- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
- เงินเดือนนายกฯ ไทยน้อยจริง! รับ 7.5 หมื่น ต่างจาก 'ซีอีโอ' องค์การมหาชนบางเเห่ง 3 เท่า
เงินเดือนนายกฯ ไทยน้อยจริง! รับ 7.5 หมื่น ต่างจาก 'ซีอีโอ' องค์การมหาชนบางเเห่ง 3 เท่า
สำรวจฐานค่าตอบเเทนผู้ดำรงตำเเหน่งหน่วยงานภาครัฐ เลขาธิการ กกต. รับสูงสุด 1.7 เเสนบาท/เดือน ขณะที่นายกรัฐมนตรีดูเฉพาะเงินเดือน 7.5 หมื่นบาท น้อยกว่า อพท. 3 เท่า
สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 นำเสนอผลการศึกษาเงินเดือนและประโยชน์ผลตอบแทนอื่นของผู้บริหารองค์การมหาชน
โดยผลการศึกษาระบุว่า ผู้บริหารองค์การมหาชนทุกแห่งได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในอัตราค่อนข้างสูงประมาณ 130,000-296,440 บาท ต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ได้รับเงินเดือนในอัตรา 75,590 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมทั้งสิ้น 125,590 บาทต่อเดือน
(อ่านประกอบ:เงินเดือนนายกฯ ยังสู้ไม่ได้! สตง.ชงปรับฐานหน่วยงานรัฐเทียบเท่า 'องค์การมหาชน' )
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ว่า เรามีองค์การมหาชนหลายแห่งที่ผู้บริหารระดับซีอีโอมีเงินเดือนหลายแสน มากกว่านายกรัฐมนตรีถึงสามเท่า บางองค์การมีเจ้าหน้าที่เพียง 7 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดรายงานของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรื่อง ปฏิรูปองค์การมหาชน โดยเฉพาะตรงภาคผนวกที่ 5 ประเด็นการปฏิรูประบบค่าตอบแทน เคยเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนการกำหนดค่าตอบแทนผู้อำนวยการองค์การมหาชนด้วยเหตุผลว่า
ค่าตอบแทนของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงไม่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบและมีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐประเภทต่าง ๆ ค่าตอบแทนหลัก (เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง) ของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งหลัก 12 ตำแหน่ง มีอัตราที่แตกต่างกันและต่ำกว่าอัตราค่าตอบแทนของหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง ดังนี้
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับเงินเดือน 145,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 25,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษ 25,000 บาท รวม 170,000 บาท
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับเงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ค่าตอบแทนเท่าเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษ 33,300 บาท รวม 145,110 บาท
ขณะที่เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ, เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา ได้รับเงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท าตอบแทนเท่าเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษ 33,000 บาท รวม 144,810 บาท
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเงินเดือน 90,960 บาท เงินประจำตำแหน่ง 25,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษ 25,000 บาท รวม 140,960 บาท
ขณะที่ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครอง ได้รับเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ค่าครองชีพ 12,500 บาท รวม 138,090 บาท
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการศาลยุติธรรม และเลขาธิการศาลปกครอง ได้รับเงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ค่าตอบแทนเท่าเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท เงินเพิ่มพิเศษ 20,000 บาท รวม 131,810 บาท
ส่วนนายกรัฐมนตรี ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 125,590 บาท
อัยการสูงสุด รองประธานศาลฎีกา และรองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้รับเงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท ค่าครองชีพ 7,300 บาท รวม 123,040 บาท
รองอัยการสูงสุด ได้รับเงินเดือน 72,060 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,000 บาท ค่าครองชีพ 7,300 บาท รวม 121,360 บาท
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. ประธาน คตง. และประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเงินเดือน 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวม 119,920 บาท
ทั้งนี้ เมื่อศึกษาเงินเดือนเเละค่าตอบเเทนของซีอีโอ 34 องค์การมหาชน พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับรวมไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท (อ่านประกอบ:ดูชัดๆ เงินเดือนผู้บริหาร'องค์การมหาชน'34แห่ง! ก่อนสตง.ชงบิ๊กตู่ปรับฐานภาครัฐเทียบเท่า
เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะอัตราเงินเดือนประจำของผู้บริหารองค์กรมหาชน ปีงบประมาณ 2557 กับนายกรัฐมนตรีไทย พบมีความเเตกต่างกันจริง!!
โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. เป็นองค์การมหาชนได้รับเงินเดือนสูงสุด 296,440 บาท ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้รับเงินเดือนเพียง 75,590 บาท มีสัดส่วนมากกว่า 3 เท่าจริง ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้
(อ่านประกอบ:รายงานของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)