คลอดแล้วพ.ร.ก.ประมง เพิ่มโทษมาตรการเด็ดขาด ทำผิดปรับสูงสุด 30 ล.
รัฐบาลออกพระราชกำหนดประมง 2558 หวังจัดระเบียบ ใครทำประมงต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 1 หมื่นบาท ขณะที่ใบอนุญาตทำงานในเรือประมงอยู่ที่ฉบับละ 500 บาท มาตรการลงโทษสูงสุดปรับ 30 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนดประมง 2558 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้
ทั้งนี้ในพ.ร.ก.ประมง 2558 มีคำสั่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และบทบัญญัติแห่งพระราชกําหนดนี้มุ่งหมายเพื่อการจัดระเบียบการประมง ในประเทศไทยและในน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันมิให้มีการทําประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อรักษา ทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ให้ดํารงอยู่ในสภาพที่เหมาะสมตามแนวทาง กฎเกณฑ์ และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนับถือในนานาประเทศ รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพของคนประจําเรือ และป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมง
สาระสำคัญของพ.ร.ก.ประมง 2558 ระบุถึงการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วยว่า จะต้องได้รับใบอนุญาตการทำประมงนอกน่านน้ำจากอธิบดี และต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมง หากเกิดกรณีเรือประมงไทยหรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย แต่ใช้ผู้ควบคุมเรือหรือคนประจำเรือหรือมีผู้โดยสารเป็นผู้มีสัญชาติไทยทำประมงนอกน่านน้ำไทยจนเป็นการละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือประมงต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการนำบุคคลดังกล่าวกลับประเทศภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากเจ้าของเรือประมงไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลา กรมประมงมีอำนาจยึดเรือประมงและนำออกขายทอดตลาดได้
นอกจากนี้ในมาตรา 171 บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคําสั่งที่ออก ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกําหนดนี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ หรือคําสั่ง ตามพระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ ส่วนประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาตหรือใบอนุญาตที่ออกให้ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน
และมาตรามาตรา ๑๗๔ ยังระบุว่า ผู้ใดทําการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอส และได้จดทะเบียนเป็นเรือสําหรับการประมงและได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ อธิบดีจะอนุญาตให้ทําการประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะเลิกทําการประมงก็ได้ ส่วนมาตรา 175 ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับ ในขณะที่มาตรา 176 ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับ
สำหรับบทลงโทษโดยเฉพาะเรื่องใช้เรือไร้สัญชาติในการทำประมง จะมีโทษเปรียบเทียบปรับตามขนาดของเรือ โดยโทษสูงสุดเป็นเรือ 150 ตันกรอสจะมีโทษปรับ 5-30 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ ขึ้นกับจำนวนที่มากกว่า ส่วนกรณีการจ้างแรงงานผิดกฎหมายมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 4-8 แสนบาทต่อราย ขณะที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานหากเกิดกรณีเดียวกันนอกจากปรับ 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท แล้วยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1-5 แสนบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน
ทั้งนี้ในส่วนแนบท้ายพระราชกำหนดได้กำหนดอัตราค่าอากร ใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทําการประมงตามประเภทเครื่องมือทําการประมงและอัตราค่าธรรมเนียมดังนี้
อ่านประกาศฉบับเต็มที่นี่http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/108/1.PDF