อย่าปล่อยให้ (ยุง)ฆาตกร (ร้อยศพ) ลอยนวล
"ทำไม ไปหาหมอไม่รู้กี่ครั้ง หมอไม่รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก มารู้ ก็จวนแย่แล้วถ้าลูกชั้นเป็นอะไร ฉันจะฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล..."
ยุงลายกัดคน..ป่วยเป็นไข้เลือดออกตาย..แต่แพทย์ผู้รักษาอาจเป็นจำเลย..?
ผมหนาวใจ เมื่อเห็นกราฟ ป่วยตายปีนี้มากขึ้น 2.5เท่า ..เดาว่าคดีฟ้องร้องหมอต้องมากตาม...ขอเอาเรื่องเก่าๆมา post ใหม่นะครับ
..หน้าห้องไอซียู...
แม่ของเด็กหญิง เดินไปมาอย่างกระสับกระส่าย เธอบ่นกับญาติว่า
"ทำไม ไปหาหมอไม่รู้กี่ครั้ง หมอไม่รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก มารู้ ก็จวนแย่แล้ว"
"ถ้าลูกชั้นเป็นอะไร ฉันจะฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล..."
เธอเอ่ยถึงชื่อ "คลินิก" และ "โรงพยาบาล" ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกสาวเป็นโรคไข้เลือดออก ...ด้วยความรักลูก ความเครียด กังวล และ เสียใจ..ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ !!
----------------------------------------------
บทที่1*
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่สร้างความสับสนให้กับทั้งแพทย์และคนไข้มากที่สุด ด้วยอาการที่เริ่มต้นด้วยลักษณะเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการไข้อย่างเดียวนำมาก่อน โดยไม่มีการออกอาการเฉพาะใดๆ ในวันแรกๆ หมอทั้งร้อยคน หากตรวจวินิจฉัยตามตำราย่อมแยกออกแทบไม่ได้ ต้องอาศัยการติดตาม ตัวคนไข้ว่าหากรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น นัดตรวจ ติดตามดูอาการอื่นๆ ที่จะปรากฏร่วมเช่น คลื่นไส้อาเจียน จนถึงปวดท้อง (ซึ่งก็คล้ายกับไข้หวัดลงกระเพาะลำไส้ อยู่ดี) ในระยะนี้ บางทีก็จะชวนสงสัยได้ยาก แม้รัดแขนก็อาจไม่สามารถบ่งได้ว่าเป็นไข้เลือดออก
กว่าจะมีอาการ "จำเพาะ" ของกลุ่มไวรัสนี้ก็เช่น เกร็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออก หรือมีเลือดออกที่ต่างๆ ในร่างกาย ก็เป็นระยะท้ายๆ ที่มักมีอาการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก แต่ยังโชคดีที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็น ไข้เด็งกี่ (Dengue Fever) แล้วกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยไม่เข้าสู่สภาวะช็อก ที่เรียกว่า เด็งกี่ช็อกซินโดรม (Dengue Shock Syndrome- DSS) ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต ทำให้แพทย์ต้องเฝ้าใกล้ชิดในไอซียู แก้ปัญหาช็อกและต่อสู้กับกลไกเลือดออกไม่หยุด ด้วยการที่สมดุลน้ำเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รวมถึงให้เกร็ดเลือด (ซึ่งหาได้ยาก-แม้ กาชาดเองหรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพ ที่จะพอเหมาะเข้ากันได้กับคนไข้ ซ้ำยังต้องใช้ปริมาณมหาศาล และอาจหาไม่ได้เลยในรพ.ต่างจังหวัด)
ขณะช็อกคนไข้ต้องการน้ำเพื่อพยุงความดัน แต่หากกระบวนการช๊อกหยุด น้ำที่ให้เพื่อแก้อาการช๊อกเป็นลิตรๆ ที่กู้ให้หัวใจไม่ล้มเหลวตายในระหว่างช๊อก จะพร้อมใจกันกลับเข้าเส้นเลือดจนท่วมท้นปอดหัวใจ
โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยง่าย (แม้จะมีแพทย์จะเฝ้าอยู่ข้างเตียง ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ทัน)ไม่รวมถึงการมีเลือดออกในสมองและอวัยวะต่างๆ ที่ถึงจะให้เกร็ดเลือดไปก็อาจไม่ทำงาน โดยโรคเอง ด้วยซ้ำ ทั้งนี้รวมถึงในระดับโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่า จุฬาฯ ศิริราชฯ หรือรามาฯ เอง ก็เคยมีเสียชีวิตในลักษณะนี้มาแล้วทั้งสิ้น
บทที่2 *ปัญหาของโรคนี้ ในสังคมเมื่อเกิดขึ้นแล้วคือ
1."ทำไมหมอไม่บอกตั้งแต่แรกว่าเป็นไข้เลือดออก"
..การวินิจฉัยช่วงแรกเป็นได้ยาก อาการไม่โดยเฉพาะ เนื่องจาก ไปยืมอาการของโรคอื่นๆ เช่นไข้หวัด มาปะปนกันไปหมด หมอผู้เชี่ยวชาญเอง ก็ลำบากที่จะตัดสินใจว่าเป็นโรคนี้ในวันแรกๆของการป่วยโดยเฉพาะ ซึ่งอาการส่วนใหญ่อาจกลายไปเป็นโรคอื่นๆ ทำให้กว่าหมอจะให้การวินิจฉัย ได้ก็เมื่อมีอาการเฉพาะปรากฎ เป็นข้อจำกัดของโรค ..ซึ่งหลายครั้ง คนไข้ก็จะแย่แล้ว... อย่างไรก็ตามปัจจุบันสามารถส่งเลือดตรวจได้ในบางที่ แต่ยังมีราคาสูง
2. "การวินิจฉัยวันแรกๆโดยเจาะเลือดไม่ได้หรือ"
...ขอเรียนว่ายากครับ โรคที่เกี่ยวกับไข้หวัดธรรมดาที่เกิดจากไวรัส กับไวรัสเด็งกี่นั้นเป็นกลุ่มแบบพี่น้องกัน ถึงแม้เจาะเลือดธรรมดาที่ทำกันทั่วไปนั้น อาจแยกจากกันไม่ได้ การดูเกร็ดเลือดระยะแรกก็อาจไม่ต่ำ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าไม่ได้เป็น (ทั้งที่อีก1-2วันถึงออกอาการว่าเป็น) การเจาะเลือดที่เฉพาะกว่าคือการตรวจ ภูมิต่อไวรัส เด็งกี่ เรียกว่าเด็งกี่ไตเตอร์ ซึ่งทำได้เฉพาะใน โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ราคาแพง ปัจจุบันได้ผลเร็วขึ้น แต่ไม่100% ถ้าตรวจแบบแม่นยำ ต้องใช้เวลาหลายวัน บางทีผลกลับมา ซึ่งคนไข้กว่า90%หายจากอาการก่อนแล้ว ยกเว้นกรณีอาการร้ายแรง หรือ ช๊อก จึงจะทันได้ใช้ประโยชน์
3. "คนไข้ที่เป็นแล้วต้องเลือดออก ช็อกถึงตายทุกคนหรือไม่"อันนี้ตอบได้ว่าไม่มาก แต่มีความสำคัญ ตัวเลขจากกรมควบคุมโรค ดูย้อนหลังเป็นดังนี้ครับ
ปี - พศ. ป่วย (คน) ตาย (คน) อัตราป่วยเสียชีวิต (%)
2558
(พย) 102,762 102 0.10%
2557 40,278 41 0.10%
2556 154,444 136 0.11%
...
2550 62,999 90 0.14%
2549 42,456 59 0.14%
2548 44,725 82 0.18%
2547 37,316 49 0.13%
2546 62,526 78 0.13%
สังเกตว่าในประเทศไทย ในรอบ 4 ปี มีป่วยเพิ่มขึ้นและตายเพิ่มขึ้น การเสียชีวิตจะมาหลังอาการช็อก เป็นส่วนใหญ่ นั่นแปลว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ช็อกและตาย ประมาณ 0.13-0.18% หรือ 1-2 ต่อ 1,000 คนป่วย ซึ่งนับว่ามาก โดยต้องไม่ลืมว่าส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ช็อกนี้ แพทย์ต้อง "เฝ้า" ปรับสมดุลของสารน้ำ และเลือดจนกลับมาปกติ และความน่าทึ่งของโรคนี้คือ ยามช็อกนั้น...
เด็กๆ หรือผู้ป่วยเหนื่อยแน่น ซึม ทุรนทุราย ราวมีเพียงเส้นบางๆขั้นชีวิตกับมัจจุราช แต่ตอนหาย
"เด็กกลับสดใสร่าเริงในวันถัดกันราวกับไม่เคยป่วยมาก่อน"
4. "คนไทย..ป่วยกันมากน้อยเพียงใด" จากข้อมูลเบื้องต้น เห็นว่า ปี 2550 นั้นมีคนป่วย 62,699 คนจาก 60ล้านคน เป็นสัดส่วน 1ต่อ 1,000 คน
สูงมากในปี 2556 ถึง 154,444 ราย ตาย136 คน และลดลงในปี 2557 ผู้ป่วย 40,278 ราย ผู้ป่วยตาย 41 ราย อัตราป่วยตาย (ร้อยละ) 0.10 ราย
http://www.thaivbd.org/n/dengues/view/392
ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ลดลง และกำลังเพิ่มขึ้นในปีนี้ แสดงว่ามีคนป่วยด้วยไข้เลือดออก เฉลี่ยถึงวันละ 423คน (2556)110คน (2557) หากในความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเดือนระบาดหนักๆ นั้น อาจมากถึง 2 เท่าทีเดียว (ตามกราฟ)
5. น่าเศร้าว่าในปีนี้(2558)เพียง 43สัปดาห์..จำนวนผู้ป่วย102,762 ราย จำนวนผู้ป่วยตาย 102 ราย อัตราป่วยต่อแสนประชากร157.79 ราย อัตราตายต่อแสนประชากร 0.16 ราย อัตราป่วยตาย (ร้อยละ) 0.10 ราย แล้ว..จากhttp://www.thaivbd.org/n/dengues/view/474
แสดงว่ามีคนป่วยด้วยไข้เลือดออกปีนี้ เฉลี่ยถึงกว่าวันละ 340คน !!! สูงกว่าปีที่แล้ว(2557) 3เท่า!?!? (แต่ยังน้อยกว่า 2556) ตายไปแล้ว 102 คน ...ใน 301 วัน คือ ทุกๆ3วันตาย 1คน!! มากกว่าปีก่อน 2.5 เท่า ต้องลุ้นว่าจะทะลุปี 2556หรือไม่
นั่นแปลว่า สถานการณ์ปีนี้รุนแรงมากอีกครั้งครับ เทียบปีได้ (แท่งเขียวคือปีนี้)
มีความเชื่อกันว่ายุงลายทำให้โรคระบาดมากขึ้นเพราะสิ่งแวดล้อมโลก เช่นภาวะ โรคร้อน ฤดูกาล ภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลง สับสน เพราะหยุดยั้งไม่ได้ การเจ็บป่วยโรคนี้ในปีนี้จึงเกิน 2.5เท่าไปแล้ว คนตายมากตามไปด้วย แปลว่า ต้องมีครอบครัวผู้ได้รับความเสียใจมากขึ้น และแพทย์ก็จะต้องถูกเป็นจำเลยมากขึ้น...จากพฤติกรรมของยุง และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย...
ที่น่าสังเกตคือวงรอบความรุนแรง เดิมเป็น 4 ปีครั้ง ตอนนี้กลายเป็นปีเว้นปี!!
บทที่3* "โศกนาฏกรรม จากยุงลาย"
ยุงลายนั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ใน 3 ระดับคือ
1. ระดับครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุตรหลาน ปีนีลูกหลานน่ารักของท่าน กว่าร้อยคนต้องถูกส่งไปสังเวยโศกนาฏกรรมนี้ ขณะที่อีกกว่า แสนคนต้องเจ็บป่วย หยุดงานไปจนถึงนอนโรงพยาบาล ขาดรายได้ ขาดเรียน ขาดงาน...ตีมูลค่าความเสียหายไม่ได้
2. ระดับรัฐ ต้องเสียค่ารักษาจากงบประมาณของรัฐ อีกหลายสิบล้านบาท เพิ่มภาระงาน โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอ พยาบาล และซ้ำร้าย เป็นโรคที่มีกลไกเข้าใจยาก ผู้ที่สูญเสียที่มิได้เตรียมใจย่อมเป็นทุกข์ ก่อให้เกิดประโยค ตอนต้นของบทความนี้ และในยุคที่การฟ้องร้องมากมาย
3. ระดับที่สาม คือความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ที่ไม่เข้าใจกัน ความผิดหวัง รับไม่ได้ในกรณีเสียชีวิตของบุตรหลาน ที่น่ารัก ไม่คาดฝัน..จึงอาจเกิดการฟ้องร้องได้ ยุงที่เป็นฆาตกรหลักยังลอยนวล แต่แพทย์ผู้รักษาโรค อาจต้องถูกพิจารณาเป็นจำเลย ..หากคนไข้เสียชีวิต ถูกเข้าใจผิดราวกับเป็น "ฆาตกร" แทนยุง..โดยที่สังคมและชุมชนรอบๆ ตัวผู้ป่วย อาจยังไม่เคย ช่วยกันจัดการฆาตกรตัวจริง คือการกำจัดยุงลายเสียด้วยซ้ำไป ...
ลักษณะโรคที่ทำให้เสียชีวิตง่าย เช่นนี้ ญาติผู้ป่วยย่อม โกรธ เสียใจ ผิดหวัง นำไปสู่กระบวนการ ฟ้องร้อง ร้องเรียน ได้โดยง่าย สัมพันธภาพผู้ป่วยและแพทย์ภาครัฐ ที่เปราะบาง ยอมหวั่นไหว สัญชาติญาณ การรักตน รักครอบครัว กลัวการฟ้องร้อง อาจทำให้แพทย์ต้อง "รั่ว" ออกจากระบบรัฐที่ขาดแคลน ไปอีกไม่รู้เท่าไร กระทรวงสาธารณสุข ต้องเตรียมแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองประชาชน อีกหลายขั้นตอน..กองทุนต่างๆ การไกล่เกลี่ย เยียวยา สังคม และดูแลบุคลากรของท่าน พร้อม รับมือหรือไม่...
บทที่4* หากถามว่าควรจะแก้ไขได้อย่างไร?
ต้องย้อนกลับไปดูกระแสพระราชดำรัสที่ทรงห่วงใยประชาชนว่า
"โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากโรคไข้เลือดออกจะได้ทุเลาลง"
พระราชทาน ณ วังไกลกังวล 24 สิงหาคม 2542 แสดงความห่วงใยของในหลวง ในสถานการณ์และแสดงแนวทางการแก้ไขชัดเจน...
บทที่ 5*แนวทางการรักษาไข้เลือดออก2556
ที่ออกโดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ หน่วยงานสำคัญหนึ่ง ของ แพทยสภา
http://e-lib.ddc.moph.go.th/pdf/eb261/eb261.pdf
ที่สำคัญถึงรักษาเต็มที่อย่างไร วินิจฉัยเร็วเพียงใด ใน รพ.ใด ก็สู้ความรุนแรงตอนช็อกไม่ไหว 0.1% ตาย.. อัตราตาย 1 ต่อคนป่วย 1000 คน ปีนี้ป่วยไปแล้ว 102,726 ตายไป102 คน (2พ.ย.58) การช่วยกันป้องกัน ขจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุง คว่ำขัน กะลา โอ่ง กัน กันดีกว่า ใน7วัน เท่ากับอายุยุงลาย ยุงจะหมดไปครับ
ส่วนวิธีการละเอียดๆทั้งหลาย ขออนุญาตไม่กล่าวถึงในที่นี้ เพราะมีการรณรงค์ทั่วไปหมดแล้ว ท่านหาอ่านได้ไม่ยาก และหากต้องการความรู้เพิ่มเติม และสถิติการป่วยและตายทุกสัปดาห์ และแนวทางป้องกัน อ่านได้จาก เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ที่นี่ครับ-->http://www.thaivbd.org/n/home
บทที่อยากสรุปคือ
"อย่าปล่อยให้ (ยุง)ฆาตกร (ร้อยศพ) ลอยนวล" ป้องกันก่อนโศกนาฏกรรมบทใหม่จะเริ่มบรรเลง เพราะท้ายสุด อาจเป็นบุคคลในครอบครัวที่ท่านรักต้อง สูญเสีย และบุคคลากรการแพทย์กลับต้องเป็นจำเลย...ร่วมกันไปด้วย เริ่มจัดการ "ยุงลาย" ในบ้านท่าน..เสียแต่วันนี้เถอะครับ(แม้จะหมดหน้าฝนแล้วก็เถอะ)
ด้วยความปรารถนาดี ..อย่าให้มีใครในบ้านคุณต้องสูญเสียไปอีกเลย