สตง.ชำแหละศูนย์ USO NET พบเน็ตอืดกว่ามาตรฐาน-ซื้ออุปกรณ์เกินความรู้จนท.
แกะรอยผลสอบ 'สตง.' ชี้ปมปัญหาศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน-โรงเรียน กสทช. เผยสุ่มตรวจพบ ทุ่มจัดซื้ออุปกรณ์เพียบเกินความสามารถ 'จนท.' หลายแห่งสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่เปิดให้บริการ แถมความเร็วเน็ตต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด
กรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการดำเนินงานการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน (USO NET) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลายประการ อาทิ การก่อสร้างเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และจากการสุ่มตรวจสอบศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและโรงเรียนที่ดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 124 แห่ง จาก 614 แห่ง (ข้อมูลที่กำหนดกลุ่มตัวอย่างเพียงวันที่20 สิงหาคม 2556) ใน 12 จังหวัด พบว่า บางศูนย์ฯยังไม่เปิดให้บริการ อุปกรณ์ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ เสียหายใช้งานไม่ได้ ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : ล่าช้า-อุปกรณ์ชำรุด! สตง.ชี้ปัญหาศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน-โรงเรียน กสทช.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในรายงานการตรวจสอบ สตง. ได้สรุปภาพรวมปัญหาการใช้ประโยชน์ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและโรงเรียนไว้ว่า จากการสุ่มตรวจสอบศูนย์อินเทอร์เน็ตจำนวน 124 แห่ง จากทั้งหมด 614 แห่งที่สร้างแล้วเสร็จ(ข้อมูล ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2556) พบว่า มีศูนย์อินเทอร์เน็ตบางแห่งไม่เปิดใช้งาน และบางแห่งไม่ได้นำอุปกรณ์บางรายการไปใช้ประโยชน์ สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ศูนย์อินเทอร์เน็ตบางแห่งยังไม่เปิดให้บริการ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วไม่น้อยกว่า3 – 4 เดือน แต่ยังไม่เปิดให้บริการจำนวน 2 แห่ง และอีกจำนวน 1 แห่ง พบปัญหาความขัดข้องของระบบกระแสไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของศูนย์อินเทอร์เน็ตฯ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ คิดเป็นมูลค่า 3.92 ล้านบาท แยกเป็นศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนจำนวน 2 แห่ง รวมมูลค่า 2.44 ล้านบาท เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้า และศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน จำนวน 1 แห่ง มูลค่า 1.47 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าหน้าที่ลาออก และขาดแคลนบุคลากรที่
มีความรู้ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ที่สามารถดูแลศูนย์อินเทอร์เน็ตได้
2. อุปกรณ์บางรายการที่ติดตั้งในศูนย์อินเทอร์เน็ตบางแห่งไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่ให้ความสำคัญในการให้บริการกับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ด้อยโอกาส ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนที่เปิดให้บริการแล้วไม่น้อยกว่า 3 – 4 เดือน จำนวน 121 แห่ง
พบว่า ศูนย์อินเทอร์เน็ตจำนวน 73 แห่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์บางรายการเนื่องจากเกินความต้องการ เจ้าหน้าที่ใช้งานไม่เป็น ไม่มีงบประมาณจัดซื้อหมึกพิมพ์สำหรับเครื่องพิมพ์ และกำลังไฟฟ้าไม่พอ รวมมูลค่า 5.18 ล้านบาทดังนี้
(1) เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server Computer) จำนวน 31 เครื่อง/31 แห่งคิดเป็นร้อยละ 49.21 รวมมูลค่าประมาณ 1.93 ล้านบาท
(2) เครื่องสำรองไฟสำหรับคอมพิวเตอร์แม่ข่าย จำนวน 23 เครื่อง/23 แห่งคิดเป็นร้อยละ 36.51 รวมมูลค่าประมาณ 0.18 ล้านบาท
(3) กล้องคอมพิวเตอร์ (Web Cam) จำนวน 21 เครื่อง/21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ25.00 รวมมูลค่าประมาณ 0.02 ล้านบาท
(4) เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ จำนวน 21 เครื่อง/21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 17.36รวมมูลค่าประมาณ 0.24 ล้านบาท
(5) เครื่องโปรเจคเตอร์พร้อมจอฉาย จำนวน 14 เครื่อง/14 แห่ง คิดเป็นร้อยละ16.67 รวมมูลค่าประมาณ 0.37 ล้านบาท
(6) โทรทัศน์ จานดาวเทียม เครื่องเล่น DVD จำ นวน 13 ชุด/13 แห่งคิดเป็นร้อยละ 10.74 รวมมูลค่าประมาณ 0.26 ล้านบาท
(7) เครื่องปรับอากาศ จำนวน 12 เครื่อง/6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7.14 รวมมูลค่าประมาณ 0.36 ล้านบาท
(8) เครื่องสำรองไฟสำหรับคอมพิวเตอร์เจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ จำนวน 7 เครื่อง/7 แห่งคิดเป็นร้อยละ 5.79 รวมมูลค่าประมาณ 0.01 ล้านบาท
(9) เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ จำนวน 2 เครื่อง/2 แห่งคิดเป็นร้อยละ 1.67 รวมมูลค่าประมาณ 0.05 ล้านบาท
(10) เก้าอี้ จำนวน 29 ตัว/3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.36 รวมมูลค่าประมาณ0.03 ล้านบาท
(11) เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับประชาชน/นักเรียน จำนวน 89 เครื่อง/4 แห่งคิดเป็นร้อยละ 9.08 รวมมูลค่าประมาณ 1.73 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่ามีเครื่องที่เสียใช้งานไม่ได้และยังไม่ดำเนินการซ่อมแซม จำนวน 80 เครื่อง/102 แห่ง โดยศูนย์อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ
แนวทางที่ต้องดำเนินการตามที่ กสทช. กำหนด
(12) โต๊ะ จำนวน 5 ตัว/3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.44 รวมมูลค่าประมาณ 0.01 ล้านบาท
3. ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ กทช. ระบุไว้
จากการสุ่มตรวจสอบศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนจำนวน124 แห่ง พบว่า มีศูนย์อินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตได้ จำนวน 14 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 11.29 เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้ และมีศูนย์อินเทอร์เน็ตที่
สามารถทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตได้ จำนวน 110 แห่ง ในจำนวนนี้พบว่าศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน จำนวน 68 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 61.82 มีคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ตต่ำกว่ามาตรฐานที่ กทช. กำหนด
เบื้องต้น สตง.ได้แจ้งให้ สำนักงาน กสทช. แก้ไขปัญหาแล้ว โดยสั่งการให้มีการสำรวจติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานรวมถึงการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และการควบคุม ดูแล ซ่อมแซมอุปกรณ์ของศูนย์อินเทอร์เน็ตตามโครงการทุกแห่งเพื่อทราบผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดของแต่ละแห่ง และนำไปสู่การพิจารณาวางแผนช่วยเหลือ/แนะนำ/ปรับปรุงแก้ไขตามสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม ให้สามารถดำเนินการและบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์ของโครงการ รวมถึงติดตามตรวจสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนให้ศูนย์อินเทอร์เน็ตทุกแห่งได้นำไปปฏิบัติ ตรวจสอบการให้บริการของบริษัทผู้รับใบอนุญาตในการแก้ไขปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างทันท่วงที
พร้อมระบุว่า หากมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีความเร็วมากขึ้นกว่าเดิม กสทช. ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล ควรจัดหาแนวทางที่สามารถทำให้ศูนย์อินเทอร์เน็ตได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก usonet.nbtc.go.th