ยุบกับปฏิรูปองค์การมหาชน คนละเรื่องเดียวกัน?
กระแสข่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนสังคมจะสนใจข่าวการเสนอให้มีการยุบองค์การมหาชนบางแห่ง ซึ่งแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการยุบองค์การมหาชนใดทั้งสิ้น แต่มีหลักฐานเล็ดลอดชัดเจนว่า สำนักงาน ก.พ.ร. มีแผนที่จะเสนอให้มีการยุบองค์การมหาชนอย่างน้อย 7 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD ที่ดูแลศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ห้องสมุดขวัญใจคนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อแฟนคลับ โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงในสังคมต่างออกมาคัดค้านการยุบองค์การมหาชนเหล่านี้
จะว่าไปแล้ว คงไม่ใช่เฉพาะองค์การมหาชนที่ถึงคราวต้องปฏิรูป แต่กระทรวง กรม และรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น ก็ควรต้องมีการทบทวนบทบาทภารกิจความจำเป็นเหมือนเช่นองค์การมหาชนด้วย การไปดูที่ค่าตอบแทนผู้บริหารขององค์การมหาชน แล้วสรุปว่า สูงกว่านายกรัฐมนตรีกี่เท่านั้น คงไม่ใช่วิถีในการปฏิรูป ในเมื่อเจตนารมณ์ที่ต้องการให้องค์การมหาชนเหล่านี้มีนักบริหารมืออาชีพเข้ามาขับเคลื่อนงานที่โดยปกติแล้ว หากให้หน่วยงานภาครัฐทำจะไม่มีประสิทธิภาพเพราะไม่คล่องตัว อุ้ยอ้าย ติดขัดวิถีระบบราชการ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ค่าตอบแทนจะให้เท่ากับที่ข้าราชการได้รับคงไม่ได้ และองค์การมหาชนก็ไม่ได้มีสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ โดยสรุป การมองเรื่องค่าตอบแทนจึงเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน
ทุกฝ่ายในสังคมยอมรับว่า ควรมีการปฏิรูปหน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชนเองก็คงยอมรับที่จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรมองให้รอบด้านมากกว่าการตั้งธงยุบองค์การมหาชน
แต่ควรมองการใช้ประโยชน์องค์การมหาชนเหล่านี้ให้ถูกที่ถูกทาง เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ที่มีภารกิจการทำงานพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่เฉพาะ มีผลงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่โดดเด่นเป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ดูขัดๆยังไงไม่ทราบ ทำไมไม่มองในมุมให้ อพท. ย้ายไปอยู่กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แล้วปรับบทบาทภารกิจให้เป็นหน่วยงานหลักเพื่อทำงานในเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ชัดเจนไปเลย หน่วยงานไหนทั้งในและนอกกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ก็ตัดโอนภารกิจไปให้ อพท. ทำ หากมองในมุมนี้ น่าจะเป็นการปฏิรูปอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีใครเดือดร้อนจากการยุบ การท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศกลับได้ประโยชน์ และทำให้เห็นการบูรณาการงานท่องเที่ยวที่มีความคมชัดมากขึ้น
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ต้องการกระตุกให้ทุกฝ่ายหันมามองการปฏิรูปแบบสร้างสรรค์ที่ทุกฝ่าย win – win ไม่ใช่ win – lost หรือ lost – lost
ท่านนายกรัฐมนตรีให้โจทย์กับท่านรองนายกวิษณุกับสำนักงาน ก.พ.ร. ไปแล้วว่า ไม่ต้องยุบ ให้เวลาศึกษาอีก 3 เดือนแล้วเอาไปเสนอ ครม. อีกครั้ง หวังว่า แนวทางการปฏิรูปแบบสร้างสรรค์ที่เสนอนี้ น่าจะช่วยให้คนที่รับโจทย์ท่านนายกเห็นทางสว่างขึ้นบ้างนะ อย่างน้อยก็เห็นตัวเลือกในการตัดสินใจที่คิดอยู่แต่เพียงยุบกับไม่ยุบ สรุปสั้นๆ คือ ข้อเสนอที่จะกลับไปให้ ครม. ดูอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า ต้องเป็น win – win ครับ