ป้องกันไอ้โม่ง! กรธ.ผุดไอเดียให้พรรคกำหนดชื่อคนนั่งนายกฯก่อนเลือกตั้ง
กรธ. ผุดไอเดียให้พรรคการเมืองกำหนดชื่อคนนั่งนายกฯก่อนเลือกตั้ง ยันป้องกัน ‘ไอ้โม่ง’ เซอร์ไพรส์ประชาชน ‘มีชัย’ เห็นด้วย เผยเป็นแนวทางผสมผสาน-ออมชอม ชี้ทำให้ประชาธิปไตยก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง แย้มก่อนเลือกตั้งไม่มีใครเป็น ส.ส.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีการประชุมพิจารณาเรื่องโครงสร้างของฝ่ายบริหาร เสนอโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ในการประชุมวันนี้ คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร เสนอโครงสร้างระดับการเมือง ประเด็นที่มาของนายกฯ โดยแบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่ 1.นายกฯมาจาก ส.ส. 2.บุคคลใด ๆ ที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนด (คนนอก) 3.เป็นทางเลือกใหม่ คือให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลทีต้องการให้เป็นนายกฯ อาจจะเป็นกี่ชื่อก็ได้ แต่คิดไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดพรรคต้องส่งคนละ 1 ชื่อ และให้แจ้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อบันทึกไว้ว่าบุคคลดังกล่าวพรรคต้องการให้เป็นนายกฯ และถ้าพรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก หรือพรรคใดพรรคหนึ่งร่วมมือกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเลือกนายกฯจากบุคคลเหล่านั้น
สำหรับข้อดีของระบบนี้คือ นายกฯจะมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภา และประชาชนจะไม่เซอร์ไพรส์ เพราะได้เห็นรายชื่อคนที่อาจจะเป็นนายกฯก่อนที่จะตัดสินใจลงคะแนน ไม่ใช่เอาใครมาเป็นก็ได้ ป้องกันไอ้โม่ง ส่วนจุดอ่อนคือ สภาอาจเลือกได้แค่รายชื่อตามที่พรรคเสียงข้างมากเสนอไว้เท่านั้น นอกเหนือจากรายชื่อไม่ได้ ขณะเดียวกันประชาชนอาจยังไม่มีความเข้าใจในระบบนี้เพียงพอ
ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯน่าคิด เพราะประเทศนี้วนเวียนกับปัญหานายกฯเป็น ส.ส. หรือไม่เป็นมาโดยตลอด ไม่รู้แก้อย่างไร ปัญหานี้เกิดจากวิกฤติที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แต่ในเมื่อให้สภาเป็นคนเลือก ทำไมต้องจำกัดด้วยว่าสภาจะเลือกจากใคร ในเมื่อ ส.ส. เป็นคนเลือกก็ควรเปิดโอกาสให้เลือก ส่วนจะให้เลือกนายกฯโดยตรงอย่างที่มีคนพูด ๆ กันมันก็เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทยที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัญหายุ่งยากจะตามมาอีกมาก
นายมีชัย กล่าวอีกว่า วิธีที่คณะอนุกรรมการฯเสนอมาคิดว่าเป็นวิธีที่ผสมผสานและออมชอม คือทำให้แต่ละพรรคต้องวางแผนคัดตัวจะเอาใครมานำเสนอให้ประชานได้เห็นว่า ถ้าได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะเอาใครมาเป็นนายกฯ แปลว่าในวันที่ประชาชนลงคะแนนจะรู้ว่าใครเป็น ส.ส. ของตัวเอง และใครจะมีโอกาสเป็นนายกฯ ซึ่งคนที่ไปทาบทามให้มีชื่อเป็นนายกฯนั้นจะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดมาตรฐานของคนที่ถูกทาบทามให้มีชื่อเป็นนายกฯด้วย
“วิธีนี้คิดว่ามันน่าจะทำให้ประชาธิปไตยเดินก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้รู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศในการบริหารบ้านเมือง” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย กล่าวถึงข้อดีของระบบนี้ว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯถูกผ่านการเห็นชอบจากประชาชนมาทางอ้อมแล้ว เพราะถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดให้การสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป พรรคต้องเสนอรายชื่อ สมมติว่า 5 คนหรืออย่างน้อย 1 คนอย่างที่คณะอนุกรรมการฯระบุ และแจ้งชื่อไว้ที่ กกต. พร้อมกับนำไปโฆษณาหาเสียง คนจะรู้เลยว่าถ้าพรรคนี้เป็นรัฐบาลจะเสนอคนเหล่านี้เป็นนายกฯ และถ้าเสนอมากกว่าหนึ่งชื่อโอกาสเลือกจะมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคเลือกใครตามอำเภอใจ โดยที่ประชาชนไม่รู้ไม่เห็นมาก่อน เพราะการเลือกนายกฯจะถูกจำกัดอยู่ในชื่อนั้น ๆ และเวลาประชาชนลงคะแนนจะมีความหมายมากขึ้น เพราะเลือกอะไรหลายอย่างทั้งพรรค ทั้งคน และคนที่มาเป็นนายกฯ สุดท้ายพรรคได้รับการมองจากประชาชนที่เข้มงวด เพราะต้องคิดอ่านล่วงหน้าว่า เมื่อชนะเลือกตั้งแล้วจะนำใครมาเป็นนายกฯ
ส่วนปัญหาหรือจุดอ่อนนั้น นายมีชัย กล่าวว่า อย่างน้อยต้องมีการเสนอชื่อหนึ่งชื่อ หรือสมมติเสนอไว้ไม่เกิน 5 คน แต่ถ้ามีพรรคเล็กไม่กำหนดก็ไม่เป็นไร เพราะพรรคเหล่านั้นคิดว่ายังไงก็ไม่ได้เป็นไม่รู้จะกำหนดอย่างไร หรือกำหนดซ้ำก็ไม่เห็นเป็นไร แต่ต้องรอดูรายละเอียด อนาคตอาจห้ามกำหนดซ้ำก็ได้
ประธาน กรธ. กล่าวอีกว่า คนที่มีชื่อตามที่พรรคกำหนดต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ คำตอบคือในวันที่พรรคกำหนดชื่อยังไม่มีใครเป็น ส.ส. เพราะยังไม่มีการเลือก ส่วนจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือไม่ อันนี้ไม่น่าจะต้องไปบังคับ ถ้าไปเอาเถ้าแก้ที่ไหนมา ประชาชนชอบ ก็ไม่เห็นเป็นไร ให้ประชาชนตัดสินใจ ถ้าใช้วิธีนั้นแล้วคิดในรายละเอียดให้ดี อาจเป็นวิธีการที่ทำให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าอีกก้าว มากกว่าเถียงกันว่าเป็น ส.ส. หรือไม่เป็น ส.ส. แค่นี้เถียงกันจนตายก็ไม่มีใครชนะ