สนง.กสทช.กับเรื่องที่เป็นยิ่งกว่า Spring News
ข่าวเปิดตัวสถานีวิทยุคลื่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “สถานีข่าวสปริงค์นิวส์” อาจทำให้คนชอบฟังข่าวจากวิทยุหลายคนเกิดความตื่นเต้น อาจทำให้เพื่อนสื่อมวลชนรายใหญ่บางรายเกิดอาการหูหนา ตาร้อน และอาจทำให้อีกหลายคนเกิดคำถามว่า “ได้มาได้ไง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบข่าวจากการแถลงของผู้บริหาร บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ว่า “เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้แบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการ และรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. FM คลื่นความถี่ 98.5 MHz. (กรุงเทพฯ) จาก สำนักงาน กสทช. โดยได้ทำสัญญากับ กสทช. พร้อมจ่ายเงินค้ำประกันครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างมีเอกสารยืนยันชัดเจนจาก กสทช. ว่าเราเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้”1 บางคนอาจสิ้นสงสัย แต่ในฐานะคนเรียนกฎหมาย คนสอนกฎหมาย และคนปฏิบัติตามกฎหมาย คงจะปล่อยให้ความสงสัยนี้หยุดอยู่เพียงแค่การตั้งคำถามไม่ได้
จากการติดตามข่าวพบว่า น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. ระบุว่า “..วิทยุ เอฟ.เอ็ม. 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งคือสถานีวิทยุ 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. ที่ควรต้องคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่นั่นเอง งานนี้ไม่รู้ว่า แถลงการณ์พิมพ์ผิด หรือสปริงนิวส์ได้ทำวิทยุ 1 ปณ. เอฟเอ็ม 98.5 เมกะเฮิร์ตซ์ จริงๆ เพราะที่ผ่านมา สายงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยังไม่เคยมีมติจัดสรรคลื่นความถี่เอฟเอ็มให้ใครเลย”2
ส่วนด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า “เรื่องดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายถือว่าไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กสท. เพราะเป็นอำนาจโดยตรงของประธาน กสทช. ในการประกวดราคาให้ผู้อื่นมาเช่าใช้ทรัพย์สินของ กสทช. อีกทั้งส่วนตัว ได้ตรวจสอบแล้วว่ากระบวนการไม่ขัดกับประกาศของ กสทช. แต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการก็เหมือนกับสถานีวิทยุของส่วนราชการอื่นที่ประกวดราคาหาคนมาดำเนินการได้เช่นกัน3 ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการได้มีหนังสือแจ้งต่อบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ว่า สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารหลักฐานต่างๆ ของผู้แสดงความประสงค์ขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินการและรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ระบบ FM คลื่นความถี่ 98.59 MHz (กรุงเทพฯ) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2558 ซึ่งปรากฏว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้สำนักงาน กสทช. สูงสุด เป็นเงินเดือนละ 2,461,000 บาท (สองล้านสี่แสนหกหมื่นหนึ่งพันบาทถ้วน) ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้แบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการและรับจ้างผลิตรายการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้บริษัทฯ ติดต่อประสานงานเพื่อยืนยันการขอแบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการและรับจ้างผลิตรายการดังกล่าวและการทำสัญญาฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2558”4
จากข้อมูลข้างต้นสรุปเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า สำนักงาน กสทช.ยืนยันว่า ได้จัดให้มีการประกวดราคาหรือเปิดประมูลเพื่อจัดหาผู้เข้ามาดำเนินการสถานีวิทยุ 1 ปณ.อันเป็นสิทธิของสำนักงาน กสทช. โดยประธาน กสทช. เป็นผู้รับผิดชอบจริง ทำให้บริษัทผู้ชนะการประกวดราคาได้ไปทั้งสิทธิในการได้รับอนุญาตให้แบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการในสัดส่วนร้อยละ 40 และสิทธิในการรับจ้างผลิตรายการเพื่อออกอากาศในสัดส่วนร้อยละ 60 ในสถานีวิทยุ 1 ปณ. (ตามข้อกำหนดของประกาศ.กสทช.)ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ ที่ชนะการประมูลครั้งนี้จะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายการที่นำเสนอผ่านทางสถานีวิทยุ 1 ปณ.ได้เต็มทั้งผังรายการและออกอากาศได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงมีประเด็นที่สังคมต้องมีข้อมูลเพื่อช่วยกันพินิจพิจารณาอันจะนำไปสู่ข้อสังเกตที่มีต่อ สำนักงาน กสทช. และ กสทช. กล่าวคือ
1. สำนักงาน กสทช. มีอำนาจในการนำสถานีวิทยุ 1 ปณ.มาประกวดราคาหรือเปิดประมูลในลักษณะเดียวกันกับการให้เช่าทรัพย์สินประเภทอื่นของหน่วยงานราชการดังที่เลขาธิการ กสทช.แถลงได้หรือไม่ นั้น พบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยตอบข้อหารือ ว่า สำนักงาน กสทช.ได้รับโอนกิจการสถานีวิทยุ 1 ปณ. มาจากสำนักงาน กทช.5 จึงสามารถประกอบกิจการสถานีวิทยุ 1 ปณ.ได้จนถึงวันที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ใช้บังคับ6 คือวันที่ 4 เมษายน 25557 ซึ่งเมื่อครบกำหนดดังกล่าวแล้วกฎหมายยังระบุเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อไป ให้จัดทำแผนการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. และให้ กสทช.ออกใบอนุญาตให้โดยคำนึงถึงความจำเป็น ข้อสังเกตต่อไปก็นี้คือ
ก. สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีความจำเป็น8 ที่จะต้องประกอบกิจการหรือใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ 1 ปณ. นี้ต่อไปหรือไม่ และหากไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองจะยังควรได้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่นี้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด9 พบว่า ไม่มีข้อความใดให้อำนาจ สำนักงาน กสทช. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และในฐานะที่ สำนักงาน กสทช.มีสถานภาพเป็นหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง สำนักงาน กสทช.จะต้อง “มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือความจำเป็นต้องดำเนินกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด” โดยประเภทกิจการที่หน่วยงานของรัฐจะสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้นั้น จะต้องเป็นกิจการบริการสาธารณะ10 และในการจัดหารายได้ของกิจการบริการสาธารณะจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้ เว้นแต่เป็นการหารายได้โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ11 ทั้งนี้บทวิเคราะห์ทางกฎหมายต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น “คณะทำงานศึกษาพัฒนาการบริหารงานสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.” ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาและได้นำเสนอต่อประธาน กสทช.เพื่อทราบแล้ว12 ดังนั้น การที่ สำนักงาน กสทช. อ้างว่ามีอำนาจนำสถานีวิทยุ 1 ปณ. มาให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนแบ่งเวลาเพื่อดำเนินการและว่าจ้างผลิตรายการในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า การดำเนินงานของ สำนักงาน กสทช.จะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และแม้จะมีข้อโต้แย้งว่า ปัจจุบัน สถานีวิทยุที่ประกอบกิจการอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับจะยังได้รับการยกเว้นตาม “บทเฉพาะกาล” และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบททั่วไปกำหนดก็ตาม ในฐานะที่ สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับให้การกำกับดูแลเป็นไปตามกฎหมายให้ได้ในที่สุด สำนักงาน กสทช. จึงไม่สามารถและขาดความชอบธรรมที่จะอ้างหลักเกณฑ์ความเสมอภาคเท่าเทียมกับสถานีวิทยุรายเดิมอื่นๆมาใช้บังคับกับกรณีนี้ของสำนักงาน กสทช.เอง
ข. ในฐานะที่ กสทช.เป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาตประกอบกิจการ
(Regulator) ก็หามีความชอบธรรมที่จะพิจารณาอนุญาตหรือออกใบอนุญาตให้แก่สำนักงาน กสทช. เพื่อให้สำนักงาน กสทช.ประกอบกิจการ (Operator) ต่อไปได้ เนื่องจากแม้กฎหมายจะกำหนดให้สำนักงาน กสทช. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก กสทช. แต่ก็เป็นเพียง “นิติวิธี” หรือแบบแผนวิธีคิดทางกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กสทช. เป็นองค์กรอิสระทางปกครองที่ไม่ตกอยู่ภายใต้สังกัดของหน่วยงานของรัฐอื่นใด และการที่กฎหมายกำหนดให้ สำนักงาน กสทช. มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ก็เพื่อให้มีความสามารถในการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นใดแทน กสทช.ได้ ซึ่งส่งผลให้แม้สำนักงาน กสทช. จะเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ กสทช. ที่ต้องมีหน้าที่ในการกำกับดูแลร่วมกันอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับหลักการตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่อิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่13 และส่งผลให้คลื่นความถี่ทั้งหมดที่กำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐอันได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ต้องโอนบรรดากิจการสิทธิและหน้าที่ให้แก่ สำนักงาน กสทช.14 จึงนับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดแจ้งที่ประสงค์จะให้แยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับกิจการอันได้แก่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. (Regulator) ออกจากหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการโดยทั่วไป (Operator) อันได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ ดังนั้น กสทช.จึงไม่ควรพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ สำนักงาน กสทช. เนื่องจากจะทำให้ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความไม่แตกต่างในระหว่างภาระหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ในอดีตและสำนักงาน กสทช.ในปัจจุบัน และอาจเกิดหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of interest) หรือที่เรียกง่ายๆว่า กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลต้องไม่เป็นผู้เล่นหรือประกอบกิจการเสียเอง และด้วยหลักการเหตุผลและวิธีคิดดังกล่าว แม้สำนักงาน กสทช. จะอ้างความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลเฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการสถานีวิทยุรายเดิมขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อรองรับความชอบด้วยกฎหมาย ความคุ้มครองดังกล่าวก็หาใช่เหตุที่สำนักงาน กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นหนึ่งเดียวกันกับ กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลจะยกขึ้นกล่าวอ้างได้
ค. ส่วนการกล่าวอ้างที่ว่า สำนักงาน กสทช. ทำการประกวดราคาหรือเปิดมูลสถานีวิทยุ 1 ปณ. ในลักษณะเดียวกันกับการให้เช่าทรัพย์สินประเภทอื่นของหน่วยงานราชการจะสามารถรับฟังได้เพียงใด นั้น เนื่องจาก คลื่นความถี่เป็นทรัพย์ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะแตกต่างจากทรัพย์สินทั่วไป กล่าวคือ สิทธิในคลื่นความถี่ เป็นเพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์ หาใช่สิทธิครอบครองในลักษณะเดียวกันกับทรัพย์สินอื่นโดยทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เป็นสิทธิที่ตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดห้ามโอน” สำนักงาน กสทช. จึงเป็นเพียงผู้รับโอนแต่เพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือ กทช.หาใช่ตัวคลื่นความถี่ไม่ และเมื่อสิทธิประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่ตามกฎหมายซึ่งหมายถึงใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันไม่ได้15 สำนักงาน กสทช. จึงไม่มีสิทธิที่จะทำการประกวดราคาหรือเปิดประมูลสถานีวิทยุ 1 ปณ. ด้วยวิธีเดียวกันกับทรัพย์สินประเภทอื่นทั่วไปของสำนักงาน กสทช. ในทำนองกลับกันสำนักงาน กสทช.ยิ่งต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่นี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ตนเองมีหน้าที่รักษาและบังคับให้เป็นไปอีกด้วย และจากหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนสัญญาที่บริษัท ฯ อ้างว่า ได้ทำสัญญากับ กสทช. พร้อมจ่ายเงินค้ำประกันครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ และไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ใดๆต่อกันระหว่างคู่สัญญาต่อไปอีกทั้งสิ้น ถ้าผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนยินดีและเพิกเฉยให้เกิดการตีความกฎหมายในการประกวดราคาหรือการเปิดประมูลของสถานีวิทยุ 1 ปณ. ในลักษณะดังกล่าวนี้แล้วจะส่งผลให้ กสทช. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขอคืนคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์อีกต่อไป
ง. จากการตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้
คลื่นความถี่ พบว่า สำนักงาน กสทช.ได้ยื่นความประสงค์ในการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้เคยมีความเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ควรประกอบกิจการด้วยตนเองอีกต่อไป แต่ควรต้องคืนคลื่นความถี่มาจัดสรรใหม่16 เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานรัฐอื่นที่ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จำนวนมากแต่มิได้บริหารจัดการด้วยตนเองตามที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
2 จากข้อมูลที่สำนักงาน กสทช. ระบุว่า ได้ตรวจสอบแล้วว่ากระบวนการไม่ขัดกับประกาศของกสทช. แต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการก็เหมือนกับสถานีวิทยุของส่วนราชการอื่นที่ประกวดราคาหาคนมาดำเนินการได้เช่นกัน นั้น มีข้อน่าสังเกตว่า การประกวดราคาดังกล่าวได้จัดทำขึ้นตามหลักความเสมอภาค เป็นธรรม และมีความโปร่งใสเพียงใด กล่าวคือ ได้มีการแบ่งแยกข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการจ้าง (TOR: Term of Reference) ออกจากกันเป็น 2 ส่วน คือ ข้อกำหนดในการแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง และข้อกำหนดในการรับจ้างผลิตอีกส่วนหนึ่ง หรือไม่ และได้ตั้งเงื่อนไขพิเศษเพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดไว้เท่าที่สามารถกระทำได้หรือไม่เพียงใด โดยการออกข้อกำหนดดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากมีการดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนดังนี้
ก. มีการออก “ข้อกำหนดทั่วไป” ที่ระบุถึงลักษณะประเภทของการประกอบกิจการว่า
สถานีวิทยุ 1 ปณ. มีนโยบายประกอบกิจการอยู่ในประเภทใดตามที่กฎหมายกำหนด เช่น บริการสาธารณะ หรือบริการทางธุรกิจ โดยมีการจัดแบ่งสัดส่วนให้สอดคล้องกับประเภทกิจการที่กำหนดข้างต้น อีกทั้งมีการกำหนดรูปแบบผังรายการและเงื่อนไขในการจัดหารายได้อย่างสอดคล้องกับประเภทกิจการที่กำหนดไว้ด้วย
ข. มีการออก “ข้อกำหนดเฉพาะ” กล่าวคือ ได้ทำการจัดแบ่งเวลาตามผังรายการออกเป็น
ช่วงๆ มีรายละเอียดว่าช่วงใดบ้างเป็นช่วงแบ่งเวลาให้ดำเนินการในสัดส่วนร้อยละ 40 แต่ไม่ว่าจะกำหนดอย่างไรในช่วงเวลาใดก็ตาม ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้แบ่งเวลาจะต้องผลิตรายการที่ตรงกับข้อกำหนดทั่วไปไว้ด้วยเป็นต้น
ค. สำหรับ “ข้อกำหนดเฉพาะด้านการรับจ้างผลิต” ต้องมีการตั้งเงื่อนไขเพื่อให้ผู้รับจ้าง
ทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นถึงความต้องการของรูปแบบรายการที่ต้องการจะว่าจ้างผลิตว่ามีคุณลักษณะอย่างไร แต่ไม่ว่าจะกำหนดคุณลักษณะของรูปแบบรายการอย่างไร คุณลักษณะของรูปแบบรายการนั้นก็ยังต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดทั่วไป ซึ่งหมายถึงต้องตรงกับแนวนโยบาย เงื่อนไขและข้อกำหนดของสถานีอีกด้วย
ง. ข้อกำหนดเฉพาะของทั้งการประกวดราคาหรือการประมูลทั้งสองส่วนจะต้องตั้งเงื่อนไข
พิเศษที่ไม่เอื้อหรือต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีแนวทางในการป้องกันการผูกขาดไว้อย่างชัดเจน
แต่ไม่ว่ากรณีการออกข้อกำหนดจะเป็นประการใดก็ตาม การที่สำนักงาน กสทช. จัดการประกวดราคาในลักษณะนี้ขึ้น เท่ากับเป็นยอมรับว่า “การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ของประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุคของการประมูลหรือสัมปทาน อันเป็นการขัดต่อหลักการแข่งขันและการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ที่กำหนดไว้เป็นที่ยอมรับในองค์การการค้าโลก หรือ WTO Reference Paper 1996
นอกจากนี้จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า สำนักงานการอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง (ปส.1) เคยเสนอวาระ การอนุมัติผังรายการหลักประจำปี 2558 ของสถานีวิทยุ 1 ปณ.1 เข้าสู่ที่ประชุมของ กสท. และที่ประชุมมีมติว่า “ให้สำนักงาน กสทช.ดำเนินการแก้ไขสัญญาให้สอดคล้องกับที่ กฎหมาย ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กสท.ต่อไป”17 ซึ่งยังไม่พบว่ามีการนำเสนอวาระเข้ามาพิจารณาแต่ประการใดอีก
3 การยอมรับว่าสัญญาระหว่าง บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) กับ สำนักงาน
กสทช. เป็นสัญญาที่ถูกต้องและมีสภาพบังคับตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะหากหน่วยงานรัฐหรือหน่วยราชการอื่นใดที่ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อยู่ในปัจจุบัน ประสงค์จะทำการประกวดราคาหรือประมูลในลักษณะเดียวกันกับที่ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในครั้งนี้ทั้งสองส่วนคือ เช่าเวลาและว่าจ้างผลิตไปพร้อมๆกันจะสามารถกระทำในลักษณะเดียวกันได้ ซึ่งย่อมส่งผลในทางกฎหมายอีกหลายประการต่อมากล่าวคือ “การปฏิรูปสื่อ” ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงให้การใช้ทรัพยากรสื่อสารของชาติมีความเหมาะสม และผ่อนคลายการผูกขาดของรัฐ หรือเพื่อการกระจายการถือครองและก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 จะสิ้นสุดลงทันที เพราะหน่วยของรัฐหรือหน่วยราชการอื่นจะวิธีการประกวดราคาเดียวกัน ซึ่งจะมีความหมายไม่แตกต่างจากการให้สัมปทาน และในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น จะทำให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ขาดความมั่นคงในนิติฐานะหรือขาดไร้ซึ่งความเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ประกอบการรายอื่น อำนาจในการกำกับดูแลซึ่งเป็นอำนาจหลักของ กสทช. จะสิ้นสภาพในทางปฏิบัติไปโดยสิ้นเชิง และอาจเป็นการเปิดช่องให้การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสื่อ หรือ กสทช. ทุกฉบับมีความชอบธรรมโดยอาศัยเหตุความไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช.และ กสทช. ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการสื่อมวลชนครั้งนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงการเกิดขึ้นของสถานีวิทยุคลื่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “สถานีข่าวสปริงค์นิวส์” หรือการมีสถานีวิทยุข่าวเพิ่มขึ้นอีก 1 สถานีของกรุงเทพมหานคร แต่หมายถึง สำนักงาน กสทช.กำลังตีความหรือใช้กฎหมายไปในทิศทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และบังคับใช้ระเบียบ ประกาศ หรือกฎหมายหลายฉบับอย่างผิดทิศผิดทาง และที่สำคัญที่สุดคือ “การปฏิรูปสื่อ” ที่ทุกภาคส่วนร่วมต่อสู้ผลักดันกันมายาวนานเกือบ 20 ปี เพื่อให้หลุดพ้นจากแนวคิดหรือกรอบวิธีการเดิมจะล้มเหลวและสิ้นสุดลง และนี่คือการกระทำที่ท้าทายพลังและจิตวิญญาณนักต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ที่ผ่านมาที่นักต่อสู้ทั้งหลายต้องหันกลับมามองให้ลึกและกว้างอย่างเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ “เป็นเรื่องที่เป็นยิ่งกว่า Spring News”
1 www.siamdara.com/hot-news/thai-news/1068466
2 http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspxNewsID=9580000121035
3http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1446362838
4 หนังสือที่ สทช.4012/30233 ลงวันที่ 25 กันยายน 2558
5 มาตรา 89 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
6 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 553/2554
7 ราชกิจจานุเบกา เล่ม 129 ตอนพิเศษ 63 ง. หน้า 2
8 มาตรา74 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
9 มาตรา57 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
10 มาตรา11 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
11 มาตรา20 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
12 รายงานผลการศึกษาคณะทำงานศึกษาพัฒนาการบริหารงานสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. มีนาคม 2555
13 มาตรา 47 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
14 มาตรา 89 และมาตรา 92 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
15 มาตรา 9 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
16 อ้างแล้ว คำสัมภาษณ์ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
17 รายงานการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2558 วันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2558