โวย!คำสั่งบิ๊ก กศน.‘ตรวจแบบเรียน-แจกชีทได้’ทำเดือดร้อน แถมไร้คุณภาพ
เลขาฯ กศน.ร่อนหนังสือกำหนดแนวทางจัดหาหนังสือเรียนราย‘วิชาเลือก’ของสถานศึกษาใหม่ ต้องส่งให้‘สนง.ภาค’ตรวจ-ปลัด ฯออกใบอนุญาต ช่วงรอแจก Sheet ให้ผู้เรียนก่อนได้ ผู้ประกอบการโต้ ขั้นตอนยุบยับ เดือดร้อน ระดับ จว.รับรองก็พอ ตั้งคำถามแล้วใครตรวจ‘ชีท’ แนะใช้แนวทางยุค‘การุณ’
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.58 ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. กทม.และ จังหวัดทุกจังหวัด กำหนดแนวทางการจัดหาหนังสือเรียนรายวิชาเลือกของสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน.ใหม่ สาระสำคัญก็คือ
1.หนังสือเรียนรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก สถานศึกษาจะนำไปใช้ในการประกอบการเรียนการสอนได้จะต้องมีใบอนุญาตใช้หนังสือเรียน กศน.ในสถานศึกษา โดยผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษา ลงนามโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2.หนังสือเรียนรายวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้น ให้สำนักงาน กศน.จังหวัด รวบรวมส่งให้ กศน.ภาคตรวจกลั่นกรองคุณภาพก่อน ในกรณี ‘ไม่ผ่าน’ สถานศึกษาจะต้องนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข ตามคำแนะนำของคณะกรรมการกลั่นกรองคุณภาพอีกครั้ง สำหรับหนังสือที่ ‘ผ่าน’ การพิจารณาจากสถาบัน กศน.ภาคแล้ว จะต้องดำเนินการจัดส่งไปยัง สำนักงาน กศน. เพื่อให้ สำนักงาน กศน.เสนอให้ ปลัดกระทรวงศึกษาฯลงนามในใบอนุญาตต่อไป
3.ในระยะที่ยังไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรองคุณภาพ หนังสือเรียนรายวิชาเลือกจากสถาบัน กศน.ภาค ให้สถานศึกษาแก้ไขปัญหาโดยการนำต้นฉบับจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน (Sheet) แจกให้ผู้เรียน เพื่อประกอบการเรียนการสอนไปก่อนได้ หรืออาจจัดทำเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนอื่นได้ตามความเหมาะสม (ดูเอกสารประกอบ)
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าหนังสือเปิดเผยว่า แนวทางดังกล่าวของนายสุรพงษ์ แตกต่างจากแนวทางในยุคนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เป็นเลขาธิการฯ ในกรณีของหนังสือรายวิชาเลือก ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 พ.ค.2558 นายการุณกำหนดให้สำนักพิมพ์เอกชน ส่งหนังสือรายวิชาเลือกเข้าไปให้ สำนักงาน กศน จังหวัด เป็นผู้ตรวจ ซึ่งภาคเรียนที่ผ่านมา กศน.จังหวัด ก็ได้ให้ผู้มีความรู้ ความสามารถตรวจหนังสือ มีทั้งที่ผ่าน และไม่ผ่าน เป็นไปตามเกณฑ์ และ ดุลยพินิจ ของ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้เทอม 1/58 นักศึกษา กศน. มีหนังสือเรียนรายวิชาเลือก ใช้ ตามแผนการลงทะเบียนเรียน ถือว่าแก้ปัญหาไปได้ส่วนหนึ่ง
ต่อมา วันที่ 17 มิถุนายน 2558 กศน.กำหนดแนวทางการตรวจสื่อรายวิชาเลือก คือ ภาคเรียนที่ 1 ให้สำนักงาน กศน. จังหวัดจัดส่งต้นฉบับสื่อรายวิชาเลือกให้สถาบัน กศน. ภายในวันที่ 15 มกราคม ของทุกปี สถาบัน กศน. ภาค จะดำเนินการตรวจภายใน เดือน มีนาคมของทุกปี และสำนักพิมพ์เอกชน ทุกที่ ก็ส่งหนังสือไปตรวจตามเอกสารแจ้ง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า แนวทางล่าสุด ในยุคนายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการคนใหม่ ในข้อ 3. ที่ระบุว่า
“ในระยะที่ยังไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรองคุณภาพ หนังสือเรียนรายวิชาเลือกจากสถาบัน กศน.ภาค ให้สถานศึกษาแก้ไขปัญหาโดยการนำต้นฉบับจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน (Sheet) แจกให้ผู้เรียน เพื่อประกอบการเรียนการสอนไปก่อนได้ หรืออาจจัดทำเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนอื่นได้ตามความเหมาะสม” จะเกิดคำถามคือ ต้นฉบับ ที่นำมาทำเป็น sheet สอน รับรองการตรวจจากใคร หน่วยงานไหน และหลักสูตร กศน 2551 เทอม 2/58 เป็นเทอมสุดท้ายในการเรียนการสอน ซึ่งเทอม 1/59 จะมีการใช้หลักสูตรใหม่ ดังนั้น จึงเห็นว่า หลักสูตรรายวิชาเลือก ควรนำกลับไปให้ กศน จังหวัดเป็นผู้ตรวจรับรองจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมา กศน. จังหวัดก็ตรวจหนังสือได้ทันเวลาที่เด็กจะต้องใช้เรียน
“เท่าที่ทราบ กศน บางจังหวัด กศน บางอำเภอเห็นว่า หนังสือรายวิชาเลือก มีปัญหาเยอะมาก จึงเลือกซื้อแต่ วิชาบังคับ ให้เด็ก แต่จริงๆ แล้ว แผนการลงทะเบียนของนักศึกษา ก็จำเป็นต้องมีหนังสือวิชาเลือกประกอบอยู่ สำนักงาน กศน ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด”แหล่งข่าวกล่าว
และว่า "หนังสือสั่งการของ เลขาฯ กศน.ออกมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเด็กจะเปิดเทอม วันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 จะนำหนังสือไปตรวจ ผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้นสรุป เด็กคงไม่มีโอกาสได้ใช้หนังสือเรียนที่เป็นหนังสือเรียน (ไม่ใช่ Sheet) และไม่มีการตรวจรับรองจากใคร หน่วยงานไหน ทำให้คุณภาพในการเรียนลดลงอีก"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีสำนักพิมพ์เอกชนหลายราย ที่ผลิตหนังสือวิชาเลือกไว้มาก แต่คงไม่ได้มีโอกาสที่จะทำการตลาดได้ ถ้าคำสั่งยังไม่มีจุดยืน ซึ่งสำนักพิมพ์เอกชนรายใหญ่แจ้งว่า สำนักงาน กศน ควรจะมีปฏิทินเวลา ในการส่งตรวจ อย่างน้อย 3 เดือน ให้เอกชนได้เตรียมตัว ซึ่งเอกชนก็จะผลิตหนังสือที่มีคุณภาพมาเพื่อแข่งขันกัน แต่ระยะเวลาที่ สำนักงาน กศน ให้มา อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน คงทำอะไรไม่ได้ ผู้ประกอบการที่มีหนังสืออยู่แล้วก็ได้รับความเดือดร้อน จะไปขายให้ใครได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การแก้ปัญหา ของสำนักงาน กศน ในการกำกับดูแล ของ ผู้บริหารคนใหม่ กลับยิ่งทำให้ คุณภาพในการเรียนการสอน ไม่มีมาตรฐาน ตอบคำถามในการแก้ปัญหาไม่ได้
ฉะนั้น กศน.ควรกลับไปใช้แนวทางเดิมในยุคนายการุณ สกุลประดิษฐ์ คือ หนังสือรายวิชาเลือก ให้ กศน จังหวัด เป็นผู้ตรวจกลั่นกรอง เพราะจะเร็ว และที่สำคัญ กศน จังหวัด เคยตรวจหนังสือมาแล้วเกือบทุกจังหวัด ย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้หนังสือเรียนครบ ตามแผนการลงทะเบียน และ ครบตามเงินจัดซื้อจัดจ้างของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ
อ่านประกอบ :
เลขาฯ กศน.สั่งสอบ ปมจัดซื้อหนังสือแบบเรียน ขีดเส้น7 วัน ลั่นทำผิดเจอฟ้องร้อง
ตารางรายชื่อ‘ผู้ซื้อซอง-ผู้ชนะ’จัดซื้อหนังสือ กศน.19 โครงการ-เงื่อนปมที่ยังไม่เคลียร์?
เจาะจัดซื้อหนังสือ กศน. ‘สำนักพิมพ์เอมพันธ์’ 17 สัญญา - 4 เครือข่ายเป็น'คู่เทียบ'
เปิด‘ไทยบุ๊คฯ-พวก’คู่เทียบจัดซื้อหนังสือ กศน.16 โครงการ อยู่บ้าน‘หลังเดียวกัน’
‘เอเซียมีเดียบุ๊ค-พวก’คว้าจัดซื้อหนังสือ กศน.10 ล.‘สนพ.เอมพันธ์’โผล่เป็นคู่เทียบ
เปิดตัว‘สนพ.เอมพันธ์’ผู้ค้าหนังสือ กศน.78 ล. แจงแค่ ‘เฉพาะกิจ’ - 2 หจก.คู่เทียบ
ร้องสอบปม กศน. 21 แห่งจัดซื้อหนังสือเรียนบริษัทใหญ่ -โยงใยบิ๊ก ก.ศึกษาฯ
สรรพากรบี้ภาษี‘เอกพิมพ์ไท’ผู้ค้าใหญ่แบบเรียน กศน.-พบคว้าอื้อ‘ราชบุรี-กำแพงเพชร’
พบ กศน.29 แห่งผูกจ้าง บ.ใหญ่พิมพ์แบบเรียน 121.3 ล.-ใช้‘ผู้สอบบัญชี’คนเดียวกัน