นักวิจัยฮาร์วาร์ดชี้ไทยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวบ้านเสี่ยงรับฝุ่นตายเพิ่ม 3 พันคน/ปี
นักวิจัย ม.ฮาร์วาร์ด เผยโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์-ไนโตเจนออกไซด์ เกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 เสี่ยงมะเร็ง-ปอดเรื้อรัง ชี้ไทยขืนสร้างไม่ควบคุมอาจตาย 3 พันคน/ปี ด้านผู้ประสานงานฯ กรีนพีซ จี้ รบ.ผ่านกม.พลังงานหมุนเวียน สร้างทางเลือกใหม่
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา ‘มลพิษทางอากาศจากถ่านหินในประเทศไทย’ ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
น.ส.แซนนอน คอบลิช นักวิจัยทรงคุณวุฒิ ม.ฮาร์วาร์ด เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เกิดอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะต้องใช้ความพยายามในการหยุดยั้งและชะลอนานมาก แต่กลับพบว่า ประเทศในเอเชียกลับมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด คือ จีน และอินเดีย ทั่วภาคพื้นทวีปมีมากกว่า 400 โรง ทั้งเตรียมดำเนินการและดำเนินการแล้ว
นักวิจัยทรงคุณวุฒิ ม.ฮาร์วาร์ด ยังกล่าวว่า จากการคำนวณ ในอีก 15 ปี หรือค.ศ.2030 ไทยจะมีผู้เสียชีวิตจาก PM 2.5 จำนวน 3,080 ราย และจากก๊าซโอโซน 110 ราย ที่เกิดจากมลพิษปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฉะนั้น โดยสรุป คือ มลพิษที่ถูกปล่อยออกมาเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนอาจทำให้มีผู้เสียชีวิต 3,000 ราย/ปี
ด้าน น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งคำถามว่า ไทยจำเป็นหรือไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นการพูดคุยกันใหม่เกี่ยวกับการยกระดับมาตรฐานและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทยจึงมีความสำคัญ เพราะมาตรฐานที่กำหนดในปัจจุบัน PM 2.5 สูงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ฉะนั้นไทยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานพิเศษกว่าประเทศอื่น
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องไม่นิ่งเฉย เมื่อรัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความมั่นคงของมนุษย์
ผู้ประสานงานฯ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญไทยต้องเร่งผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพราะทุกครั้งที่มีการถกเถียง ประชาชนจะมีความเข้าใจว่า ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร แต่ข้อเท็จจริง คือ ปัจจุบันภาคอีสานมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานดังกล่าวสูงมาก แต่กลับมีจดหมายจากผู้เกี่ยวข้องด้านพลังงานส่งไปถึงผู้ผลิตไฟฟ้าแจ้งไม่สามารถรับซื้อพลังงานหมุนเวียนได้ เพราะสายส่งเต็ม ต้องนำไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวก่อน อย่างไรก็ตาม หากยังไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ความขัดแย้งก็ยังเกิดขึ้น
ขณะที่ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมุ่งสู่อนาคตควรให้ความสำคัญกับการสร้างพลังภาคี ซึ่งไม่อาจสร้างด้วยอำนาจรวมศูนย์ได้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภถึงความจำเป็นต้องบูรณาการเรื่องนี้
ทั้งนี้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีประชุมกับชาวบ้านภายหลังการประท้วงอดอาหารไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อกลางปี คาดหวังให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อให้มีการศึกษาเรื่องนี้จะมีทางเลือกอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่มีทางเลือกอย่างเดียวว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แต่ต้องมีทางเลือกอื่นด้วย
หากความรู้ชัดเจน จะตัดสินใจได้เร็วมาก แต่ความเร็วก็ไม่สำคัญ ความเร็วน่ากลัวมาก ถ้าเดิมพันกับการใช้อำนาจ ความเด็ดขาด เหมือนเหตุการณ์การโจมตีในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้ ความสำนึกในการบูรณาการความรู้ เป้าหมายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ สุขภาพ และการพัฒนา ร่วมกัน เป็นหัวใจสูงสุดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน