เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เชื่อเพิ่มพื้นที่ป่า 40% สำเร็จยาก เหตุรัฐไม่ชัดเจนจัดการพื้นที่
เลขามูลนิธิสืบฯ เผยผิดหวังกับยุทธศาสตร์ของรัฐ ไม่เชื่อว่าการทำ EHIA และEIA เป็นเรื่องขัดขวางเศรษฐกิจ แนะให้รัฐทบทวน พ.ร.บ. ป่าไม้ หลังพบว่าเอื้อต่อการทำลายป่าและสัตว์ป่า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์วิจัยป่าไม้ จัดเสวนาวิชาการป่าไม้ เรื่อง"ชี้เป้า วิกฤตการป่าไม้ไทย ต้องแก้...ด่วน" ณ ห้องประชุมจงรักปรีชานนท์ ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน
นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาป่าไม้ไทย จะปฎิรูปอย่างไร ให้ตรงจุด โดยเปิดเผยถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศ ปี 2558 พบว่า มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 31.57 % ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ยังแบ่งออกเป็น
1. พื้นที่ยังคงสภาพป่า ที่กรมป่าไม้ดูเเลอยู่ประมาณ 58.68%
2.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในการดูเเลของกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช 48.10 %
3. พื้นที่ขอใช้ประโยชน์ 38.68%
โดยในปี 2567 ได้วางเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ทั้งหมด 40% ของพื้นที่ประเทศ
"การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ไม่อาจเกิดได้ในเร็ววันแน่นอน เพราะพื้นที่ต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจน แต่คิดว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่จะประกาศในปี 2559 ซึ่งพื้นที่ป่าทั้งหมดที่ว่ามานี้คือพื้นที่ป่าในการดูเเลของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐในการดูเเลรักษาผืนป่าเหล่านี้เอาไว้ และเข้าไปจัดการดูเเล" เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าว
ทั้งนี้ นายภานุเดช ยังตั้งข้อสงสัยว่า พื้นที่ที่อยู่ในการดูเเลของกรมป่าไม้ในปัจจุบันที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจัดสรรให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) มีการนำไปใช้ประโยชน์นั้น ได้เข้าไปตรวจสอบชัดเจนหรือไม่ว่า มีการใช้ประโยชน์ตามที่ขอมาหรือไม่ แล้วปัจจุบันเมื่อต้องคืนพื้นที่ป่า หลังจากนำไปใช้ประโยชน์เเล้ว มีการดำเนินงานอย่างไร ดังเช่นพื้นที่ป่าสงวนเเห่งชาติที่มีอยู่ 58.68% นั้น มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่จริงเท่าไร
"ผมเชื่อว่าพื้นที่ป่าจริง ๆ เหลืออยู่ไม่เกิน 20-30% ด้วยซ้ำ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการตรวจสอบพื้นที่"
เลขามูลนิธิสืบฯ ยังกล่าวถึงมุมมองยุทธศาสตร์ของประเทศว่า ต้องมีเป้าหมายชัด ถึงจะสามารถเดินไปตรงจุด ซึ่งในวันนี้ยังพบว่า นโยบายในแต่ละช่วงของรัฐเป๋ไปเป๋มา อย่างวันดีคืนดี รัฐจะเอาพื้นที่ป่าไปให้เอกชนเช่า หรือว่านโยบายการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า ซึ่งพบว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แทนที่เราจะมองว่า พื้นที่ป่าเราเหลือน้อยเต็มที จนเกิดปัญหาเเล้ว ดังนั้นจะรักษาเอาไว้อย่างไร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่า รัฐกลายมาเป็นผู้ร้ายที่จะทำให้เรื่องของการศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมเเละสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) หรือการศึกษาผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) กระเด็นออกไป เพราะรู้สึกเรื่องเหล่านี้คือตัวการทำให้กลไกการดำเนินงานของรัฐล่าช้า จึงต้องยกเลิกเพื่อให้โครงการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ป่าได้ง่าย
"ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง ที่รัฐกลับมองเรื่องกระบวนการตรวจสอบ กับเรื่องการดูเเลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการความชัดเจน กลายเป็นเรื่องขัดขวางความเจริญ ทั้งที่เราน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ออกไป แล้วหาเป้าชัดเจนว่าจะดูเเลรักษาผืนป่าที่เหลืออยู่เอาไว้อย่างไรจะดีกว่า"
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ยังกล่าวว่า ให้รัฐบาลทบทวนการเร่งออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ. ...ซึ่งพบการเอื้อประโยชน์ต่อการทำลายป่าและสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม การแก้กฎหมายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากแก้เเล้วดีขึ้น แต่ตอนนี้พบว่าแก้เเล้ว กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม