ปธ.ทีดีอาร์ไอแนะร่าง รธน. ต้องไม่ใหญ่ เทอะทะ แก้ยากเกินไป
ประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ถกหลักนิติธรรม-ประชาธิปไตย ‘ศ.พิเศษ จรัญ’ เผยหลักนิติธรรมต้องครอบคลุมสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโลก ประเทศใดมีหลักแคบจะกลายเป็นตัวร้ายในสังคม ด้าน ปธ.ทีดีอาร์ไอ แนะร่าง รธน. ควรมีเฉพาะหลักการสำคัญ หวังสถาบันพระปกเกล้า เป็นคลังสมองให้รัฐสภาเข้มแข็ง
วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2558 สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 17 ประจำปี 2558 หลักนิติธรรม กับประชาธิปไตย ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
โดยในการประชุมวันที่ 2 มีการประชุมอภิปรายร่วมหัวข้อ หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ต่างมุมมอง ต่างความเข้าใจ จุดหมายเดียวกัน มี ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และดร.ถวิลวดี บุรีกุล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมเวที
ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวถึงหลักนิติธรรมว่า ต้องกว้างกว่าการใช้กำกับระบบกฎหมาย และระบบงานยุติธรรม หรือมีความสำคัญเฉพาะระบอบประชาธิปไตยหรือเสรีประชาธิปไตย แต่ต้องครอบคลุมกำกับหลักชัยให้แก่ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบราชการ และการใช้อำนาจทุกชนิด ดังนั้น ต้องทำให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในความคิดของนักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่ง เข้าใจว่า หลักนิติธรรมเป็นหลักกฎหมาย เป็นธรรมะของกฎหมาย เป็นกฎของกฎหมาย แต่วิเคราะห์และศึกษาแล้วจะพบว่า หลักนิติธรรมไม่ใช้เฉพาะการยกสถานะหรือคุณภาพ หรือมาตรฐานขั้นต่ำของระบบกฎหมายเท่านั้น
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อว่า แต่ละประเทศ แต่ละหน่วยในสังคมโลก ต้องให้ความเคารพ ให้ความร่วมมือ ร่วมใจไม่ฝาฝืนมาตรฐานขั้นต่ำของโลก ฉะนั้น หลักนิติธรรมในความหมายอย่างกว้างระดับระหว่างประเทศ คือ ‘หลักธรรมาภิบาล’ หมายถึง การปกครองโดยธรรม
การปกครองโดยธรรมมิได้จำกัดรูปแบบของระบบการเมือง อำนาจ หรือระบอบการปกครอง ส่วนจะปกครองด้วยระบอบอะไร โดยคนเดียว หลายคน ชนชั้น หรือเสียงข้างมาก เนื้อแท้ของระบอบต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ต้องมีหลักนิติธรรมเป็นแกนสำคัญ ตามหลักธรรมาภิบาลขององค์การสหประชาชาติ
“การปกครองสยามประเทศที่ผ่านมาเป็นไปโดยธรรม ไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย อำนาจ หรืออำเภอใจ สิ่งนี้ คือ อารยธรรมของการปกครอง ไม่ว่าใครเข้ามาครองอำนาจการปกครอง เนื้อแท้อย่าให้ต่ำต้อยด้อยกว่าหลักธรรมาธิปไตย ซึ่งนับเป็นอุดมการณ์หรือคุณภาพของสังคมมนุษยชาติสูงสุด”
ศ.พิเศษ จรัญ ยังกล่าวว่า หลักนิติธรรมยังต้องสอดคล้องและเชื่อมโยงกับมาตรฐานขั้นต่ำในสังคมโลก ไม่ว่าจะเกิดจากพันธะกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศ หรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ถ้าหลักนิติธรรมของประเทศใดแคบไปกว่านี้ ประเทศนั้นเสี่ยงต่อการขัดแย้งกับมาตรฐานขั้นต่ำของโลก และกลายเป็นตัวร้าย คนเกเรในสังคมโลก เราจะไม่ยอมให้ไทยตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นเด็ดขาด
“หลักนิติธรรมต้องครอบคลุมกับหลักมนุษยชนในความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าตั้งหลักไว้อย่างนี้แล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ และกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มั่นใจในวิจารณญาณของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ ไม่มีอะไรเคลือบแคลง สงสัยเลย มั่นใจมาก และถ้ามีมติเห็นตรงกันว่า ประโยชน์ของประเทศควรเป็นอย่างไร จึงไม่มีอะไรคัดค้าน
‘ดร.สมเกียรติ’ ชี้ร่าง รธน.ให้คันเร่งอ่อน เบรกแรง เสี่ยงเจอปัญหา
ด้านดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการออกแบบรถยนต์รัฐธรรมนูญของไทยว่า ก่อนปี 2540 จะพบปัญหาคันเร่งอ่อน เบรกอ่อน การเมืองไทยจึงไม่ไปไหน จนเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ ปี 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นทำให้คันเร่งแรงขึ้น เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมาก นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำสูงขึ้น แต่การออกแบบเบรกกลับแรงไม่พอ รถยนต์คันนี้จึงเกิดปัญหา
เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คันเร่งแรง แต่เบรกแรงกว่าคันเร่ง จึงทำให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นไม่มีนโยบายที่จับต้องได้ให้ประชาชน ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สงสัยว่า จะทำให้คันเร่งอ่อนลงจากระบบเลือกตั้ง และเบรกที่แรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไทยจะเจอปัญหาใหญ่ ถ้าไม่มีรัฐบาลที่มีขีดความสามารถสูง จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้
ประธาน ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาไม่ได้ อาทิ ความสามารถทางการแข่งขันตกต่ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำไม่ได้ ต้องใช้อำนาจพิเศษจากรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ต้องเข้าสู่รัฐบาลเลือกตั้ง แต่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ ได้สะท้อนหากรัฐบาลไม่มีความเข้มแข็งแก้ไขปัญหาไม่ได้ และยังออกแบบรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลอ่อนแอไปอีก คนไทยจะไม่พอใจกับประชาธิปไตยแบบไทยมากยิ่งขึ้น
“รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรทำหน้าที่หลายอย่างเกินไป อย่าให้มีคำเฟ้อ ควรมีเฉพาะหลักการสำคัญ และอย่าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญที่สุด เผลอ ๆ การเมืองแบบไทย กฎกระทรวงมีความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ อย่าออกแบบรถคันนี้ให้มีคันเร่งอ่อน เบรกแรง เพราะจะแก้ไขปัญหาใหญ่ไม่ได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่าโจทย์คือต้องปรับคันเร่งและเบรกให้สมดุลกัน มีคันเร่งให้รัฐบาลเข้มแข็ง ใช้เบรกมาตรฐาน คือ รัฐสภา ให้มากที่สุดก่อน และสถาบันพระปกเกล้า ควรเป็นคลังสมองให้รัฐสภาเข้มแข็ง ที่สำคัญ อย่าให้มีรัฐธรรมนูญที่ใหญ่ เทอะทะ แก้ยากเกินไป เพราะจะไม่มีช่องทางให้ปรับแต่ง และเกิดการรัฐประหารได้อีก
ขณะที่ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวถึงประเด็นความขัดแย้งและจัดดุลยภาพ โดยสังคมไทยเดินมาสู่จุดหลักนิติธรรมกับหลักประชาธิปไตยเผชิญหน้ากัน ซึ่งกรณีองค์กรตรวจสอบกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงนาทีนี้ ฝ่ายนโยบายบอกว่า ทำนโยบายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะผ่านกระบวนการหาเสียง และความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทำให้ปัจจุบันต้องเผาข้าวกี่ล้านตัน เป็นเช่นนี้เพราะการเมืองอ้างว่า มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย ฉะนั้นองค์กรตรวจสอบจะเข้าไปได้มากน้อยเพียงใด
“กรณีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปท้วงติงได้มากน้อยเพียงใด กรณีของนโยบายประชานิยม ควรมีการจำกัดกระบวนการหรือไม่ เพราะนโยบายเหล่านี้จะนำไปสู่ความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยและการบังคับใช้” คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าว และว่า ถือเป็นปัญหาของดุลยภาพในสังคม ฉะนั้นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องระบุการจัดดุลยภาพให้ชัดเจนว่า กระบวนการก่อตั้งนโยบายประชานิยมมีหลักเกณฑ์อย่างไร รัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ทั้งนี้ หลักนิติธรรมกับหลักประชาธิปไตยก็ต้องอยู่ร่วมกัน เหมือนสองเสาอิงกัน จึงจะมั่นคง เคียงคู่ไปตลอด
สุดท้ายดร.ถวิลวดี กล่าวว่า ถ้าไม่มีหลักนิติธรรมยึดมั่นแล้ว ไม่มีใครอยากมาทำกินในประเทศ และหากพลเมืองในประเทศนั้นไม่ยึดมั่นหลักนิติธรรม เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เลวร้ายคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคนไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อหลักนิติธรรม คงจะอยู่ไม่เป็นสุข ทรัพยากรธรรมชาติเละเสิ่งแวดล้อมก็จะไม่ได้รับการปกป้อง โดยเฉพาะคนจน การจัดสรรบริการที่เป็นธรรมก็จะไม่เกิดขึ้น .