องค์กรโปร่งใสฯ เสนอกองทัพไทยปฏิรูป 4 ด้านป้องกันหัวคิว 40%-ตัดตอนมาเฟีย
'องค์กรเพื่อความโปร่งใส'เผยผลสำรวจว่าด้วยดัชนีการป้องกันคอร์รัปชันในกองทัพ ชี้ไทยได้ระดับ 'E' มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดทุจริต ร่วมกับ จีน ปากีสถาน ศรีลังกา ขณะที่ นิวซีแลนด์ เสี่ยงน้อยสุดในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก
เมื่อ 4 พ.ย. 2558 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เผยแพร่ “รายงานดัชนีป้องกันคอร์รัปชั่นในกองทัพ (Government defence Anti – Corruption Index - GI) ซึ่งจัดทำสำรวจการคอรัปชั่นในกองทัพ โดยมีคำถามย่อย 77 คำถามจากหลักเกณฑ์ทั้งหมด5 ด้านได้แก่ 1. ด้านการเมืองการปกครอง 2. ด้านงบประมาณ การคลัง 3. ด้านบุคลากร 4. ด้านการดำเนินงาน และ 5. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
โดยการสำรวจนี้ แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการสำรวจทั้งหมด 17 ประเทศ โดยการจัดลำดับแบ่งเป็น 6 ระดับ A-F (จากดีที่สุดไปแย่ที่สุด)
การสำรวจครั้งนี้ "นิวซีแลนด์" เป็นประเทศเดียวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม A คือโปร่งใสที่สุด รองลงมาคือ ออสเตรเลีย
ในขณะที่กลุ่มประเทศอย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย และบังกลาเทศ อยู่ในระดับ D ซึ่งถือว่าในอันดับที่ดีกว่าไทย โดยประเทศไทยอยู่ในระดับ E ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดคอร์รัปชั่นในกองทัพ สำหรับกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกับไทย ได้แก่ จีน ปากีสถาน ศรีลังกา
ส่วนของกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ได้ระดับ F จำนวน 2 ประเทศ คือ กัมพูชาและพม่า
ทั้งนี้ ในบทสรุปและข้อเสนอเกี่ยวกับประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ชี้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว ประเทศไทยไม่มีการตรวจสอบนโยบายป้องกันประเทศที่เป็นอิสระโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งยังขาดความโปร่งใสด้านงบประมาณ และไม่มีมาตรการขององค์กรที่เพียงพอในการตรวจสอบวงจรการจัดซื้อจัดจ้าง ในขณะเดียวกันองค์กรต่อต้านการทุจริตที่ตั้งขึ้นก่อนการรัฐประหาร เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซี่งยังคงมีสถานะทางกฎหมายอยู่ ก็ไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะกำจัดความเกี่ยวพันของทหารกับเครือข่ายอาชญากรรมในภาคใต้ของไทย ความเสี่ยงด้านการทุจริตดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐแล้ว ยังเป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อประชาชนอีกด้วย
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติมีข้อชี้แนะดังนี้
1) จัดให้มีการกำกับดูแลนโยบายและงบประมาณด้านการป้องกันประเทศโดยพลเรือน
ตั้งแต่การรัฐประการเป็นต้นมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังไม่มีการเผยแพร่งบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งดูเหมือนว่าข้อมูลส่วนใหญ่ในงบประมาณฉบับนี้จะถูกระบุว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนั้นยังไม่มีคณะกรรมการด้านงบประมาณของรัฐสภาซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายของฝ่ายทหารอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่มีความชัดเจนเรื่องกลไกการตรวจสอบภายในของฝ่ายความมั่นคงเอง
ดังนั้น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจึงเสนอให้รัฐบาลไทยตีพิมพ์เผยแพร่งบประมาณประจำปีด้านการทหาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลการใช้จ่ายโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยและออกแบบ การฝึกอบรม เงินเดือน การเข้าซื้อกิจการ การขายทรัพย์สิน, การบำรุงรักษา และการใช้จ่ายของบุคคล
นอกจากนั้นการกำกับดูแลนโยบายป้องกันประเทศโดยฝ่ายพลเรือน การตรวจสอบบัญชีโดยผู้ตรวจสอบภายนอก การกำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะสามารถเป็นหลักประกันได้ว่าการการใช้จ่ายในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือต่างๆเป็นไปอย่างสอดคล้องกับความต้องการด้านยุทธศาสตร์ของประเทศ
2) กำจัดเครือข่ายอาชญากรรมในกองทัพ
รายงานดังกล่าวระบุว่า ในขณะที่มีตัวอย่างที่กว้างขวางที่ชี้ว่าหน่วยทหารหรือบุคลกรจากกองทัพมีความเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอาชญากรรมต่างๆที่มีการจัดตั้งหรือมีความซับซ้อน แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆว่า รัฐบาลหรือฝ่ายทหารเองมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาร้ายแรงและลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง มีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับความเกี่ยวพันของทหารกับเครือข่ายอาชญากรรมที่เชื่อมโยงกับยาเสพย์ติด การค้าประเวณี การค้ามนุษย์ และบ่อนเถื่อน ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้มีทหารและบุคลากรของกำลังรบกึ่งทหารทั้งในระดับสูงและระดับล่างเข้ามีส่วนร่วมเป็นส่วนตัว หลักฐานที่มีอยู่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับเงิน “ค่าคุ้มครอง” อย่างผิดกฎหมายแลกกับการอนุญาตให้การปฏิบัติงานของผู้มีอิธิพล หรือมาเฟีย ดำเนินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้อาจทำได้ยากเนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเสียเอง จึงขอเสนอให้ประเทศไทยมีท่าทีที่ชัดเจนให้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และพยายามหาทางให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นอิสระและดำเนินการได้มีผลกระทบมากขึ้น
3) กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นที่ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เส้นสาย
ขณะนี้มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลกรระดับอาวุโสในองค์กรความมั่นคงต่างๆที่มีอยู่ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเสนอว่าต้องมีกฎหมายที่กระชับรัดกุมในการคัดเลือกเลื่อนขั้นบุคลากรทางทหารในระดับกลางและระดับสูง ด้วยระบบที่เป็นอิสระและโปร่งใส โดยตำแหน่งหน้าที่ และกระบวนการการประเมินผล รวมทั้งการกำกับดูแลที่เป็นอิสระ จะต้องมีการเขียนไว้อย่างเป็นทางการและเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกัน
นอกจากนั้น รายงานฉบับนี้ยังระบุเรื่องกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างของฝ่ายความมั่นคงว่า สามารถพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานว่าในทางปฏิบัติมักจะมีเหล่านายหน้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ก่อนที่หน่วยงานนั้นๆจะแจ้งรายละเอียดเรื่องหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างไปยังกระทรวงกลาโหม จากการสำรวจพบว่าปัญหานี้ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นสูงถึง 30 – 40 เปอร์เซนต์
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยังมองด้วยว่า การคอรัปชันของไทยไม่ใช่แค่เพียงบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ ทว่ายังกัดกร่อนฐานความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชนชาวไทยลงไปด้วย
และยังแนะด้วยว่า หากรัฐต้องการสร้างความเข้มเเข็งให้เกิดขึ้นในองค์กร ทุกการจัดซื้อต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส องค์กรภายนอกสามารถตรวจสอบอย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม และให้มีการลงโทษอย่างจริงจังในกรณีที่พบการทุจริต
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ คสช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบก่อนว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติใช้หลักเกณฑ์อะไรในการประเมิน และมีจุดไหนบ้างที่พาดพิงกองทัพบก หลังจากนั้นจึงจะรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาให้ทราบ ซึ่งวันนี้ก็มีหลายฝ่ายโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลในส่วนนี้เช่นกัน
อ่านประกอบ:http://government.defenceindex.org/view-report-dataset/