ล่าช้า-อุปกรณ์ชำรุด! สตง.ชี้ปัญหาศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน-โรงเรียน กสทช.
สตง.สอบพบปัญหางานบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน-โรงเรียน กสทช. เพียบ เสร็จล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน อุปกรณ์เสียหายใช้งานไม่ได้ จี้พิจารณาทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการให้เกิดความชัดเจน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน (USO NET) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนจำนวน 937 แห่ง ณ เดือนกันยายน 2557 พบว่า มีการจัดตั้งแล้วเสร็จทุกแห่ง
แต่ปรากฏว่าส่วนใหญ่มีความล่าช้ากว่าแผนมากถึง 2 ปี โดยส่วนใหญ่แล้วเสร็จในปี 2556 จำนวน 715 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 76.31 ปัญหาความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและไม่เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ ที่สำคัญทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากยอดเงินค่าธรรมเนียมที่บริษัทผู้รับใบอนุญาตจะต้องชำระของปี 2553 ประมาณ 3,427.93 ล้านบาท โดยมียอดเงินคงเหลือหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 207.97 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ในการถือครองของบริษัทผู้รับใบอนุญาตและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินโครงการหากพิจารณาค่าเสียโอกาสจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปีกสทช. สูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยปีละ 68.56 ล้านบาท ซึ่งค่าเสียโอกาสดังกล่าวผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ บริษัท CAT บริษัท TOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และบริษัท 3BBบริษัท JAS บริษัท AIN และบริษัท SBN เป็นบริษัทเอกชน อนึ่ง กิจกรรมตามโครงการเป็นลักษณะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว และราคาอาจมีการปรับลดลงมาก
ดังนั้น การที่มีความล่าช้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ถึง 2 ปี อาจจะส่งผลถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการของบริษัทผู้รับอนุญาตที่อาจลดลงจากที่เคยคำนวณไว้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มโครงการ หาก กสทช. ไม่มีการตรวจสอบหรือสอบทานรายละเอียดการจัดซื้อที่แท้จริงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้
นอกจากนี้จากการสุ่มตรวจสอบศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนที่ดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 124 แห่ง จาก 614 แห่ง (ข้อมูลที่กำหนดกลุ่มตัวอย่างเพียงวันที่20 สิงหาคม 2556) ใน 12 จังหวัด พบว่า การดำเนินงานตามโครงการมีปัญหาการใช้ประโยชน์
เช่น ยังไม่เปิดให้บริการ อุปกรณ์บางรายการไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ อุปกรณ์เสียหายใช้งานไม่ได้ จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
สตง.ระบุว่า การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal ServiceObligation : USO) เดิมเป็นภารกิจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่ง กทช.มีเจตนารมณ์มุ่งหมายให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการขยายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานไปยังพื้นที่เป้าหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กร การดำเนินงาน USO จึงเป็นภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 17 บัญญัติให้ กทช. มีหน้าที่จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและให้มีอำนาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ชนบท หรือพื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีแต่ไม่ทั่วถึง หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในพื้นที่นั้น จัดให้มีบริการโทรคมนาคมสำหรับสถานศึกษา ศาสนสถานสถานพยาบาล และหน่วยงานอื่นที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม จัดให้มีบริการโทรคมนาคมสาธารณะในบางลักษณะ หรือบางประเภทตามที่ กสทช. กำหนดแก่ผู้มีรายได้น้อย อำนวยความสะดวกในการใช้บริการโทรคมนาคมสาธารณะสำหรับคนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาติใดไม่สามารถจัดให้มีบริการโทรคมนาคมตามที่ กทช. ประกาศกำหนด จึงให้นำกฎหมายมาตรา 18 มาใช้บังคับภายหลัง โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้นดำเนินการจัดสรรรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามอัตราที่ กทช. ประกาศกำหนด
การดำเนินงานจัดให้มีบริการ USO แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2548 –พ.ศ. 2552 ระยะที่ 2 พ.ศ. 2553 และระยะที่ 3 พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2559
การจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 2 ที่ดำเนินการในปี พ.ศ. 2553 กทช. ได้ดำเนินงานการจัดให้มีศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ประชาชนและนักเรียนในชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การศึกษาได้เท่าเทียมกัน ทั่วถึงครอบคลุม และลดความเหลื่อมล้ำลง
โดยบริษัทผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับอนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด(มหาชน) (3BB) บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JAS) บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด (AIN)และ บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวิร์ค จำกัด (SBN) มีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 937 แห่งแบ่งเป็นศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนจำนวน 417 แห่ง และศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนจำนวน 520 แห่งอนึ่ง หลังจากที่ กทช. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางการปฏิบัติงาน USO ไว้แล้ว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 มีการถ่ายโอนภารกิจให้ กสทช. ดำเนินการต่อไป โดยยึดตามหลักเกณฑ์แนวทางที่ กทช. กำหนดไว้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก usonet.nbtc.go.th