ศราวุฒิ อารีย์ วิเคราะห์ 3 แรงจูงใจถล่มปารีส
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองแนวโน้มความเป็นไปได้ที่อาจเป็นชนวนเหตุของการโจมตีกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่ามีได้ 3 แนวทางด้วยกัน
หนึ่ง กลุ่มติดอาวุธมุสลิมเป็นผู้กระทำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ 911 มีการโจมตีในยุโรปบ่อยครั้ง เช่น การโจมตีรถไฟในประเทศสเปน (ปี 2547) รถไฟใต้ดินในอังกฤษ (ปี 2548) หรือเมื่อต้นปี 2558 ก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่สำนักงานนิตยสาร ชาร์ลี เอบโด เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิม และเป็น "โฮมโกรว์น" คือ อาหรับมุสลิมที่เติบโตในยุโรป แต่ปฏิเสธรัฐบาลหรือนโยบายของประเทศตน
สอง ความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสงครามในซีเรียและอิรักที่กำเนิดกลุ่มไอเอส หรือกลุ่มรัฐอิสลาม ขึ้นมา สมาชิกของไอเอส ที่เป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็มาจากยุโรป
สิ่งที่เกิดขึ้นกับไอเอส ก็เหมือนสงครามในอัฟกานิสถานก่อนเขาสู่ยุคสงครามเย็น โดยคนที่ร่วมรบในอัฟกานิสถานมาจากประเทศต่างๆ เมื่อพวกเขากลับไป ก็ไปต่อต้านรัฐบาลหรือก่อเหตุรุนแรงในประเทศของตัวเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับซีเรียในปัจจุบัน มีคนต่างชาติไปร่วมรบกับไอเอส คนกลุ่มนี้เมื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ก็ถือว่ามีอันตราย และมีแนวโน้มก่อเหตุใช้ความรุนแรงในประเทศของตนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของตน
ระยะหลังฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในตะวันออกกลางสูงมาก หลังอาหรับสปริง ฝรั่งเศสเป็นแกนนำในการถล่มลิเบีย เปลี่ยนแปลงการปกครองในลิเบีย
และล่าสุดยังเป็นพันธมิตรกับสหรัฐในปฏิบัติการถล่มไอเอส เหล่านี้อาจเป็นแรงจูงใจที่นำไปสู่เหตุการณ์โจมตีกลางกรุงปารีสได้ทั้งสิ้น
สาม กระแสเติบโตของพวกชาตินิยมขวาจัดในยุโรปเอง ต้องไม่ลืมว่าหลายเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เช่น กราดยิง เป็นการกระทำของพวกขวาจัดเพื่อต่อต้านรัฐบาลของตัวเอง ฝ่ายขวาจัดเหล่านี้มีแนวคิดต่อต้านมุสลิมด้วย
สถานการณ์การอพยพจากของคนมุสลิมจากตะวันออกลางและแอฟริกาเข้าไปยุโรป ตลอดจนกระแสการเติบโตของคนอิสลามในยุโรปเอง ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับพวกขวาจัด จึงไม่สามารถตัดประเด็นพวกนี้ทิ้งไปได้
เมื่อให้มองโยงถึงสถานการณ์การก่อการร้ายในประเทศไทย หรือมีผลกับไทย ดร.ศราวุฒิ บอกว่า วันนี้ก่อความรุนแรงกระทำได้ง่ายมาก ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามสกรีนหรือกำหนดมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอย่างเข้มงวด เพราะประเทศไหนที่มาตรการเหล่านี้หละหลวม ก็จะง่ายต่อการถูกใช้วิธีรุนแรงและการก่อการร้ายเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของกลุ่มที่ดำเนินการ
อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ไม่เหมือนกับไทย เพราะฝรั่งเศสมีผู้อพยพมุสลิมจำนวนมากตั้งแต่ในอดีต และฝรั่งเศสก็เป็นเจ้าอาณานิคมในตะวันออกกลาง มีการนำคนมุสลิมไปเป็นแรงงานมานานแล้ว เมื่อคนในเจนเนอเรชั่นหลังๆ ที่เป็นมุสลิมเชื้อสายตะวันออกลางหรือแอฟริกาเติบโตขึ้นมา (โฮมโกรว์น) แล้วพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เสรีภาพอย่างเต็มที่ สภาพเศรษฐกิจสังคมก็ไม่ดี ก็เป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุรุนแรงขึ้นมาได้
"คนเหล่านี้มีลักษณะต่อต้านรัฐค่อนข้างสูง ซึ่งสภาพที่เกิดในฝรั่งเศสไม่เหมือนไทย เพราะไม่มีปัญหาแบบนี้" ดร.ศราวุฒิ ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ศราวุฒิ อารีย์