ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการต่อการประมูลคลื่น 4G
"เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการเคาะราคาหลายรอบจนข้ามวันข้ามคืน เพียงแต่เป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในประเทศไทยมาก่อน เพราะน้อยครั้งที่จะมีเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง คนไทยเราจึงคุ้นเคยกับการ “ฮั้ว” มากกว่าการแข่งขัน"
จากกรณีการประมูล 4 จี ที่เพื่อนสื่อมวลชนให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดแถลงข่าวแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว เมื่อเวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการแข่งขันกันในการประมูลคลื่น 1800 MHz นั้นว่า มากกว่าความคาดหมาย และที่สบายใจคือ ไม่ปรากฏการสมคบกันด้านราคาในการประมูล 4G ครั้งนี้ ซึ่งแตกต่างจากการประมูล 3G ที่ผ่านมา ที่แทบไม่มีการแข่งขันด้านราคา
"เมื่อมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการเคาะราคาหลายรอบจนข้ามวันข้ามคืน เพียงแต่เป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยในประเทศไทยมาก่อน เพราะน้อยครั้งที่จะมีเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง คนไทยเราจึงคุ้นเคยกับการ “ฮั้ว” มากกว่าการแข่งขัน"
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในเยอรมนี มีการประมูลคลื่น 4G ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 โดยมีการเคาะราคา 181 รอบ ใช้เวลา 16 วัน ได้เงิน 5 พันล้านยูโร หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ในอีกหลายประเทศ ก็มีการประมูลคลื่น 4G โดยมีการแข่งขันกันมาก เพราะคลื่น 4G คือหัวใจของการประกอบธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ทำไมจึงมีการแข่งขันกันมาก?
สาเหตุที่มีการแข่งขันในการประมูลคลื่น 1800 MHz มากน่าจะมาจากปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการคือ
1. มีรายใหม่คือ จัสมิน เข้าร่วมประมูลด้วย
2. ไม่มีข้อจำกัดเพดานในการถือครองคลื่นสูงสุดของผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งส่วนนี้ต้องให้เครดิตแก่ กสทช. ที่ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว หลังได้รับเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย
3. มีการเลื่อนวันประมูลคลื่น 900 MHz ไปเดือนธันวาคม 2558 แทนการประมูลในวันรุ่งขึ้นตามแผนเดิมของ กสทช. ซึ่งทำให้ยากที่ผู้ประกอบการจะสมคบราคากัน ในส่วนนี้ ต้องให้เครดิตแก่รัฐบาล ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความโปร่งใสและการประมูลที่ไร้ข้อครหา
มูลค่าประมูลสูงเกินไปหรือไม่?
ราคาประมูลเกิดขึ้นจากการพิจารณาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูล ซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารมืออาชีพในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ละรายมีการทำแบบจำลองทางการเงินและมีข้อมูลครบถ้วนที่ทำให้ทราบว่า มูลค่าคลื่นที่เหมาะสมสำหรับตนอยู่เท่าใด
ในทางวิชาการ หากมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ที่มีข้อมูลครบถ้วน ราคาที่ได้จากการประมูลจะเป็น “ราคาที่เหมาะสม” ไม่ใช่ราคาที่สูงหรือต่ำเกินไป อันที่จริง การที่เราไม่ทราบ “มูลค่าที่แท้จริง” ของคลื่นความถี่ เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลเพื่อให้ทราบ “มูลค่าที่แท้จริง” การประมูลคลื่นความถี่จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่าการจัดสรรคลื่นด้วยวิธีอื่น
ในอีกด้านหนึ่ง การที่มูลค่าประมูลสูงเกินราคาตั้งต้นไปมาก อาจสะท้อนว่า ราคาตั้งต้นของ กสทช. นั้นต่ำเกินไปมาก ซึ่งจะเกิดความเสียหายได้ หากไม่มีการแข่งขันด้านราคา แต่ในกรณีนี้ ไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากมีการแข่งขันอย่างเพียงพอ
มูลค่าประมูลที่สูงจะทำให้ราคาค่าบริการแพงหรือไม่?
มูลค่าประมูลไม่มีผลต่อราคาค่าบริการ เพราะค่าบริการจะขึ้นกับความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้บริโภค (ดีมานด์) และการแข่งขันในตลาด (ซัพพลาย) ไม่ได้ขึ้นกับมูลค่าประมูล มูลค่าประมูลเป็นเพียงการแบ่งกำไรของผู้ประกอบการมาให้รัฐเท่านั้น ทั้งนี้ กำไรของผู้ประกอบการที่ได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้สะท้อนออกมาในราคาหุ้นของผู้เข้าประมูลที่ปรับตัวลดลง
การแข่งขันประมูลเพื่อเข้าตลาด และการแข่งขันกันหลังจากนั้น ย่อมมีความเสี่ยงด้านธุรกิจตามปรกติ (normal business risk) เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น และไม่มีหลักประกันว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะประสบความเร็จ ในอนาคต ผู้ให้บริการ 4G บางรายอาจขาดทุนซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปรกติ ข้อควรระวังก็คือ อย่าให้มีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและนโยบายของรัฐ (regulatory risk) ที่ไปกระทบต่อผู้ประกอบการ
มูลค่าคลื่น 900 MHz จะสูงเหมือนคลื่น 1800 MHz หรือไม่?
โดยหลักแล้ว คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เป็นคลื่นที่ใช้สำหรับบริการเดียวกัน จึงเป็นของที่ทดแทนกันได้ หากการประมูลคลื่น 900 MHz มีการแข่งขันอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับการประมูลคลื่น 1800 MHz มูลค่าคลื่น 900 MHz น่าจะไม่แตกต่างจากคลื่น 1800 MHz มาก แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างจากคุณสมบัติทางกายภาพของคลื่นในแต่ละย่านที่ไม่เหมือนกัน และการถือครองคลื่นในปัจจุบันของผู้ประกอบการ
ข้อควรระวัง
เมื่อการประมูลคลื่น 1800 MHz จบสิ้นลง แรงจูงใจของผู้ประกอบการแต่ละรายก็จะเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่ประมูลได้คลื่น 1800 MHz อาจต้องการให้การประมูลคลื่น 900 MHz ล่าช้าออกไปหรือล้มการประมูลไปเลย เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของตน ในขณะที่ผู้ที่ประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ได้ อาจต้องการให้มีการล้มการประมูลคลื่นในรอบนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประเทศ รัฐบาลและ กสทช. จึงควรระวัง 3 เรื่องดังต่อไปนี้
1. อย่าให้มีการล้มการประมูลคลื่น 1800 MHz และอย่าให้มีการล้มหรือเลื่อนการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ว่าจะโดยเกิดจากการฟ้องศาลของรัฐวิสาหกิจ หรือด้วยเหตุอื่น เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดในบริการ 4G และผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ กสทช.
2. อย่ายอมให้เกิดบริการนอกระบบใบอนุญาต เช่น การไปแอบทำสัมปทานเพื่อใช้คลื่นของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในระหว่างผู้ประกอบการ
3. อย่าอุ้มผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นไป แล้วอ้างว่าขาดทุนในการประกอบการ เช่น ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือผ่อนเพลากฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆ โดยไม่เหมาะสม
ในขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลและ กสทช.ควรทำคือ
1. คุ้มครองผู้บริโภคในด้านราคาและคุณภาพบริการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล
2. กำหนดกติกาที่ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในลักษณะที่ส่งเสริมการแข่งขันเช่น การให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
3. นำรายได้จากการประมูลบางส่วนไปปรับโครงสร้างและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเร่งหาพันธมิตรธุรกิจให้แก่รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/ONBTC