คนทำสื่อฯ แนะใช้ความเป็นมืออาชีพเข้าไปเล่นโลกออนไลน์สร้างความถูกต้อง
มรภ.สวนสุนันทา จัดเวทีปฏิรูปสื่อฯ 'บรรยงค์ สุวรรณผ่อง' เเนะวิจัยศึกษาข้อดี-เสีย ก่อนใช้ กม.ควบคุมสื่อมวลชน หวั่นลิดรอนเสรีภาพ 'ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์' ชี้ผู้เสพข่าวเริ่มตื่นรู้ รับไม่ได้เสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 สาขาวารสารสนเทศ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จัดโครงการสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ปฏิรูปสื่อมวลชน ปฏิวัติคนข่าวคุณภาพ ณ ห้องประชุมพาณิชย์กุล ชั้น 4 อาคาร 14 โรงเรียนสาธิตสวนสุนันทา
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่ามหาวิทยาลัยสอนจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะเหตุใดสื่อมวลชนจึงแย่ลง ความจริงแล้ว วิชาชีพนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้เรียนจบนิเทศศาสตร์เท่านั้น เพราะสิ่งนี้คือเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ผู้ไม่ได้เรียนจบนิเทศศาสตร์มาโดยตรงบางคนทำหน้าที่สื่อมวลชนได้ดีกว่าอีก เเต่คนกลุ่มนี้จะไม่ได้เรียนวิชาจริยธรรมสื่อมวลชน
“ถ้าเจ้าของสื่อมีนโยบายที่ชัดเจน คำถามคือ สื่อจะเป็นอย่างปัจจุบันหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาจึงสะสมในระดับหนึ่ง จนถึงจุดระเบิด เมื่อการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะช่วงรัฐประหาร ทำให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอให้มีการปฏิรูปสื่อมวลชน” ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุฯ กล่าว และว่า สื่อมวลชนกำลังตกเป็นจำเลยสัปดาห์ละครั้ง ถึงขนาดถูกกล่าวหาบ่อนทำลาย กุข่าว และอื่น ๆ ที่ถูกการเมืองเหมารวมใช้ไม่ได้
นายบรรยงค์ ยังกล่าวถึงการพิจารณานำกฎหมายสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ซึ่งมีการถกเถียงกันมามากว่า ประเด็นอยู่ที่แค่ไหนที่ตาชั่งจะรับได้ ดังนั้นการศึกษาวิจัยจึงมีความสำคัญ แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนเลย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อมวลชนกังวลเหลือเกิน คือ หากมีการนำกฎหมายมาใช้ จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ
ด้าน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนในอดีตและปัจจุบันว่า ในเชิงเนื้อหาไม่แตกต่างกัน โดยยังเห็นภาพศพหรือวาบหวิวขึ้นอยู่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ เนื่องจากผู้ชมนิยมบริโภคสื่อลักษณะนี้ แต่หากมองในฐานะผู้ผลิตสื่อ เรากำลังผลิตซ้ำข้อมูลชุดเดิมหรือไม่ ดังเช่น (ปอ) ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดง ป่วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนำภาพขณะนอนรักษาตัวบนเตียงเผยแพร่ ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม
“แม้คนบางกลุ่มจะนิยมบริโภค แต่เราเริ่มเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ชอบ พิสูจน์ได้จาก มีการแสดงความคิดเห็นใต้ภาพข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นในเชิงประณาม” นักวิชาการ ม.หอการค้าไทย กล่าว และว่า ขณะเดียวกัน นักข่าวจะโดนตั้งคำถามจากคนในแวดวงเดียวกันถึงการทำหน้าที่ ฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า แม้ข่าวขายได้ มีคนกดถูกใจจำนวนมาก แต่เครดิตความน่าเชื่อถือจะลดลงเรื่อย ๆ
ขณะที่ นายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV กล่าวว่า ผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักข่าวภาคสนาม จึงเกิดความผิดพลาด เพราะความไม่รู้ โดยมีหลักวัดความสำเร็จเพียงยอดกดถูกใจ และแชร์ ในโซเซียลมีเดีย ทำให้การนำเสนอภาพข่าว หรือพาดหัวข่าว ต้องน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม รับประกันว่า คนดีมีจำนวนมากกว่าคนไม่ดี แต่ผู้ชมมักตำหนิเหมารวม มิได้เจาะจงสื่อมวลชนที่ทำผิด
สำหรับสิ่งที่สื่อมวลชนทำขณะนี้เพื่อหวังได้เรตติ้งสูง บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTV ตั้งคำถามว่า อีก 5 ปีข้างหน้า จะยังเป็นแบบนี้หรือสวนทาง ทำให้ผู้ชมออกห่างไปเรื่อย ๆ โดยคนปรับตัวช้า คิดช้า และพัฒนาช้า จะกลายเป็นผู้แพ้ อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรับสภาพไม่ไหว จนต้องสร้างอะไรมาครอบ เพราะจะกลายเป็นลิดรอนสิทธิเสรีภาพ นำไปสู่การล้มกระดานได้ ซึ่งการกลับมานับหนึ่งใหม่จะยากกว่าเดิม
“โลกธุรกิจมักจะต่อต้านสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันวงการสื่อมวลชนก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งวันนี้บุคลากรคนใดเริ่มช้า จะเป็นผู้แพ้” นายสถาพร กล่าว และว่า เราต้องใช้ความเป็นมืออาชีพเข้าไปเล่นในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างความถูกต้อง เกิดสไตล์บุ๊ก และการพัฒนาในภาพรวม ทั้งนี้ เจ้านายของสื่อมวลชน คือ ประชาชน ไม่ใช่นายทุนหรือสปอนเซอร์ ดังนั้น นายทุนและสปอนเซอร์จึงลงทุนในสิ่งที่ประชาชนยอมรับ .