"เราควรสงวนทรัพยากรให้รุ่นต่อไปทำมาหากิน" คุยกับปธ.หอการค้า กระบี่ ในหลากมุมมอง
"ภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆมา ก็ควรให้ความสนใจอย่างยิ่งยวด เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยประกาศตัวจะเป็นเสือตัวที่ 5 อยากเป็น NICs อยากเป็นนั่นเป็นนี่ มันยาก... อนาคตของเรา คือภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว ที่สามารถพาประเทศเราไปได้"
“กระบี่” จังหวัดที่ตั้งฝั่งอันดามัน มีชายฝั่งยาว 160 กิโลเมตร มีหมู่เกาะกว่า 150 เกาะ โครงสร้างหลักของจังหวัดนี้อยู่ที่ภาคเกษตรกรรม รองลงมา คือ ภาคท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งก็มีจุดเด่นที่เป็นอุตสาหกรรมใช้แนวคิดสำหรับของเสียเหลือศูนย์ ( zero waste industry)
“เปล่งยศ สกลกิติวัฒน์” ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองส่องเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ 59 จัดโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
“วัดในแง่จำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยว “กระบี่” จัดอยู่ลำดับ 4 ของประเทศ ปี 2557 มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว 4.7 ล้านคน การที่มีภาคท่องเที่ยวมาเสริมนี้เองทำให้รายได้ต่อหัวคนกระบี่ เพิ่มขึ้น 185,000 ต่อคนต่อปี”
ขณะที่สนามบินนานาชาติกระบี่ มีรองรับเที่ยวบินต่อวันไม่ต่ำกว่า 70 เที่ยวบินนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ชี้ว่า พอขนาดผู้โดยสารมากขึ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมการบินพลเรือน ที่มีความเป็นราชการสูง เขาจึงมองว่า เป็นอุปสรรค และทำให้การทำงานไม่คล่องตัว โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการ
ก่อนจะยกตัวอย่าง ห้องน้ำสนามบินเสีย ก็ต้องตั้งเรื่อง และรองบประมาณปีหน้า เป็นต้น
“ผมอยากให้สนามบินกระบี่ โอนไปอยู่กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นผู้ดูแล อย่างน้อยการบริหารงานคล่องตัวกว่า และรองรับความคาดหวัง การเจริญเติบโตของนักท่องเที่ยวที่กำลังเข้ามา” เปล่งยศ ระบุ และว่า ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ ลงมาพื้นที่ จึงได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวไปบ้างแล้ว
นอกจากนี้ ทางหอการค้าจังหวัดกระบี่ ยังพยายามผลักดันให้มีการขยายสนามบิน คาดว่า ใช้งบหลักพันล้านบาท และพยายามผลักดันให้โอนสนามบินแห่งนี้ไปให้ทอท.ดูแล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ
ส่วนปัญหาและอุปสรรคสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เขาบอกว่า การมาเที่ยวตามอุทยานบนบน คุณอาจยังไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่หากเข้าไปเที่ยวอุทยานที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ หากลงไปเหยียบ 1 เกาะ นักท่องเที่ยวต้องเสียค่าธรรมเนียม 1 เกาะ ไปอีกเกาะใกล้ๆ กัน ก็ต้องเสียอีก
"ผมว่า สิ่งที่ควรจะเป็น ทำเป็นลักษณะบัตรใบเดียว เที่ยวได้ทุกเกาะ ซึ่งอาจจะขายเฉพาะนักท่องเที่ยว ระบุระยะเวลา เพื่อให้เหมือนกับบัตรโดยสารรถไฟที่ประเทศญี่ปุ่น"
สำหรับแนวคิด “เศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว” ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ บอกถึงความคืบหน้าว่า นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี แต่เขายังไม่แน่ใจว่า จะไปได้ถึงฝั่งหรือไม่
" เรื่องภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆมา ก็ควรให้ความสนใจอย่างยิ่งยวด เพราะก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยประกาศตัวจะเป็นเสือตัวที่ 5 อยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ นิค “Newly Industrialized Countrie: NICs” อยากเป็นนั่นเป็นนี่ มันยาก เพราะการขึ้นค่าแรงเป็นไปโดยนโยบายประชานิยม ตรงข้ามกับผลิตภาพการผลิตแรงงานที่แท้จริง
ด้านเทคโนโลยี เราก็รับอย่างเดียวไม่ได้มีการวิจัยและพัฒนาต่อ แม้แต่โรงงานผลิตรถยนต์ ก็ตั้งที่ไทยมาเป็นสิบๆ ปี แต่วันนี้กัมพูชาผลิตรถยนต์ในแบรนด์ของตัวเอง มาเลเซียผลิตรถในแบรนด์ตัวเอง ให้ความสำคัญถึงขั้นตั้งโรงเรียนสอนการประกอบและผลิตรถยนต์"
มองในด้านอุตสาหกรรม เขาชี้ว่า ประเทศไทยอาจจะไปไม่ถึงฝั่ง ประเทศไทยจะไปได้ต้องมองด้านการวิจัยและเทคโนโลยีให้มากกว่านี้ แต่อนาคตของประเทศ คือภาคเกษตรกรรม และภาคการท่องเที่ยว ที่สามารถพาประเทศเราไปได้ หามีการวางยุทธศาสตร์ดีๆ
“อดีตที่ผ่านมา เราเคยวางยุทธศาสตร์เป็นครัวของโลก แต่พบว่า แผนปฏิบัติการค่อนข้างลางเลือน ส่วนการท่องเที่ยว ผมเห็นว่า คนทุกคนจะมากจะน้อยจะรวยจะจนอย่างน้อย ปีหนึ่งต้องออกท่องเที่ยว”
ขณะที่ภาคเอกชน ผนึกกำลังทำ "กระบี่" ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกผ่อนคลาย สงบ แต่ภาครัฐกำลังมีเรื่องของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ยืนยันถึงจุดยืนของหอการค้า เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ได้มองว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นศัตรู แต่เรากังวลในหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะความเป็นเมืองท่องเที่ยว
“ในเมื่อคุณสร้างทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไม่ได้ ขอให้ปรับปรุงฟื้นฟู รักษาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ได้ คนรุ่นเราไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียว ยังมีรุ่นลูกรุ่นหลานเป็นเจ้าของทรัพยากรด้วยเช่นกัน เราควรสงวนทรัพยากรให้รุ่นต่อๆ ไปทำมาหากินได้
และอีกเรื่องที่เราห่วง คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากย้อนไปดูข้อมูลตั้งปี 2548 มีการเริ่มพูดคุย แต่ละปีมีการดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จนปี 2554 มีการเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 6 จุด 5 จังหวัด ซึ่งภาคใต้มีที่สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช หากไม่ทำอะไร ณ วันนี้ ผมว่าเมืองไทยไม่เหลืออะไรแล้วเรื่องท่องเที่ยว โดยทางเลือกอื่นๆ ก็ต้องเริ่มแล้ว
การพูดฝ่ายเดียว ตอนนี้ควรจะฟังหลายๆ ข้อมูล แต่อย่ามองคนไม่เห็นด้วยคือคนผิด แต่ควรเปิดใจและสภาพความเป็นจริง เพื่อให้นโยบายและทิศทางของประเทศเดินไปได้ถูกทาง”
ทั้งนี้ “เปล่งยศ” ยังเล่าถึงช่วงที่ได้มีโอกาสพบเจอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีมาถึง 2 สมัย ประกอบกับที่รู้มาเยอรมนีมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน
"เขาบอกผมว่า ตอนญี่ปุ่นมีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิม่า ที่ญี่ปุ่น เยอรมนี สั่งหยุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศเขา และเมื่อถาม มีโรงไฟฟ้าถ่านหินไหม เขาตอบว่า มี และกำลังพยายามที่จะลดอยู่ เหตุผลเพราะว่า พลังงานทางเลือกต่างๆ (Renewal Energy) ทั้งลม แสงแดด ชีวมวล เขากำลังเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ โดยมีการวางแผนไว้ว่า 10 ปี สัดส่วนตรงนี้ต้องเพิ่มให้ได้ 45%
และแม้ Renewal Energy จะเป็นพลังงานที่แพง แต่เขาบอกว่า ของทุกอย่างการเริ่มต้นแพงทุกอย่าง แต่หากทำเยอะๆ จะเกิด Economy of Scale (การประหยัดจากขนาด) ถ้าเพื่ออนาคตประเทศ นี่คือสิ่งที่เขาต้องทำ ในยุคของการเปลี่ยนผ่าน”
ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ วัย 30 ปลายๆ เน้นย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า “ในรุ่นผมเอง ไม่ห่วง รุ่นอนาคตต่างหากที่ผมเป็นห่วง”