ไม่ท้อ! สภาสถาปนิกเสนออีกรอบ แก้ข้อกำหนดทีโออาร์ริมน้ำเจ้าพระยา
สภาสถาปนิกและเครือข่ายแจงประมูลที่ปรึกษาโครงการริมน้ำเจ้าพระยาโมฆะ เหตุรายการข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม แนะแบ่งทีโออาร์ออกเป็น 2 ฉบับ
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 สภาสถาปนิกและภาคีวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวเรื่อง "ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่หนึ่ง 14 กิโลเมตร" ณ ห้องประชุม 301 สภาสถาปนิก
นายเจตกำจร พรหมโยธิ นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า สภาสถาปนิกและภาคีฯ มีความยินดีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาให้เป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ รวมถึงความต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นภูมิสัญลักษณ์แห่งใหม่ของประเทศ และจากกำหนดการยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมประมูลเป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีเพียงกลุ่มบริษัทเดียวที่ยื่นเรื่อง ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ยกเลิกเสนอการประมูล
แสดงให้เห็นว่า รายการข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษา (Term of Reference/TOR) ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญในกระบวนการการทำงาน การจัดสรรบุคลากร ของบริษัทที่ปรึกษามีความไม่เหมาะสม จนไม่มีกลุ่มบริษัทใดสามารถเสนอรับงานนี้ได้
นายกสภาสถาปนิก กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพยายามเสนอและทักท้วงตลอดจนกระทั่งสำนักการโยธาของ กทม. เชิญไปให้ข้อมูล ซึ่งดูท่าทีก็รับฟัง แต่หลังจากนั้นไม่เคยถูกเชิญอีกเลย ยิ่งไปกว่านั้นในทีโออาร์ยังระบุว่า คนที่จะเสนอเรื่องต่าง ๆ ในทีโออาร์ได้ หรือจดทะเบียนได้ คือ สภาวิศวกรเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการกีดกันสภาวิชาชีพอื่นจนเกินไป
ด้านนายพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสยามสถาปนิก ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงข้อสังเกตของข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาฉบับปัจจุบันว่า ชื่อโครงการและเนื้อหายังมีความคลาดเคลื่อน ที่ตั้งโครงการไม่ควรจำกัดแค่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ควรคำนึงถึงพื้นที่ด้านในที่เกี่ยวเนื่องด้วย นอกจากนี้ตัวทีโออาร์ยังตั้งอยู่บนความเข้าใจว่าโครงสร้างทางริมน้ำที่จะทำการก่อสร้างเป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันตลอด 14 กิโลเมตร อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่ได้ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับผลลัพธ์ของโครงการ มีการประชุมน้อย และที่สำคัญคือ การศึกษาควรเพิ่มบุคคลากรด้านสถาปัตยกรรมให้ครบถ้วน
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขข้อกำหนดทีโออาร์ นายกสมาคมสยามสถาปนิกฯ กล่าวด้วยว่า 1.ควรแบ่งแยกทีโออาร์ออกเป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท และฉบับที่ 2 เป็นงานสำรวจออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
2.กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาสัมพันธ์ในทีโออาร์ 2 ฉบับ
3.บูรณาการโครงการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาทั้งรัฐและเอกชน
4.เพิ่มบุคคลากรในวิชาชีพควบคุมในสาขาที่เกี่ยวข้อง
"ที่ผ่านมาเราได้เสนอเรื่องการแก้ไขทีโออาร์กับกทม.แต่เมื่อมาดูก็พบว่าไม่มีการแก้ไขข้อความสักนิด นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้รับฟังข้อเสนอของเราเลย อย่างไรก็ตามเรายังมีความหวังดีที่จะเห็นโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและมีคุณค่าภายใต้กระบวนการที่ถูกต้อง และได้โจทย์ที่ตรงประเด็น จึงอยากให้ฟังข้อเสนอแนะด้วย"
นายพิชัย ยังเสนอว่า รัฐอาจจะเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่ยานนาวา ซึ่งโครงการยานนาวานั้นผ่านกระบวนการออกแบบ ศึกษา และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมีระยะทาง1.2 กิโลเมตร และใช้งบประมาณเพียง 600-700 ล้านบาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเสนอแนะไปหลายครั้งหลายภาคส่วน สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับความสนใจ หากครั้งนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรอีก สภาสถาปนิกและภาคีจำเป็นที่จะต้องเข้าพบนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง .