เบี้ยประชุมองค์การมหาชน ‘รพ.บ้านแพ้ว’ ปธ.บอร์ดรับ 7.5 หมื่น โดดสุดจาก 43 เเห่ง
เปิดรายงานปฏิรูปองค์การมหาชน หมวด 4 วิเคราะห์กำหนดเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการองค์การมหาชน พบประธานกรรมการ รพ.บ้านแพ้ว รับสูงสุด 7.5 หมื่นบาท อีก 21 แห่ง ไม่กำหนดงบฯ จ่าย คณะกรรมการศึกษาฯ สปช. แนะต้องเปรียบเทียบจากส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจ ประกอบกัน
ไม่เพียงเฉพาะกรณีเงินเดือนประจำของซีอีโอองค์การมหาชนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลและหลายหน่วยงานเท่านั้น หากยังมีประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดอัตราเบี้ยประชุมด้วย เนื่องจากมีอัตราสูงเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับการทำงานในภาครัฐ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดรายงานของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่องปฏิรูปองค์การมหาชน หมวดที่ 4 แนวทางวิเคราะห์การกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการองค์การมหาชน
โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์อัตราที่ใช้อยู่ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดอัตราใหม่สำหรับองค์การมหาชน นำไปสู่การปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความเป็นธรรมมากขึ้น
คณะกรรมาธิการศึกษาฯ เห็นว่า องค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ การกำหนดเบี้ยประชุมก็ควรเปรียบเทียบจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจประกอบกันด้วย
เมื่อศึกษาความแตกต่างของการกำหนดเบี้ยประชุม พบส่วนราชการจะถูกกำหนดเป็นรายเดือน สำหรับกรรมการในคณะกรรมการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งและกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ไว้โดยบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการ หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ออกตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติงานในด้านการกำหนดนโยบายอันมีผลกระทบต่อการบริหาร เศรษฐกิจ หรือสังคมในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ ตามรายชื่อคณะกรรมการและอัตราเบี้ยประชุมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
โดยส่วนราชการที่ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน ตำแหน่งประธาน อยู่ระหว่างไม่เกิน 6,250-20,000 บาท/เดือน รองประธาน อยู่ระหว่างไม่เกิน 6,750-9,000 บาท/เดือน และกรรมการ อยู่ระหว่างไม่เกิน 5,000-16,000 บาท/เดือน
ทั้งนี้ หากศึกษาเฉพาะตำแหน่งประธาน พบว่า ประธานคณะกรรมการการตรวจสอบภาคราชการ จะได้รับเบี้ยประชุมสูงสุด ซึ่งได้รับไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน
ส่วนอีก 8 ส่วนราชการ คือ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ, คณะกรรมการผังเมือง, คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร, คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ส., คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา, คณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน, คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับเบี้ยประชุมต่ำสุด ซึ่งได้รับไม่เกิน 6,250 บาท/เดือน
ขณะที่คณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนและอัตราเบี้ยประชุม ประธานได้รับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท/เดือน และอนุกรรมการ ได้รับสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน ดังตารางแสดงข้างท้าย
เมื่อตรวจสอบข้อมูลการได้รับเบี้ยประชุมของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ พบว่า ปัจจุบันกรรมการจะได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547
โดยกลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), การประปาส่วนภูมิภาค, การประปานครหลวง, การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การเภสัชกรรม, การเคหะแห่งชาติ, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รวมถึงกลุ่มรัฐวิสาหกิจสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
กรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 กลุ่มข้างต้น ได้รับเบี้ยประชุมรายครั้งสูงสุด ไม่เกิน 10,000 บาท/คน/ครั้ง
ขณะที่กลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดปานกลางและขนาดเล็ก ได้รับเบี้ยประชุมรายครั้งไม่เกิน 8,000 บาท/คน/ครั้ง และ 6,000 บาท/คน/ครั้ง ตามลำดับ
ยกเว้นกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)
มติ ครม. ระบุให้เบี้ยประชุมกรรมการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
สำหรับการกำหนดอัตราเบี้ยประชุมของคณะกรรมการองค์การมหาชน ซึ่งถูกมองว่ามีอัตราสูงเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับการทำงานในภาครัฐ ตรวจสอบพบว่า มีการแบ่งองค์การมหาชนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้านให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายใต้ระยะเวลาจำกัด และมีระยะเวลาสิ้นสุดขององค์การ กำหนดเบี้ยประชุมคณะกรรมการในอัตราไม่เกินคนละ 6,000-20,000 บาท/เดือน
กลุ่มที่ 2 องค์การมหาชนที่มีลักษณะงานเป็นงานบริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้านหรือสหวิทยาการที่ใช้วิชาชีพระดับสูงซับซ้อน หรือเป็นงานศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการริเริ่มหรือสร้างนวัตกรรมที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ ความสามารถเฉพาะ มีขอบเขตการทำงานครอบคลุมในระดับประเทศหรือต้องดำเนินกิจกรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์โดยการร่วมมือกับต่างประเทศ กำหนดเบี้ยประชุมคณะกรรมการในอัตราไม่เกินคนละ 6,000-16,000 บาท/เดือน
กลุ่มที่ 3 องค์การมหาชนที่มีลักษณะงานเป็นงานศึกษาวิจัยทั่วไปหรืองานบริการทั่วไป หรืองานปกติประจำ หรืองานให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า/ผู้รับบริการเฉพาะ มีขอบเขตการทำงานครอบคลุมในขอบเขต จำกัด กำหนดเบี้ยประชุมคณะกรรมการในอัตราไม่เกินคนละ 6,000-12,000 บาท/เดือน
โดยให้กำหนดอัตราเบี้ยประชุมของคณะกรรมการองค์การมหาชน ให้กรรมการได้รับในช่วงของอัตราเงินเดือนตามกลุ่มขององค์การมหาชน ส่วนประธานกรรมการให้ได้รับในอัตราสูงกว่ากรรมการร้อยละ 25
ขณะที่ อนุกรรมการให้ได้รับเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ ส่วนประธานอนุกรรมการ ให้ได้รับในอัตราสูงกว่าอนุกรรมการร้อยละ 25
สำหรับที่ปรึกษาของคณะกรรมการฯ นั้น มีการกำหนดให้ได้รับในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่สูงเกินกว่าอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ ส่วนผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ในองค์กรไม่ได้รับเบี้ยประชุม
ทั้งนี้ ปัจจุบันองค์กรมหาชนที่ได้รับเบี้ยประชุมสูงสุด คือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เฉพาะประธานกรรมการได้รับในอัตรา 75,000 บาท และกรรมการได้รับในอัตรา 60,000 บาท
จากการตรวจสอบจากเว็บไซต์โรงพยาบาลบ้านเเพ้ว (องค์การมหาชน) ปรากฎรายชื่อคณะกรรมการบริหาร อาทิ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา, นพ.วีรพล นิธิพงศ์, ว่าที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต, นายพิษณุ วิเชียรสรรค์
ขณะที่องค์การมหาชนส่วนใหญ่จำนวน 22 แห่ง ประธานกรรมการจะได้รับเบี้ยประชุมอยู่ระหว่าง 7,500-25,000 บาท และกรรมการได้รับเบี้ยประชุมอยู่ระหว่าง 6,000-20,000 บาท
คงมีองค์การมหาชนเพียง 21 แห่ง ที่ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการ ไม่ได้รับเบี้ยประชุมใด ๆ ได้แก่
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ, สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ, สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ,สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, หอภาพยนตร์, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาพิงคนคร, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ, และเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ
จากข้อมูลที่ปรากฏไว้ตามรายงานฯ คณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน สปช. จึงมีข้อเสนอว่า การกำหนดเบี้ยประชุมโดยทั่วไปหลักการส่วนใหญ่จะมีเพียง 2 ระดับ คือ ระดับกรรมการ และอนุกรรมการ การแบ่งอัตราเบี้ยประชุมคณะกรรมการองค์การมหาชนตามการจัดกลุ่มองค์การมหาชนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
จึงควรกำหนดในอัตราเดียวกันทั้งระดับกรรมการและอนุกรรมการ โดยยึดจากกลุ่มที่ 3 เป็นหลักนั้น คือ 6,000-12,000 บาท ส่วนอนุกรรมการก็ได้จำนวน 3,000-6,000 บาท ตามหลักการที่กำหนดไว้เดิม
ทั้งหมดเป็นข้อมูลและบทวิเคราะห์การกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการองค์การมหาชนที่กำลังถูกสะกิดให้ดังขึ้นไม่แพ้กรณีเงินเดือนประจำตำแหน่ง ส่วนสุดท้ายจะนำไปสู่การเปลี่ยนเเปลงมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ ภายใต้ร่มเงารัฐบาลทหาร .
อ่านประกอบ:รายงานของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
เงินเดือนนายกฯ ยังสู้ไม่ได้! สตง.ชงปรับฐานหน่วยงานรัฐเทียบเท่า 'องค์การมหาชน'
เงินเดือนนายกฯ ไทยน้อยจริง! รับ 7.5 หมื่น ต่างจาก 'ซีอีโอ' องค์การมหาชนบางเเห่ง 3 เท่า
ดูชัดๆ เงินเดือนผู้บริหาร'องค์การมหาชน'34แห่ง! ก่อนสตง.ชงบิ๊กตู่ปรับฐานภาครัฐเทียบเท่า
ดูอีกรอบ! ก.พ.ร.ประเมินผลปฏิบัติงาน "องค์การมหาชน" แห่งไหนคะแนนรวมสูงสุด
ยุบกับปฏิรูปองค์การมหาชน คนละเรื่องเดียวกัน?