สกว. เปิดพิมพ์เขียวจัดการทรัพยากร หนุนยกเครื่อง กม.ป่าไม้-ตั้งธนาคารที่ดิน
สกว.เปิดพิมพ์เขียวขับเคลื่อนทรัพยากรป่า-ที่ดิน พบปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ จี้ปรับปรุง กม.ป่าไม้ ดัน กม.ภาษีที่ดินฯ -ธนาคารที่ดิน ‘ดร.เพิ่มศักดิ์’ ชี้ปัญหาเกิดจากโลกทัศน์ต่างกัน หนุนใช้ที่ดินระบบแบ่งปัน เร่งวิจัยการกระจายถือครอง
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 โครงการชุดความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการปฏิรูปประเทศ ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ ข้อเสนอกลไกขับเคลื่อนประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
โดยในหัวข้อ เปิดพิมพ์เขียวด้านการบริหารจัดการการป่าไม้และที่ดิน ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน เปิดเผยถึงปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ของไทยว่า เป็นเรื่องแนวเขตป่าไม้ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดข้อโต้แย้งกับประชาชนจนถึงปัจจุบัน และแม้จะมีรัฐมนตรีผ่านเข้ามาหลายคนก็ไม่สามารถกำหนดได้ นอกจากนี้ประชาชนส่วนหนึ่งที่อาศัยทำประโยชน์ในเขตป่าไม้ โดยได้รับการผ่อนผันกลับได้รับสิทธิในที่ดินไม่แน่นอน
อีกทั้งมีการจับกุมผู้บุกรุกป่าดำเนินคดี โดยใช้แบบจำลองป่าไม้เรียกค่าเสียหายในอัตราสูง (คดีโลกร้อน) 1.5 แสนบาท/ไร่ รวมถึงบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะนิยามคำว่า ‘ป่า’ ควรแก้ไข แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า ควรแก้ไขอย่างไร
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับที่ดินของไทย ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน ทั้งนี้ ข้อสันนิษฐานเดิมระบุรัฐแจกที่ดินให้ประชาชนช่วยให้หายจนนั้น แต่มุมมองเห็นว่า การนำที่ดินแปลงเล็กให้ทำกิน ไม่สามารถรอดพ้นจากความยากจนได้ เพราะยังคงมีหนี้สิน และสูญเสียที่ดินอีก ดังนั้น ยุคปัจจุบันการนำที่ดินใส่มือจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาอีกต่อไป และยังมีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินส่วนหนึ่งถูกทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ เกิดการเก็งกำไร เพราะระบบภาษีขาดประสิทธิภาพ ไร้ระบบข้อมูลและการบริหารจัดการที่ดินที่ดี
“สิ่งที่น่ากังวล คือ ข้อมูลปี 2543 พบว่า มีผู้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ ป่าสงวนแห่งชาติ 4.5 แสนราย เนื้อที่ 6.4 ล้านไร่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1.85 แสนราย เนื้อที่ 2.2 ล้านไร่ ที่ราชพัสดุ 1.6 แสนราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ และที่สาธารณะ 1.1 ล้านไร่” ผศ.อิทธิพล กล่าว และว่า ปัจจุบันเฉพาะผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มเป็น 11.4 ล้านไร่ แต่จัดการปัญหาอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ แม้ทุกรัฐบาลจะรับปาก กระทั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการจัดตั้งอนุกรรมการจัดหาที่ดินขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา
ผู้ประสานงาน ศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน กล่าวถึงข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาป่าไม้ว่า ให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ให้เหมาะสมกับสภาพบริบทกับสังคมปัจจุบัน โดยควรเปลี่ยนบทบาทให้มากขึ้น
ทั้งนี้ กรมป่าไม้ทำหน้าที่รักษาป่าตั้งแต่ปี 2484 จนถึงปัจจุบันพบว่า ป่าหายไปเกือบครึ่ง จึงไม่แน่ใจว่า ให้ทำหน้าที่ต่อไปป่าจะหายไปอีกเท่าไหร่ ฉะนั้น เป็นไปได้หรือไม่ การจัดป่าต้องเป็นภารกิจร่วมกันระหว่างรัฐ ท้องถิ่น ชุมชน โดยบทบาทและการจัดการป่าควรอยู่ในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน ส่วนกรมคอยกำกับตัวเลข ข้อมูล รวมทั้งสภาพการจัดการ และนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการ จะทำให้เพิ่มพื้นที่ป่า โดยไม่ต้องขับไล่ประชาชน
ส่วนข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน ผศ.อิทธิพล กล่าวถึงการสนับสนุนยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... บังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยใช้หลักการเก็บฐานทรัพย์สินแทนการใช้ประโยชน์ และพิจารณาการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน ตลอดจน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ. ... เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน
ขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวว่า ปัญหามี 3 ประเด็นหลัก คือ
1.ความไม่เป็นธรรม มีการวางกรอบอำนาจกำหนดแนวเขตป่า ออกกฎหมาย มีการลิดรอนสิทธิของประชาชน
2.ความไม่สมดุลยั่งยืน แทบทุกพื้นที่เสื่อมโทรม ตั้งแต่ปิดป่าจนถึงปัจจุบันยังมีรายงานการสูญเสียป่าเกิดขึ้นทุกปี 5 แสน – 1 ล้านไร่ ชี้ให้เห็นว่า กลไกการบริหารจัดการไม่สามารถยุติหรือยับยั้งการสูญเสียได้
3.ความขัดแย้ง ซึ่งยืดเยื้อ รุนแรง นับวันต่อเนื่องไม่รู้จบ เเละจากปัญหาทั้งหมดทำให้คนนับล้านครอบครัวอยู่ในสภาพผิดกฎหมาย
“ปัญหาป่าไม้และที่ดินไม่ได้เกิดจากกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องโลกทัศน์ที่มองทรัพยากรต่างกันมาก ผมเชื่อว่า ที่ดินที่มีในประเทศเพียงพอกับทุกคน” นักวิชาการ กล่าว และว่า ไทยเป็นประเทศอันดับ 5 ของโลก ที่มีฟาร์มดีที่สุดในโลก ต่อจำนวนประชากร ส่วนจีน รัสเซีย ซึ่งมีพื้นที่มหาศาล แต่ที่ดินใช้ประโยชน์ได้มีน้อย ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า
แล้วจัดสรรให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ทำได้จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ แม้จะไม่แก้ปัญหาความยากจนทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะไม่จน และไม่เป็นภาระของรัฐ แต่สิ่งที่เลวร้าย คือ ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น หากยังมองที่ดินเป็นสินค้า ใช้กลไกตลาดเสรี ช่วยให้เกิดการกระจายเป็นธรรม และประสิทธิภาพการใช้สูงสุด แต่หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้ง พิสูจน์ว่า ช่วงนั้นการใช้ที่ดินไม่เป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้น จะแก้ปัญหาสำเร็จต้องเกิดแนวคิดเรื่องการใช้ที่ดินระบบการแบ่งปัน และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ห้ามตั้งสมมติฐานว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ 102.11 ล้านไร่ เนื้อที่ถือครองทางการเกษตร 149.23 ล้านไร่ และเนื้อที่นอกการเกษตร 69.34 ล้านไร่ ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2556 พบว่า ไทยมีจำนวนฟาร์ม 5.90 ล้านครัวเรือน ขนาดของฟาร์มโดยเฉลี่ย 25.28 ไร่ .