"รองฯปวีณ"อยู่ไม่ไหว ตัดสินใจลาออกจากราชการ!
พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการแล้ว ภายหลังไม่สามารถขอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งย้ายที่ให้ไปปฏิบัติงานที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
ก่อนหน้านี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้สัมภาษณ์พิเศษ พลตำรวจตรี ปวีณ และได้ข้อมูลว่าทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาถูกข่มขู่จากเครือข่ายของผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่พยานปากสำคัญก็ถูกคุกคาม
ยิ่งมีการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชาการถึงผู้บังคับการ (โผนายพลเล็ก) ปรากฏว่า พลตำรวจตรี ปวีณ ถูกย้ายไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มาก่อน ทำให้เจ้าตัวรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายของผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์อยู่เป็นจำนวนมาก จึงพยายามขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาทบทวนคำสั่ง แต่ก็ไม่เป็นผล
ล่าสุดวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2558 พลตำรวจตรี ปวีณ เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่าได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการแล้ว เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
"ผมได้ไปยื่นลาออกกับผู้บัญชาการ ศชต.(พลตำรวจโทเฉลิมพันธุ์ อจลบุญ) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน เพราะครอบครัวรู้สึกเป็นห่วงในความไม่ปลอดภัยที่จะต้องไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผมได้เดินทางไปดูสถานที่ทำงาน และพูดคุยกับน้องๆ ตำรวจในพื้นที่ หลายคนพูดเหมือนกันว่า อยู่ใน ศชต.มีความปลอดภัยแน่นอน แต่ถ้าออกไปข้างนอกก็ไม่มีใครรู้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่"
"ผมเป็นตำรวจ ถ้าลงไปทำงานแล้วต้องไปอยู่แต่ใน ศชต.และทำงานไม่ได้ จะมีค่าอะไร ความไม่ปลอดภัยที่กลัวไม่ได้เป็นเรื่องของความไม่สงบหรือโจรผู้ร้ายในพื้นที่ ตรงนี้ผมไม่ได้กลัวอยู่แล้ว แต่ที่กลัวคือความไม่ปลอดภัยที่เป็นผลพวงมาจากการทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา โดยเฉพาะผู้ต้องหาในคดีหลายคนที่เป็นผู้มีอิทธิพลและมีพรรคพวกอยู่ในพื้นที่ เกรงว่าจะมีอันตรายจากกลุ่มคนพวกนี้"
ส่วนกรณีที่ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์ทำนองว่าจะไม่ทบทวนคำสั่งโยกย้ายนั้น พลตำรวจตรี ปวีณ กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกอะไร คิดว่าท่านคงมีเหตุผลของท่าน และทบทวนมาดีแล้วในการโยกย้ายดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวก็มีเหตุผลของตัวเองเช่นกันในการที่ตัดสินใจลาออก ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของคนในครอบครัว
"แม้ว่าผมจะได้ยื่นลาออกไปแล้ว แต่น่ามีผลในวันที่ 6 ธันวาคม เพราะตามระเบียบต้องยื่นใบลาออกก่อน 30 วัน ในช่วงนี้ผมก็ยังคงทำงานปกติ ยังคงต้องมีหน้าที่ร่วมกับทางอัยการในเรื่องคดีค้ามนุษย์ แม้ว่าผมจะลาออกจากการเป็นตำรวจแล้ว และภาระหน้าที่ของผมในการคดีค้ามนุษย์จะจบไป แต่คดีค้ามนุษย์ยังต้องดำเนินต่อ เพราะในคดีนี้ยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก"
"แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงอยู่ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายท่านที่อยู่ในทีมพนักงานสอบสวนคดีโรฮิงญา หลังจากนี้ไม่รู้จะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เพราะทุกคนที่อยู่ในชุดสอบสวนทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้เสียขวัญและกำลังใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผม" พลตำรวจตรี ปวีณ ระบุ
คณะทำงานเสียดาย-ยอมรับเสียขวัญ!
พันตำรวจเอก ตรีวิทย์ ศรีประภา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา) หนึ่งในทีมพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" หลังทราบข่าวการลาออกของ พลตำรวจตรี ปวีณ ว่า รู้สึกเสียดายนายตำรวจเก่งๆ อย่าง พลตำรวจตรี ปวีณ เพราะตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานในชุดสอบสวนคดีโรฮิงญา ได้เห็นการทำงานของ พลตำรวจตรี ปวีณ มาตลอด ทราบดีว่าเป็นคนเก่ง เป็นคนจริงจังกับการทำงาน มีความอดทน และมีระเบียบวินัยมาก
ตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกัน พลตำรวจตรี ปวีณ จะแต่งเครื่องแบบตำรวจตลอด แม้จะเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่พนักงานสอบสวนในทีมแต่งชุดไปรเวทมาทำงานบ้าง แต่ พลตำรวจตรี ปวีณ จะแต่งเครื่องแบบตลอด
"ช่วงที่ทำงานร่วมกัน ท่านได้กำชับกับพนักงานสอบสวนทุกคนในทีมตลอดเวลาว่า ให้ทำงานกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ทำไปตามพยานหลักฐาน ไม่กลั่นแกล้งใคร ผิดก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เพราะท่านเชื่อว่า หากเราในฐานะพนักงานสอบสวนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เอาความถูกต้องเป็นหลักแล้ว ความถูกต้องจะเป็นเกราะคุ้มครองตัวเราเอง"
พันตำรวจเอก ตรีวิทย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ พลตำรวจตรี ปวีณ ส่วนตัวรู้สึกเสียใจแทน เพราะท่านตั้งใจทำงานและทำดีมาตลอด แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลหรือเห็นความสำคัญ แน่นอนเรื่องขวัญกำลังใจของตำรวจทุกคนในชุดสอบสวนคดีโรฮิงญาเกือบร้อยชีวิต ย่อมต้องสูญเสียไปแน่นอน และหลายคนย่อมกังวลว่าไม่รู้จะเกิดอะไรกับตัวเองบ้างหลังจากนี้ ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไป
แต่สำหรับคดี พนักงานสอบสวนทุกคนในทีมก็ยังคงต้องทำหน้าที่กันต่อ เพราะคดีนี้เป็นคดีใหญ่ ซึ่งต้องเตรียมเอกสารและพยานให้กับอัยการอีกเป็นจำนวนมาก
แถลงสุดท้ายก่อนไขก๊อก
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พลตำรวจตรี ปวีณ ได้เปิดแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ขณะไปร่วมประชุมกับทีมอัยการในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งแม้ในวันนั้น พลตำรวจตรี ปวีณ ไม่ได้พูดถึงเรื่องลาออกจากราชการ แต่ถ้อยแถลงหลายช่วงก็สะท้อนให้เห็นความยากลำบากของการทำงานในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา
และนี่คือบางช่วงบางตอนของคำแถลง...
"คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในระยะ 5 เดือนที่ผานมา คณะทำงานเห็นว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ขาดมนุษยธรรม และเป็นที่รังเกียจของประชาคมโลก ขณะที่รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ พร้อมกับถือว่าเป็นวาระแห่งชาติด้วย เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลในคดีนี้ เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่กลับทำลายชื่อเสียงและผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ...
ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานจึงมีความตั้งใจที่จะกำจัดขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศ และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป โดยที่ผ่านมาผู้ต้องหาที่คณะทำงานสามารถจับกุมตัวได้ เป็นบุคคลที่มีอิทธิพล รวมถึงเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐ การออกหมายจับผู้กระทำผิดย่อมมีผลกระทบด้นต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตของคณะทำงาน ผมและคณะทำงานไม่ได้มีเรื่องราวส่วนตัวกับใครทั้งสิ้น เพราะการทำงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามอาญาแผ่นดิน ซึ่งต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใด...
ผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีเส้นสายและมีกำลังทรัพย์มาก ซึ่งมีสัญญาณบ่งบอกว่ามีการใช้อำนาจจากเครือข่ายเหล่านี้ คอยช่วยเหลือผู้ที่กระทำผิด ที่ผ่านมามีการรับแจ้งความหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการแจ้งความในลักษณะที่พยานถูกข่มขู่...
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษในการเดินทางไปไหนมาไหน เพราะผู้กระทำผิดในคดีค้ามนุษย์มีเครือข่ายที่ใหญ่โตและมีจำนวนมาก เจ้าหน้าที่เองจึงต้องระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเป้านิ่ง แต่ผมยังเชื่อมั่นว่าหากตำรวจปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา กฎหมายก็จะคุ้มครองเราเอง และขอยืนยันว่าการทำงานในคดีค้ามนษย์ เป็นการทำงานร่วมกันของอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสอบสวน โดยการดำเนินการไม่ใช่ความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง เท่านั้น เพราะหากเป็นการตัดสินใจของใครคนเดียว ก็ถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...
ผู้กระทำผิดในคดีค้ามนุษย์มีความคิดว่า หากมีโอกาสหรือช่องว่างที่จะสามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ก็จะลงมือทันที และไม่สนใจว่าจะเป็นใครทั้งนั้น...
สำหรับขั้นตอนการดูแลพยานที่สำคัญในคดี ตำรวจเองก็มีวิธีการดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว เพราะหากพยานเกิดความหวาดกลัวและกลับคำให้การ ก็จะส่งผลเสียหายต่อรูปคดี ซึ่งพฤติกรรมการข่มขู่ของผู้กระทำผิดต่อตัวเจ้าหน้าที่และพยาน ถือเป็นการบั่นทอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้น้อยลง และช่วยให้เกิดประโยชน์กับตัวผู้ต้องหาเอง...
การยื่นคำร้องต่อศาลในการออกหมายจับแต่ละครั้งมีความยากลำบากมาก เพราะศาลต้องใช้เวลาในการไต่สวนค่อนข้างนาน หากไม่มีหลักฐานเพียงพอ ศาลก็จะไม่อนุญาตให้ออกหมายจับ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ไม่มีความชัดเจนได้ และที่สำคัญคือหากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะถูกต่างประเทศวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้คณะทำงานต้องแบกรับความกดดันนี้ไว้ด้วย...
เส้นทาง 5 เดือนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา
สำหรับคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มขึ้นเมื่อมีการพบสุสานและศพชาวโรฮิงญาจำนวนมาก บนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโละ หมู่ 8 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนรอยต่อระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งให้ พลตำรวจตรีปวีณ เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน และได้ทำคดีร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพนักงานอัยการ กระทั่งสามารถออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้ 153 ราย จับกุมได้ 91 ราย มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และนายทหาร
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน ได้มีการสรุปสำนวนคดีพร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด และนำสำนวนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม
จากนั้นวันที่ 9 ตุลาคม ศาลจังหวัดนาทวีได้อ่านคำสั่งประธานศาลฎีกาให้โอนย้ายคดีค้ามนุษย์ของ สภ.ปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไปยังศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นแผนกที่ได้เปิดขึ้นใหม่เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงความต่อเนื่องในการดำเนินการทางคดี
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พลตำรวจตรีปวีณ พงศ์สิรินทร์
2 พลตำรวจตรีปวีณ กับทีมพนักงานสอบสวน คนซ้ายคือ พันตำรวจเอกตรีวิทย์ ศรีประภา
3-4 กล่องบรรจุสำนวนคดีโรฮิงญาซึ่งมีจำนวนมากจนต้องขนย้ายทางเครื่องบิน
5 พลตำรวจตรีปวีณ ในวันแถลงที่สำนักงานอัยการสูงสุด
6 การขุดศพชาวโรฮิงญาที่ถูกฝังบนเขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา