“วิฑูรย์” หวั่น หลังน้ำลดชาวนาช้ำ เหตุเมล็ดพันธุ์ข้าวส่อแววขาดแคลน
ผอ.มูลนิธิชีววิถี เผย นาข้าวภาคกลางล่ม 40% อึ้งสต็อกกรมการข้าว มีเมล็ดพันธุ์เพียง 1.2 หมื่นตัน ขณะที่ยอดความต้องการเฉียดล้าน แนะ เปลี่ยนวิธีปลูกข้าว-ระดมเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนช่วยผลิตเมล็ดพันธุ์
วันที่ 14 พฤศจิกายน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมต่อพื้นที่การเกษตรว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงมาก ซึ่งจากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 23 จังหวัด และมีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 10 ล้านไร่ โดยพื้นที่ในภาคกลาง นาข้าวถูกน้ำท่วมประมาณ 40% รองลงมาคือพื้นที่ปลูกผัก ส่วนพื้นที่เพาะปลูกชนิดอื่น ไม่ว่าจะข้าวโพดไร่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียวและถั่วลิสง ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเพาะปลูกในพื้นที่ดอน ฉะนั้น ในบรรดาผลิตทางการเกษตรทั้งหมด ‘ข้าว’ นับว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงมูลค่าเมล็ดพันธุ์ในตลาดปัจจุบัน เมล็ดพันธุ์ข้าวมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ข้าวโพดและพืชผัก มีมูลค่าตลาดรวมกันอยู่ที่ประมาณ 4,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งความต้องการเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกของเกษตรกร หลังน้ำลด หากดูจากความต้องการเมล็ดพันธุ์ในปี 2553 จะพบว่า ข้าวมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึง 1,036,650 ตัน (ดูตารางประกอบ) ขณะที่ผักมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5,600 ตัน แต่เนื่องจากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ผักส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สูงจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
“ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ข้าวจะมีปัญหาหนักที่สุด จากการตรวจสอบสต๊อกพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2554 พบว่า มีสต็อกพันธุ์ข้าวที่พร้อมจำหน่ายอยู่เพียง 12,165 ตันเท่านั้น ทั้งที่ตัวเลขปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 80,000 ตันต่อปี ซึ่งก็ทำได้น้อยกว่าความต้องการอยู่แล้ว ดังนั้น เกษตรกรบางส่วนจึงต้องหาซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่งอื่น รวมทั้งเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง แต่ขณะนี้พื้นที่ในหลายจังหวัดยังถูกน้ำท่วม ดังนั้น ความสามารถที่รัฐบาลจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับชาวบ้านมีปัญหาแน่นอน”
สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหาด้านเมล็ดพันธุ์ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ทันทีที่น้ำลด จะมีความต้องการพันธุ์ข้าวอย่างมาก ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวจำนวน 23 แห่ง นอกเขตน้ำท่วม ต้องเตรียมการ ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้พอต่อความต้องการ รวมทั้งอาจทำความร่วมมือกับเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้ามาช่วยในการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว
“ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปให้ความรู้ ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว จากวิธีการหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นวิธีการดำที่ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งขณะนี้ประเทศเวียดนามก็ใช้วิธีการดังกล่าวในการลดการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว อีกทั้งยังเป็นวิธีที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤต”
ส่วนแนวทางในระยะยาวนั้น นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ยังมีปัญหาในเรื่องการรวมศูนย์การผลิต พันธุ์พืช ทั้งพืชไร่ ผัก มีแนวโน้มถูกผูกขาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ดังนั้น จะต้องมีการกระจายการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้อยู่ในมือผู้ประกอบการมากราย รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติ
เมื่อถามถึงปัญหาที่ตามมา หากรัฐบาลไม่สามารถจัดส่งเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรได้อย่างเพียงพอ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ผลกระทบคือ ประชาชนอาจต้องซื้อข้าวแพง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดโลกและตลาดภายในประเทศลดลง ดังนั้น จึงต้องระวัง ส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรนั้น นอกจากต้องแบกรับหนี้สินจากการถูกน้ำท่วมแล้ว หากยังต้องขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูกอีก ชาวนาจะย่ำแย่ ไม่มีโอกาสฟื้นอาชีพของตนเอง ซึ่งถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เกษตรกรไม่ได้รับเมล็ดพันธุ์อย่างเพียงพอ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวเกษตรกร แต่เป็นผลกระทบจากพิบัติภัย ตลอดจนการบริหารจัดการของรัฐบาล
อย่างไรตาม นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือ การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ไม่มีมาตรฐาน เพราะในอดีตเคยมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น อีกทั้งเกรงว่าครั้งนี้จะหนักกว่าเดิม เนื่องจากมีความต้องการพันธุ์ข้าวจำนวนมาก