บทเรียนราชประสงค์ถึงปารีส ไทยยังไม่พร้อมรับมือก่อการร้าย
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์โจมตีหลายจุดในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา
เบื้องต้นเชื่อกันว่าการก่อเหตุที่โหดร้าย ช็อคโลกครั้งนี้ เป็นฝีมือของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส
ระดับความรุนแรงแม้เทียบไม่ได้กับเหตุระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เพราะเหตุการณ์ที่ปารีสถูกยกไปเทียบกับเหตุการณ์ 911 ของสหรัฐ บางคนเรียกว่าเป็น 911 ของฝรั่งเศสกันเลยทีเดียว
แต่เมื่อพิจารณาดูวิธีการรับมือ การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และการจัดการของรัฐบาลภายหลังเกิดเหตุแล้ว ต้องบอกว่าดีกว่าไทยหลายสิบเท่า
ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศภาวะฉุกเฉินและปิดพรมแดนทันที มีการส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเข้าตรึงพื้นที่ มีการปิดสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ขอความร่วมมือประชาชนงดออกมารวมตัวแสดงพลัง เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำ
ที่สำคัญแทบไม่มีภาพความเสียหายอย่างรุนแรง ภาพความตาย หรือพูดง่ายๆ คือภาพที่กลุ่มผู้กระทำต้องการให้เผยแพร่เพื่อประกาศผลงานของตน ปรากฏบนสื่อแขนงใด
เหตุโจมตีใหญ่ขนาดนี้ มีภาพความสูญเสีย ภาพคนตาย ภาพแหวะๆ น้อยกว่าเหตุระเบิดรายวันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านเราเสียอีก
นี่ถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่เราควรหันมาพิจารณาและจัดระบบกันอย่างจริงๆ จังๆ เสียที
อีกด้านหนึ่งของบ้านเรา มีการประชุมหน่วยงานความมั่นคงเมื่อวันเสาร์ (14 พ.ย.) ซึ่งก็ถือว่าสนองตอบต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วพอสมควร แต่เป็นการประชุมของฝ่ายประจำ ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ผลประชุมสรุปได้โดยสังเขปดังนี้
- ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่ารูปแบบปฏิบัติการที่ปารีส ไม่ใช่ลักษณะการก่อการร้ายตามลำพัง หรือ โลนวูล์ฟ (Lone Wolf) ซึ่งหมายถึงพวกมีความคิดสุดโต่งต่อต้านรัฐที่ปฏิบัติการอย่างอิสระหรือปฏิบัติการคนเดียว เนื่องจากรูปแบบการก่อเหตุมีความซับซ้อน ต้องอาศัยการฝึก การสำรวจพื้นที่ การประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปฏิบัติการให้ได้ในเวลาเดียวกันหลายจุด คาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งผู้ก่อเหตุ และผู้สนับสนุน
- วิเคราะห์ว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นมุสลิมหัวรุนแรงที่เกี่ยวข้องหรือได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส (ตรงกับที่ไอเอสออกมากล่าวอ้างแล้วว่าเป็นผู้กระทำ) โดยก่อนหน้านี้ไอเอสได้เชิญชวนให้ผู้ศรัทธาอุดมการณ์ของกลุ่มตนในประเทศตะวันตก ก่อเหตุในประเทศของตนได้เลย ไม่ต้องเดินทางไปร่วมปฏิบัติการที่ตะวันออกกลาง โดยฝรั่งเศสจัดเป็นประเทศต้นทางของนักรบต่างชาติมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ไปร่วมปฏิบัติการกับไอเอส
- เป้าหมายของการก่อเหตุ คือ สร้างความหวาดกลัวและแสดงศักยภาพให้เห็นว่า แม้จะมีมาตรการป้องกันการก่อการร้ายดีขนาดไหน (เพราะเพิ่งเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่สำนักงานนิตยสาร ชาร์ลี แอบโด เมื่อเดือน ม.ค.) แต่กลุ่มก่อการร้ายก็ยังสามารถก่อเหตุได้ในพื้นที่เดิม และยังคงมีความเสี่ยงของการโจมตีซ้ำ ทั้งในปารีสเอง และเมืองใหญ่ของประเทศตะวันตก
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดกับไทยนั้น ประเมินว่าผลทางตรงยังไม่มี หมายถึงยังไม่มีรายงานว่ากลุ่มก่อการร้ายจะหันมาปฏิบัติการในไทย แต่อาจส่งผลทางอ้อมเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนบางกลุ่มในบ้านเรามีอุดมการณ์เกลียดชังชาติตะวันตก แล้วก่อพฤติกรรมเลียนแบบ หรือก่อเหตุในลักษณะผู้ก่อการร้ายตามลำพัง ที่เรียกว่า Lone Wolf Terrorist
ส่วนบทเรียนของบ้านเรา จากราชประสงค์ถึงปารีส เท่าที่ได้คุยกับอดีตผู้บริหารหน่วยงานที่รับผิดชอบระบบความมั่นคงของประเทศ ยอมรับตรงๆ ว่าบ้านเรามีความพร้อมรับมือก่อการร้ายต่ำมาก
ฉะนั้นต้องเลิกโกหกตัวเอง และยอมรับความจริงว่าศักยภาพของเราแค่ไหน จากนั้นต้องเข้าใจภัยคุกคามแบบใหม่ว่า ทุกชาติมีความเสี่ยงเหมือนกัน ประเทศไหนมีมาตรการป้องกันต่ำหรือด้อยประสิทธิภาพจะยิ่งเสี่ยงเป็นทวีคูณ ในสภาพการณ์เช่นนี้ไทยจึงหนีไม่พ้นอีกแล้วที่จะต้องแก้ปัญหาตัวเอง พัฒนามาตรการของตนเองให้มีประสิทธิภาพ
เหนืออื่นใดต้องให้ทุกหน่วยจับมือกันทำงานอย่างมีเอกภาพ เลิกเอาหน้า แย่งชิงผลงาน หรือกั๊กข้อมูลกันเอง แค่นี้ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดีได้แล้ว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ด้วย