ผู้ว่าฯอยุธยาเซ็นปลดวิศวกรสร้างสะพานฯ 200 ปีถล่ม-ตัดเงินเดือน กก.ตรวจรับฯ
"ประยูร รัตนเสนีย์" ผู้ว่าฯอยุธยา เซ็นไล่ออก "สันติธรรม สีนวลสกุลณี" วิศวกรโยธา ปมสร้างสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่ไม่เคยทำมาก่อนลดโทษแค่ "ปลดออก" ส่วน กก.ตรวจรับการจ้างโดนหักเงินเดือนคนละ 5% 3 เดือน ยุติเรื่องปลัด-ผอ.กองคลัง แจ้ง สตง. สอบ นายกเทศมนตรี ต.ท่าหลวง แล้ว
จากกรณีเหตุการณ์สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พังถล่ม เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2556 เนื่องจาก ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน และก่อสร้างผิดแบบแปลนที่กำหนด ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งสาหัส ไม่สาหัส รวม 17 ราย หลังจากเปิดใช้สะพานฯ ได้เพียง 9 เดือน และซ่อมแซมถึง 4 ครั้ง
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอนุนาท เสือสมิง บิดาเด็กหญิงวัย 10 ปี ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และชาวบ้านผู้ได้รับความสูญเสีย เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ยืนยันว่า “เป็นการยื่นครั้งสุดท้าย”
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการ จ.พระนครศรีอยุธยาได้เซ็นคำสั่งหนังสือแจ้งการดำเนินการ กรณีสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีพังถล่มเสียหาย ลงวันที่ 11 พ.ย. 2558 ระบุการดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานเทศบาล ต.ท่าหลวง ว่า เทศบาล ฯได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานเทศบาล ฯ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ดำเนินการสอบสวนตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ และสอบสวนพยานผู้เชี่ยวชาญด้านสะพาน และได้ขอความร่วมไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.อยุธยา สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และรายงานผลการดำเนินการให้ จ.อยุธยา ทราบ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คณะกรรมการตรวจการจ้าง ได้แก่ นายพิลึก ชัชวงษ์ รองปลัดเทศบาลฯ (ประธานกรรมการตรวจการจ้าง) และ น.ส.กานต์พิชชา งามภัก เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ (กรรมการตรวจการจ้าง) โดย คณะกรรมการเห็นว่า ประธานและกรรมการตรวจการจ้าง บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจรับงานจ้าง จึงเห็นควรลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น แต่เนื่องจาก ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรลดโทษเป็น ตัดเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน
กลุ่มที่ 2 ช่างผู้ควบคุมงาน ได้แก่ นายสันติธรรม สีนวลสกุลณี วิศวกรโยธา 6 โดย คณะกรรมการเห็นว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ ฯ ปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้ง ประมาท เลินเล่อในหน้าที่ราชการ เห็นควรลงโทษ “ไล่ออก” แต่เนื่องจาก ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จึงเห็นควรลดโทษเป็น “ปลดออก”
กลุ่มที่ 3 ผู้มีหน้าที่ในการจัดทำ ตรวจสอบ เสนอความเห็นในฎีกาเบิกเงิน ได้แก่ นายอนุรักษ์ ลักษณะภู่ ปลัดเทศบาลฯ และ น.ส.ประเสริฐศรี เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคลัง โดย คณะกรรมการเห็นว่า การจัดทำฎีกาเพื่อขออนุมัติดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามโครงการก่อสร้างสะพานฯ มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ จึงเห็นยุติเรื่อง
กลุ่มที่ 4 ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ ดูแล ซ่อมสะพานฯ ได้แก่ นายสันติธรรม สีนวลสกุลณี วิศวกรโยธา 6 (ปลดออก) และนายสันติ มะปรางหวาน นายช่างโยธาระดับ 2 โดย คณะกรรมการเห็นว่า บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจรับงานจ้าง จึงเห็นควรลงโทษ ตัดเงินเดือน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน เช่นกัน
หนังสือดังกล่าวยังระบุถึง การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรี ต.ท่าหลวง ว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในประเด็นข้อร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ นายเชษฐา ปทุมรังสี นายกเทศบาลตำบลท่าหลวงแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2556
โดย สรุปว่า นายเชษฐา ในฐานะผู้อนุมัติการเบิกจ่ายเงินโครงการก่อสร่างสะพานสมโภชกรุงรัตนะโกสินทร์ 200 ปี ได้รับการเสนอขอเบิกจ่ายเงินและได้อนุมัติการเบิกจ่าย โดยอาศัยเพียงการยืนยันจากช่างผู้ควบคุมงาน คณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้อำนวยการกองคลัง และปลัดเทศบาลฯ ในการพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง อย่างไม่ถูกต้องกับปริมาณงานที่ทำ สร้างความเสียหายให้แก่เทศบาล ต.ท่าหลวง ถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เนื่องจาก นายกเทศมนตรีเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งไม่มีความผิดทางวินัย และได้พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีไปแล้ว
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ขอให้ จ.อยุธยา ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็น ในกรณีร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายเชษฐา โดยทาง จ.อยุธยา ได้แจ้งให้ อ.ท่าเรือ ตรวจสอบและพิจารณาทำความเห็นตามอำนาจหน้าที่ ซึ่ง อ.ท่าเรือ ได้ดำเนินการสรุปความเห็นตามข้อเท็จจริง และพยานเอกสารตามที่เทศบาล ต.ท่าหลวง ได้ชี้แจงรายละเอียด แล้วสรุปรายงานต่อ จ.อยุธยา โดย จ.อยุธยา ได้รายงานผลการดำเนินการและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อเลขาธิการ สตง. ในประเด็นข้อร้องเรียนนายเชษฐาแล้ว เมื่อ 13 มิ.ย. 57 ตามความเห็นกฤษฎีกา ความว่า
"กรณีผู้ฟ้องให้มีคำสั่งถอดถอนนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง ตามมาตรา 73 นายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวงได้พ้นตำแหน่ง เนื่องจาก ครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อ 20 พ.ค. 56 หลังจาหที่สะพานพังทลายลง เมื่อ 28 เม.ย. 56 และต่อมา นายเชษฐา ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีใหม่ เมื่อ 7 ก.ค. 56 จึงไม่สามารถใช้เหตุดังกล่าวให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 73 ได้"
ส่วน นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของ ด.ญ. ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า เห็นได้ชัดที่อ้างว่า แจ้ง สตง. แล้วนั้น ปีนี้ทาง สตง. เพิ่งจะแจ้งหนังสือถึงผมล่าสุด 2 ฉบับ โดยระบุว่า จ.อยุธยา ยังไม่ตอบอะไรกลับมาเลย รวมถึง ความเห็นกฤษฎีกา เป็นแค่ความเห็น จะตั้งกี่คณะ จะเห็นดี เห็นชอบก็ได้ แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล ซึ่งไม่ควรนำมาอ้างอิง แบบนี้ต่อไปนักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ ใครทำผิดตอนดำรงตำแหน่งอยู่ แล้วรีบลาออกหรือประวิงเวลาดึงเรื่องให้ถึงครบวาระในการดำรงตำแหน่ง ก็ลงโทษไม่ได้ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เรื่องถึงได้อืดอาด ยืดยาด ล่าช้ามาก ๆ
(ดูเอกสารประกอบ)
อ่านประกอบ :
ยื่นครั้งสุดท้าย! เหยื่อสะพาน 200 ปีถล่มขอผู้ว่าลงโทษไล่'วิศวกร'ออก
ใช้ 9 เดือนซ่อม 4 ครั้ง! กก.สอบปมสะพาน 200 ปีถล่มยันฝีมือ"เอกชน"
กรมโยธาฯยังยัน'วิศวกร'สะพาน200ปีถล่มโทษแค่ลดเงินเดือน-ป.ป.ช.รุดสอบแล้ว
ตร.ส่งคดีสะพาน 200 ปีถล่มฯให้อัยการฟ้อง-"วิศวกร"รู้โดนสาวถึง รีบชิ่งหนี
"วิศวกร"สร้างสะพาน 200 ปีถล่มหนีแล้ว! ตร.ออกหมายจับพบปลอมเอกสารด้วย
รายชื่อ 17 นักการเมือง-ขรก.ในผลสอบคดีสะพานฯ 200 ปี อยุธยา ถล่ม!
เปิดเอกสารมัดสัมพันธ์ลึก "เอกชน-วิศวกร" สะพานฯถล่ม ไฉนคดีทุจริตไม่คืบหน้า!
มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก
เปิดหนังสือ"ดีเอสไอ"ตอบพ่อเหยื่อสะพาน200 ปีถล่ม ลุยล่าตัวผู้กระทำผิดแน่!