สธ.ยันยังไม่พบไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ในไทย
กระทรวงสาธารณสุข เผยยังไม่พบไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ชี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ระบุประชาชนต้องดูแลกำจัดลูกน้ำ และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านตนเองทุก 7 วัน แนะประชาชนที่เป็นไข้สูงลอยติดต่อกัน 1 – 2 วัน กินอาหารไม่ได้ อาเจียน รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
ภายหลังจากโรงพยาบาลรามาธิบดีแถลงข่าวความคืบหน้าอาการไข้เลือดออกของพระเอกหนุ่มปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ช่วงเช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 พบว่ามีอาการแทรกซ้อนจากอาการไข้เลือดออก คือมีเลือดออกในอวัยยะภายในร่างกาย ไตวายเฉียบพลัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจว่ามีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในไทย กระทั่งล่าสุดนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงผ่านเว็บไซต์รัฐบาลไทยถึงกรณีดังกล่าว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงขณะนี้ พบผู้ป่วยแล้วกว่า 100,000 ราย ขณะที่ในปี 2556 พบผู้ป่วย 150,000 ราย และในปี 2557 ลดลงประมาณ 40,000 ราย มักพบการระบาดปีเว้นปี กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตรียมการป้องกัน เตือนประชาชน โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่เคยมีการระบาด เนื่องจากมีฝนตกเป็นระยะๆ เริ่มพบที่ภาคเหนือ และภาคกลาง เช่น ระยอง เพชรบุรี และกทม. จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยแต่ละจังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจประเมินลูกน้ำยุงลาย ยังพบตามภาชนะที่มีน้ำขังอยู่บริเวณบ้าน วัด และโรงเรียนมีลูกน้ำยุงลาย และเกิดเป็นตัวยุง ซึ่งได้กำชับให้สถานบริการในสังกัดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล รณรงค์ให้ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ร่วมมือร่วมใจกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ติดต่อกันทุกสัปดาห์ กำจัดขยะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงสม่ำเสมอ รวมทั้งป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด ด้วยการนอนในมุง สวมเสื้อแขนยาว ขายาว ใช้ยาทากันยุง กำจัดยุงตัวแก่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยขอให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการพ่นหมอกควัน ควบคุมการระบาดของโรค
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยนั้น โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งจะใช้เวลาฟักตัวสำหรับผู้ที่ถูกกัดประมาณ 5-8 วัน จึงจะทำให้เกิดอาการของโรค พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
ด้านนายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือมีไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟชบุ๊กโรงพยาบาลศิริราชและเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุุข