นักวิชาการชี้ กสท.มีปัญหาตีความ ม.37 เเยกเเยะเนื้อหาเข้าข่ายผิด กม.ไม่ได้
‘ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี’ เร่ง กสทช.ดันประกาศส่งเสริมรวมกลุ่มองค์กรวิชาชีพวิทยุ-โทรทัศน์ กำกับดูแลกันเอง ด้านนักวิชาการ จุฬาฯ ชี้ กสท.มีปัญหาตีความ ม.37 ขาดกระบวนการคัดกรอง ระบุยุค คสช. เนื้อหาการเมือง Priority Watch List
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) จัดเสวนา กฎหมาย VS การทำรายการโทรทัศน์ ณ ห้องชมัยมรุเชฐ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เเละอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กล่าวถึงมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีการบัญญัติไว้ค่อนข้างกว้าง ทำให้ยากต่อการตีความทางกฎหมายว่า เนื้อหาลักษณะใดเข้าข่ายการกระทำผิด อาทิ การห้ามออกอากาศรายการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรายการที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจ ซึ่งยากต่อการตีความทางกฎหมายเช่นเดียวกัน
“กสทช. จึงต้องเร่งผลักดันประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรวิชาชีพสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเอง จะได้เกิดความชัดเจนว่า สิ่งใดที่ กสทช.ไม่ควรเข้ามาก้าวล่วง เพราะเกี่ยวข้องกับวิชาชีพและจริยธรรม และสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายชัดเจนและอยู่ในอำนาจหน้าที่” อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมาตรา 37 ว่า มีปัญหาการตีความเนื้อหา โดยยกตัวอย่าง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเสนอข่าวนักศึกษากลุ่มดาวดินเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมองไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นการนำเสนอข่าวปกติ แต่อนุกรรมการด้านเนื้อหา กสท. เสียงข้างมาก เห็นว่า การนำเสนอข่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิ่งถูกต้องถือเป็นการชี้นำ เพราะกฎหมายปัจจุบันระบุเป็นความผิด ฉะนั้นมองว่า หากการทำข่าวลักษณะนี้ผิดก็ไม่ต้องทำข่าวอะไรเลยหรือไม่
“ตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื้อหาทางการเมืองค่อนข้าง Priority Watch List ของ กสท. และสัมผัสได้ว่า ก่อนและหลังมี คสช. Priority มีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาทางศีลธรรมที่เคร่งครัดมากขึ้นด้วย” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว และว่า กระบวนการคัดกรองเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งควรทำตั้งแต่ต้น ทันทีที่ได้รับเรื่องร้องเรียน แต่จะเกิดผลได้ต้องแยกให้เห็นว่า เรื่องใดเข้าข่ายผิดกฎหมาย ส่วนที่ไม่เข้าข่ายให้จัดไว้ในหมวดผิดจริยธรรม
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสท.พยายามทำการบ้านทุกครั้งที่มีการตัดสินเนื้อหารายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และน้อยมากที่จะตัดสินให้สั่งปรับหรือผิดกฎหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากกระบวนการมากกว่า เนื่องจากผู้ผลิตรายการต้องถูกเชิญเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงนั่นเอง
ส่วนการกำกับดูแลกันเอง กรรมการ กสท. กล่าวว่า มีความคืบหน้ามากขึ้นในบางส่วนเท่านั้น ประกอบกับสังคมไม่เชื่อมั่นว่าสื่อจะกำกับดูแลกันเองได้ จึงเรียกร้องให้รัฐหรือกสทช.เข้ามาควบคุม ซึ่งเป็นจุดท้าทาย เพราะเมื่อเปรียบเทียบ 10 ปีก่อน สมัยปฏิรูปสื่อ พลังเสรีภาพไม่ให้รัฐเข้ามาควบคุมมีสูง แต่ยุคนี้คนอาจเหนื่อยทำให้กระแสตีกลับเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองร่ำไป ทำให้บางครั้งไม่ดี เนื่องจากสื่อไม่มีเสรีภาพก็จะไม่มีความรับผิดชอบ
“ปัจจุบันทีวีดิจิทัลขุดละครเก่าขึ้นมาสู้กัน เพราะรายการประเภทอื่นสู้กันยาก ด้วยข้อจำกัด ข่าวเหมือนกันทุกช่อง และละครก็ฉีกแนวไม่ได้ จึงต้องผลิตบ้านทรายทอง ผู้หญิงคนนี้ชื่อบุญรอด ซึ่งเป็นละครที่คาดว่าปลอดภัยในเชิงไม่ถูกเซ็นเซอร์ กลายเป็นว่า ไม่กล้าผลิตแนวอาบัติหรือกึ่งการเมือง ประวัติศาสตร์ เสียดสีสังคม เพราะกังวลจะถูกเซ็นเซอร์ ผู้ชมก็จะมองว่ามีละครเรื่องเดิม ๆ จึงต้องกลับมาดูว่าบรรยากาศเปิดให้ผลิตดีพอหรือไม่ สิ่งนี้ทำให้ผู้ชมเสียโอกาส เเต่หากไม่เจอมาตรา 37 จะทำให้เกิดการผลิตละครอีกรูปแบบหนึ่งที่ชื่นชอบก็ได้” น.ส.สุภิญญา กล่าว
สุดท้าย รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไม่เชื่อผู้ศึกษาด้านอื่นจะเข้ามาวิเคราะห์หรือกำกับดูแลคนทำสื่อได้ดีเท่ากับคนในวงการสื่อเพราะการทำสื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องพิสดารที่คนปกติจะไม่เข้าใจว่า เนื้อหาประเภทใดเข้าข่ายลามกอนาจาร หรือทำลายล้างประเทศ สิ่งเหล่านี้ย่อมมีเทคนิคและรูปแบบการแข่งขัน ซึ่งผู้จะเข้าใจได้ดีที่สุด คือ คนทำสื่อเท่านั้น จึงควรรวมตัวกันพัฒนาให้กลายเป็นสถาบันและเป็นที่ยอมรับของประชาชน
“มิฉะนั้นอนาคตอาจต้องห้ามนำเรื่องรามเกียรติ์หรือขุนช้างขุนแผนมาสร้าง เพราะสร้างขึ้นเมื่อไหร่ถึงแก่กรรมทันที เนื่องจากมีเนื้อเรื่องผิดศีลธรรมอันดีงามของประเทศ ตั้งคำถามว่า ผู้กำกับดูแลเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเหตุผลอะไร เหมือนเป็นการใช้วิจารณญาณส่วนตัว” นายกสมาคมสภาวิชาชีพฯ กล่าว และว่า คนบางคนมีเบื้องหลังเยอะ คนบางคนมีแผลเยอะ คนบางคนอารมณ์เสียกับเรื่องนี้เยอะ กลายเป็นปมด้อยของชีวิต ทำให้เกิดความรู้สึกรับไม่ได้ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ เพราะนั่นคือภาพรวมที่ต้องดู คนจำนวนมากนั่งชมรายการไม่เห็นรู้สึกเช่นนั้นเลย
รศ.อรุณีประภา กล่าวด้วยว่า หากเมื่อไหร่ในอนาคตที่สร้างละครให้ชายหนุ่มเป็นพนักงานขายประจำเซเว่นอีเลฟเว่น จะต้องโดนกล่าวหาว่าโฆษณาแฝง ทำให้ต้องคิดผลิตสิ่งที่ไม่มีในโลกนี้เป็นละครแทน นอกจากนี้วรรณกรรมซีไรต์จะนำมาผลิตเป็นละครไม่ได้ด้วย เพราะมีเนื้อหาโหดร้ายทารุณ ซึ่งความจริงประชาชนไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น ดังนั้น กสท.ควรแสวงหาความร่วมมือกับสื่อในการกำกับดูแลมากกว่า และสื่อก็ควรลุกขึ้นกำกับดูแลตัวเองด้วย