นักวิชาการ ม.มหิดล วอนรัฐหนุนเพิ่มงบฯ วิจัยไข้เลือดออก หลังรับเพียง 3 ล้านบาท
นักวิชาการ ม.มหิดล ชี้ไข้เลือดออกรุนแรง เหตุภูมิต้านทานข้ามสายพันธ์ุในร่างกายต่ำ เผยคนสามารถเป็นได้มากกว่าหนึ่งครั้ง ปัจจุบันไร้ยาต้าน แนะหมั่นดูแลภาชนะที่มีน้ำขังภายในบ้าน ห้ามซื้อยาลดไข้ทานเอง หากเข้าข่ายอาการ ควรพบแพทย์โดยเร็ว ยันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในป่าชายเเดนมาเลเซีย ยังไม่เเพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน
เมื่อวันที่ 13 พฤจิกายน 2558 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา Science Cafe เรื่อง “ไขความจริงทางวิทยาศาสตร์ของไข้เลือดออก” โดยมี ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล อาจารย์ประจำภาคจุลชีววิทยา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญไวรัสเดงกี่ (Dengue fever) ม.มหิดล ร่วมเป็นหนึ่งในวงเสวนา
ศ.ดร.ศุขธิดา เปิดเผยถึงความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกเกิดจากสองปัจจัยสำคัญ คือ 1. สายพันธ์ุของเชื้อไวรัส 2. ภูมิต้านทานของร่างกายต่อการข้ามสายพันธ์ุของไวรัส
โดยเฉพาะภูมิต้านทานของร่างกายต่อการข้ามสายพันธุ์ของไวรัสต้องให้ความสำคัญ เพราะปกติคนเรามักจะมีภูมิคุ้มกันเชื้อเหล่านี้อยู่เเล้ว หากโดนยุงกัดในครั้งแรก ร่างกายจะสร้างภูมิกันขึ้นมาตลอดชีวิต แต่จะมีภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นในระยะสั้น ๆ ซึ่งเมื่อภาวะภูมิคุ้มกันในการข้ามสายพันธ์ุต่ำ แล้วได้เชื้อไวรัสต่างสายพันธ์ุเข้าไป ความรุนแรงอาจสูงขึ้น
"คนหนึ่งสามารถเป็นไข้เลือดออกได้หลายครั้ง หากได้รับเชื้อต่างสายพันธ์ุกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนมีอัตราความเสี่ยงต่อโรคเท่า ๆ กัน"
นักวิชาการ ม.มหิดล กล่าวต่อว่า การป้องกันและรักษาในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสไข้เลือดออก เเละถึงมีก็ไม่สามารถให้ได้ทัน เพราะลักษณะอาการของโรคไข้เลือดออกนั้นกว่าจะตรวจพบก็มักอยู่ในช่วงที่ไม่สามารถให้ยาต้านได้เเล้ว ความหวังจึงอยู่ที่วัคซีนป้องกัน
โดยในประเทศไทยนั้นมีกลุ่มนักวิจัยที่สามารถเชื้อไวรัสแดงกี่อ่อนฤทธิ์ลงได้ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาออกมาเป็นวัคซีนได้ เเตกต่างจากสถาบันในต่างประเทศที่สามารถพัฒนาวัคซีนออกมาได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพในการใช้งานยังอยู่ที่ 60 % เท่านั้น จึงยังไม่มีการขึ้นทะเบียนนำมาใช้กับคน
"ขณะนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มอบทุนนักศึกษาปริญญาเอก โครงการกาญจนา ภิเษก เพื่อพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป ให้การวิจัยสำเร็จลุล่วง" ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าว เเละว่า บริษัทต่างประเทศที่ผลิตวัคซีนในปัจจุบันได้รับงบประมาณในการวิจัยกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ แต่นักวิจัยไทยกลับได้งบประมาณวิจัยเรื่องวัคซีนเดงกี่เพียง 3 ล้านบาท
นักวิจัยไทยจึงต้องต่อสู้ด้วยใจจริง ๆ เพราะเงินสนับสนุนน้อย แต่มั่นใจว่าประสิทธิภาพของไทยไม่อ่อนด้อยแน่นอน อย่างไรก็ตาม จะเป็นการดีกว่านี้มาก หากมีการสนับสนุนในด้านเม็ดเงินสำหรับวิจัยที่มากขึ้น พร้อมทั้งผลิตบุคลากรด้านนี้เพิ่มมากขึ้น
นักวิชาการ ม.มหิดล ยังกล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องไข้เลือดออกสายพันธ์ุใหม่ว่าปัจจุบันพบการระบาดเพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้น เเละล่าสุดมีการค้นพบสายพันธ์ุใหม่ บริเวณป่าในแถบชายแดนมาเลเซีย แต่ยังไม่พบการเเพร่กระจายของเชื้อจากสัตว์สู่คน
"ภาวะอากาศที่เปลี่ยนเเปลงมีส่วนทำให้วงจรของยุงเปลี่ยนเเปลงไปเช่นกัน โดยจะมีการพัฒนาตัวอ่อนเร็วขึ้น ทั้งนี้ ยุงลายจะเกิดจากน้ำสะอาด ฉะนั้นแจกัน เเละภาชนะเก็บน้ำต่าง ๆ ในบ้าน ควรหมั่นดูแลทำความสะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1ครั้ง เมื่อใดพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่คนเดียวตามหอพักต่าง ๆ เบื้องต้นต้องตรวจเช็คอาการป่วยของตัวเองว่าเข้าข่ายหรือไม่ เเต่ทางที่ดีควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ห้ามซื้อยารับประทานเองโดยเด็ดขาด" ศ.ดร.ศุขธิดา กล่าว .