ก.เกษตรฯ เข็น 5 มาตรการฟื้นฟู ยืดหนี้สหกรณ์-แจกพันธุ์ข้าว 7.2 ตัน
ก.เกษตรฯ เผย 5 โครงการฟื้นฟูภาคเกษตรเร่งด่วน-ระยะยาว ยืดหนี้สหกรณ์ 3 ปี-ให้กู้ใหม่รายละ 100,000 บ. ค่าปรับพื้นที่รายละ 2,000 บ.-แจกเมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 7.2ตัน เร่งกระจายสู่ชาวนากู้วิกฤตหลังน้ำลด
วันที่ 15 พ.ย.54 นายอภิชาต จงสกุล โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเกษตรเป็นวงกว้าง กระทรวงจึงมีโครงการฟื้นฟูเยียวยาทั้งระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนทันทีหลังน้ำลด และระยะยาว โดยแบ่งเป็น 5 แผน/โครงการ ได้แก่
1.ฟื้นฟูอาชีพทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ กล้วยไม้ โดยด้านพืชมีแนวทางฟื้นฟู 1.เกษตรกรปลูกข้าวที่มีพื้นที่เสียหายเกินร้อยละ 50 จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวตามที่เสียหายจริง แต่ไม่เกิน 10 ไร่ อัตราไร่ละ 10 กิโลกรัม 2.เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ได้รับความเสียหาย สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชอายุสั้น 3.เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลยืนไม้ยืนต้นและพืชผักที่ได้รับความเสียหาย สนับสนุนพันธุ์ไม้หรือเมล็ดพันธุ์ผัก 4.เกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับค่าใช้จ่ายในการปรับพื้นที่เพาะปลูกรายละไม่เกิน 5 ไร่ๆละ 400 บาท คิดเป็นรายละ 2,000 บาท 5.สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชอาหารเพื่อการยังชีพ โดยเกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์/กล้าพันธุ์ผัก เพื่อปลูกเป็นอาหารในครัวเรือนและเหลือขายเป็นรายได้เสริม
ด้านประมง เกษตรกรที่เสียหายจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ จะได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลานิล พร้อมอาหารปลา ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรที่เสียหายจากการเลี้ยงสัตว์ จะได้รับพันธุ์สัตว์ปีก เช่น ไก่พื้นเมือง ไก่ลูกผสมพื้นเมือง หรือเป็ดเทศ คละเพศ อายุ 1 เดือนพร้อมอาหารและเวชพันธุ์ ภาชนะใส่น้ำและตาข่าย สำหรับการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ที่ได้รับความเสียหายอยู่ระหว่างจัดทำโครงการ
2.การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย จะช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกพร้อมยืดเวลาชำระหนี้เก่าออกไป 3 ปี กู้ใหม่วงเงินไม่เกินรายละ 100,000 บาท รัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี 3 ปี เกษตรกรที่เสียชีวิตจะจำหน่ายหนี้โดยรัฐชำระแทน นอกจากนี้มีโครงการฟื้นฟูและสร้างโอกาสเพื่อยังชีพสมาชิก โดยให้เงินอุดหนุนเป็นทุนยังชีพและซ่อมแซมทรัพย์สิน รวมทั้งโครงการแก้ปัญหาน้ำนมโคของสหกรณ์ที่ไม่มีแหล่งจำหน่ายเนื่องจากอุทกภัยโดยรับซื้อนมและสนับสนุนสหกรณ์ติดตั้งเครื่องบรรจุนมยูเอชที
3.โครงการช่วยเหลือเกษตรกรในภาพรวม 4 โครงการ ได้แก่ 1.การพื้นฟูสุขภาพสัตว์และป้องกันโรคระบาดสัตว์หลังน้ำลด จัดหายาและอุปกรณ์การดูแลรักษา 2.เตรียมพร้อมด้านเสบียงอาหารสัตว์เพื่อช่วเกษตรกรหลังน้ำลด โดยผลิตอาหารสัตว์ หญ้าแห้ง อาหารข้น 3.ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราบลุ่มหลังน้ำท่วมเพื่อขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เจ้าพระยา โขง ท่าจีน ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านตัวต่อปี ทำให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยมีรายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำและมีอาหารบริโภค 4.การป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ดินถล่ม จ.อุตรดิตถ์ และ เชียงใหม่ โดยจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสี่ยง และฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่เกิดดินถล่ม
4.การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยโครงการบำบัดน้ำเสียและบรรเทาน้ำเน่า ใช้สารเร่ง พด.6 และ 5.ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง สำรวจความเสียหายและซ่อมแซมระบบชลประทาน 19 จังหวัด และโครงการช่วยเหลือด้านทรัพย์สินสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่เสียหาย 786 แห่ง 30 จังหวัด โดยให้เงินอุดหนุนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรตามความเสียหายจริง มีโครงการบริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร และอบรมการซ่อมแซมให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กษ.เปิดเผยว่าจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 26 ต.ค.54 มีพื้นที่ปลูกข้าวประสบอุทกภัยประมาณ 9.01 ล้านไร่ คาดว่าพื้นที่นาข้าวเสียหายประมาณ 7.21 ล้านไร่หรือร้อยละ 80 ของพื้นที่ประสบอุทกภัย กรมการข้าวจึงเตรียมช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูชาวนาให้ปลูกข้าวหลังน้ำลดได้ทันที โดยจะดำเนินการตั้งแต่ พ.ย.54 – ก.ค.55 ซี่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแล้ว โดยใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1,727.516 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวพร้อมส่งมอบ 72,100 ตัน
นายธีระ ยังกล่าวว่าคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ชาวนาที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 721,000 รายให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับปลูกหลังน้ำลดและปลูกในฤดูนาปี ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ให้การช่วยเหลือนั้นคาดว่าจะได้ผลผลิต 3.19 ล้านตันข้าวเปลือก จะส่งผลให้ชาวนาสามารถนำผลผลิตไปจำหน่ายเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่า 55,736 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลผลิตในส่วนนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีไปกระจายใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
ด้านนายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า การช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ให้ความช่วยเหลือหลังน้ำลด คาดว่ามีพื้นที่ 3,316,600 ไร่ เมล็ดพันธุ์ 33,166 ตัน ระยะที่ 2 ที่จะใช้ปลูกในฤดูนาปี คาดว่ามี 3,532,900 ไร่ 38,934 ตัน รวมเมล็ดพันธุ์ 72,100 ตัน ส่วนขั้นตอนจะประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งข้อมูลพื้นที่และเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งจะแจ้งไปยังศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่เพื่อจัดส่งเมล็ดพันธุ์
นายชัยฤทธิ์ ยังกล่าวว่า แม้ว่ากรมการข้าวจะประสบปัญหาแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในหลายพื้นที่ที่เสีย หายจากน้ำท่วม แต่จะเชื่อมโยงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวกับศูนย์ข้าวชุมชน โดยใช้แปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชนเป็นแหล่งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว 23 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อให้ผลิตและจัดส่งได้ตามเป้าหมาย .