ไม่ทำงานด้วยกัน แม้ว่าจะได้รับหมอบหมายว่า ทุกคนเป็นเจ้าหน้าที่ดูเเลป่าเหมือนกันหมด ใครพบเห็นการบุกรุก สามารถเข้าไปดำเนินการได้เลย แต่ในเชิงการปฏิบัติจริง พบว่าไม่เป็นอย่างนั้น
เช่นเจ้าหน้าที่พบการบุกรุก แต่ไม่ได้อยู่ในเขตตัวเอง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้น ซึ่งบางทีหน่วยที่รับผิดชอบอยู่ห่างออกไปอีกร้อยกิโลเมตร ซึ่งตรงนี้ คิดว่า เราใช้กลไกการทำงานร่วมระหว่างพื้นที่สองพื้นที่ และช่วยกันดูเเล หารือกันว่าพื้นที่ต้องให้ดูเเลอย่างเข้มข้น อยากให้มองที่พื้นที่เป้นหลัก ไม่ใช่มองที่หน่วยงานไหนเป็นคนรับผิดชอบ
การบริหารจัดการระยะยาว
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ตั้งคำถามว่า พื้นที่อยู่ในการดูเเลของกรมป่าไม้ในปัจจุบัน ที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจัดสรรให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก.มีการนำไปใช้ประโยชน์นั้น เคยมีเข้าไปตรวจชัดเจนหรือไม่ว่า มีการใช้ประโยชน์ตามที่ขอมาหรือไม่ แล้วปัจจุบันเขาต้องคืนพื้นที่ป่า หลังจากนำไปใช้ประโยชน์เเล้ว มีการดำเนินงานเเล้วหรือยัง
อย่างพื้นที่ป่าสงวน 58.68% นั้น มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่จริงๆ เท่าไร ผมเชื่อว่ามีไม่ถึงขนาดนั้น ผมเชื่อว่าอาจเหลืออยู่จริงไม่เกิน 20-30% ด้วยซ้ำ ที่เป็นพื้นที่ป่าจริงๆ ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีการตรวจพื้นที่ตรงนี้ ตรวจสอบแล้ว ส่วนใหญ่ที่จำเป็นต้องคืนกลับให้รัฐดูเเล หรือจะดูเเลร่วมกับประชาชน
อันนี้ผมคิดว่าทางกรมป่าไม้สามารถทำได้ หากภาคประชาชนมีความพร้อมในการขอฟื้นฟูดูเเลป่า ในพื้นที่จะทำเป็นป่าเศรษฐกิจ หรือป่าชุมชน หรือรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ผมคิดว่าน่าจะมีการเอื้อประโยชน์ในประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกป่าในพื้นที่เอกชน ในรูปแบบพัฒนากิจกรรมหรือส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
ยุทธศาสตร์ประเทศ กำหนดทิศทางอนุรักษ์
เรื่องยุทธศาสตร์ของประเทศต้องมีเป้าหมายชัด ถึงจะสามารถเดินไปตรงจุด ซึ่งในวันนี้ยังพบว่า นโยบายในแต่ละช่วงของรัฐเป๋ไปเป๋มา อย่างวันดีคืนดี รัฐจะเอาพื้นที่ป่าไปให้เอกชนเช่า หรือว่านโยบายการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แทนที่เราจะมองว่า พื้นที่ป่าเราเหลือน้อยเต็มที จนเกิดปัญหาเเล้ว ดังนั้นจะรักษาเอาไว้อย่างไร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า รัฐกลายมาเป็นผู้ร้ายที่จะทำให้เรื่องของการศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมเเละสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) หรือการศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) กระเด็นออกไป เพราะรู้สึกเรื่องเหล่านี้คือตัวการทำให้กลไกการดำเนินงานของรัฐล่าช้า จึงต้องยกเลิกเพื่อให้โครงการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ป่าได้ง่าย
"ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ที่รัฐกลับมองเรื่องกระบวนการตรวจสอบ กับเรื่องการดูเเลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการความชัดเจน กลายเป็นเรื่องขัดขวางความเจริญ ทั้งที่เราน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ออกไป แล้วหาเป้าชัดเจนว่าจะดูเเลรักษาผืนป่าที่เหลืออยู่เอาไว้อย่างไรจะดีกว่า"
ทำไมรัฐประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการธุรกิจในพื้นที่ได้ ทำไมรัฐไม่ประกาศพื้นที่พิเศษที่เมื่อดูเเลรักษาป่า แล้วรัฐเข้าไปส่งเสริม เข้าไปสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ โครงสร้าง ที่ทำให้คนปลูกป่ามีขวัญมีกำลังใจ มีพลังในการที่จะทำเรื่องนี้ต่อ ผมคิดว่าหากเรามีนโยบายที่ดี ประชาชนที่ผิดหวังจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่เจอภัยแล้ง เจอปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเขาพร้อมที่จะร่วมอยู่เเล้ว หากรัฐสามารถทำได้ ตรงนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล
ขอฝากเอาไว้อย่างหนึ่ง ให้รัฐบาลทบทวนการเร่งออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. ...ซึ่งพบการเอื้อประโยชน์ต่อการทำลายป่าและสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากแก้เเล้วดีขึ้น แต่ตอนนี้พบว่าแก้เเล้ว กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม
ปัญหาอีกอย่างที่ทำให้การดูเเลรักษาป่าเป็นเรื่องยาก เพราะประชาชนไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของป่า เรารู้จักที่ตัดแต่ไม่รู้จักที่ปลูก ปัญหาป่าไม้ของไทยนั้น คือ เรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ และต้องหาวิธีการที่จะ เเสวงหาทางออกร่วมกัน
ตัวผมเองเคยเดินทางไปในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งมีปัญหาเรื่องที่ดิน ทรัพยากร ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
"หลาย ๆ คนบอกว่า วิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาป่าไม้ไทย คือการยุบรวมกรมป่าไม้ กับกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางออก เเต่หนทางที่เรากำลังแสวงหาด้วยกัน คือ การจัดหาความสมดุลในจัดการพื้นที่ร่วมกัน"
ขอบคุณภาพประกอบนายภานุเดช เกิดมะลิ จากhttp://www.posttoday.com/media/content