ผุด กก.กลางฯ!แต่งตั้ง ขรก.ป.ป.ช.ชง‘รบ. บิ๊กตู่’ ป้องการเมืองแทรกแซง
ป.ป.ช. ชงข้อเสนอแนะถึง ครม.ประยุทธ์ ปฏิรูประบบการโยกย้ายข้าราชการใหม่ ป้องกันการเมืองแทรกแซง-ช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตในวงราชการ ผุด “คณะกรรมการกลาง” เป็นคนเลือก เสนอได้ 2 ครั้ง ถ้า ครม. ไม่เอา สามารถทูลเกล้าฯ เองได้
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง !
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารงานบุคคลของภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ภายหลังเคยเสนอรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 และคณะรัฐมนตรีขณะนั้น มีมติรับข้อเสนอแนะดังกล่าว ส่งให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นำไปปรับใช้ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก ก.พ. ยังไม่ได้ออกกฎขึ้นมา จึงต้องใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ พ.ศ.2535 ไปพลางก่อน
ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นว่า แม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนดหลักเกณฑ์ป้องกันในการโอนย้ายข้าราชการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และป้องกันการเมืองแทรกแซงแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาอีกครั้ง
(อ่านประกอบ : รบ.อภิสิทธิ์แก้ไม่ได้! ป.ป.ช.ชง‘บิ๊กตู่’ สางปัญหาการเมืองแทรกแซงย้าย ขรก.)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. มาเสนอ ดังนี้
1.ให้มีการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลของภาครัฐ 4 ประการหลัก ได้แก่ (1) ตั้งคณะกรรมการกลาง (2) จัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ (3) กำหนดแนวทางและขั้นตอนการประเมิน (4) กำหนดแบบการประเมินข้าราชการ
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกลาง (Selection Committee : SC) ที่เป็นอิสระทำหน้าที่ในกระบวนการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และปรับปรุงระบบการประเมินบุคคลในภาพรวม โดยระหว่างที่มีการปรับปรุงระบบการประเมินบุคคลคู่ขนานกันไปนั้น ให้คณะกรรมการกลางกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเมื่อคณะกรรมการกลางได้ปรับปรุงระบบการประเมินบุคคลในภาพรวมเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้อมูลการประเมินจากระบบฐานข้อมูลบุคคลไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และในทุกระดับต่อไป
2.ในการจัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินผลและวิเคราะห์ข้าราชการ การกำหนดแนวทางและขั้นตอนการประเมิน และการกำหนดแบบประเมินข้าราชการ ให้คณะกรรมการกลางร่วมกับคณะกรรมการ ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว
3.คณะกรรมการกลาง ดำเนินภารกิจใน 3 ระดับ คือ
(1) ดำเนินการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง (ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี หรือเทียบเท่า หรือระดับ 11-9)
(2) คณะกรรมการระดับกระทรวง/กรม ที่ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาระดับปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดีลงมา ให้ทำงานร่วมกับผู้แทนของคณะกรรมการกลางเพื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับ 8-6
(3) คณะกรรมการกลาง เข้าร่วมดูแลในเรื่องการประเมินข้าราชการ ตั้งแต่ระดับสูงถึงระดับล่าง ให้เกิดความเป็นธรรมในการประเมินข้าราชการทุกระดับ โดยสำหรับข้าราชการตั้งแต่ระดับ 5 ลงมา คณะกรรมการกลางจะร่วมดูแลแนวทางการรับราชการที่ส่วนราชการกำหนดไว้ เพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มีโอกาสโยกย้ายหมุนเวียนในหน่วยงานต่าง ๆ ในส่วนราชการของตน เพื่อให้มีพื้นฐานและประสบการณ์รอบด้าน เพื่อใช้ในการทำงานและเลือกแนวทางในการรับราชการเมื่อมีอาวุโสสูงขึ้น
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการกลางนั้น มี 4 ฝ่าย ได้แก่ อดีตข้าราชการพลเรือน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สายวิชาการ โดยจำนวนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสายวิชาการ รวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการกลางทั้งหมด และคณะกรรมการกลางจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจำนวนกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
สำหรับคุณสมบัติที่สำคัญ ได้แก่ อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์ มีประสบการณ์ด้านการบริหารองค์กร เช่น เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคณบดีหรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ เป็นหรือเคยเป็นประธานบริหาร (CEO) ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่เป็นข้าราชการพลเรือนและพ้นจากราชการแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่เกิน 4 ปี ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้า ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และไม่เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มผิดปกติ เป็นต้น
ส่วนการได้มาซึ่งคณะกรรมการกลางนั้น จะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 25 คน มาจากภาครัฐ 6 คน โดยให้ที่ประชุมปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่า เลือกผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่า ที่พ้นจากราชการแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี
ภาคธุรกิจ 5 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
นักวิชาการ 4 คน ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล หรือเคยดำรงตำแหน่งด้านการบริหารไม่ต่ำกว่าคณบดี เสนอโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
องค์กรวิชาชีพที่จดทะเบียน เลือกกันเอง 4 คน องค์กรภาคประชาสังคมที่จดทะเบียนเลือกกันเอง 3 คน องค์กรอิสระ 3 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้แทนจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้แทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน
ให้บุคคลที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการกลาง แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการกลาง และกรรมการกลาง
สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลาง ได้แก่ คัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
โดยเมื่อมีตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงว่างลง ให้ที่ประชุมคณะกรรมกลาง พิจารณาคัดเลือกอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกผู้บริหารระดับสูงแทนตำแหน่งที่ว่างลงเป็นรายกรณี โดยในขั้นตอนการคัดเลือก ให้มีการเปิดเผยกระบวนการคัดเลือกต่อสาธารณะ โดยจัดจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และป้องกันปัญหาความโน้มเอียง อันเกิดจากอคติของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจบางท่าน โดยให้หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นเจ้าของตำแหน่ง เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้วย โดยกำหนดกรอบเวลากระบวนการคัดเลือกเพื่อให้ได้รายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงภายใน 45 วันนับแต่ตำแหน่งว่างลง
หากเป็นกรณีการเกษียณอายุให้ดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้ได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งทดแทนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 45 วัน และในกรณีโยกย้ายหมุนเวียนในระดับเดียวกัน ให้ดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้ได้รายชื่อผู้สมควรได้รับการดำรงตำแหน่งภายใน 30 วัน และกรณีมีการโยกย้ายตามลำดับการบังคับบัญชาให้ดำเนินการคัดเลือกภายหลังจากที่ดำเนินการในระดับที่สูงกว่าไปแล้วไม่เกิน 30 วัน
หลังจากนั้นให้คณะกรรมการกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อภายใน 15 วัน เมื่อให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานฯนำรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน หากคณะรัฐมนตรีไม่เลือกและไม่ดำเนินการภายในกรอบเวลาดังกล่าว คณะกรรมกลางจะนำรายชื่อมาเลือกและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพียง 1 ชื่อ หากคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการภายใน 30 วัน ให้ประธานฯ นำชื่อบุคคลที่เหมาะสมขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนั้น คัดเลือกจากผลงานที่โดดเด่นย้อนหลัง 5 ปี โครงการริเริ่มใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อราชการหรือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ความรู้ ทักษะความสามารถ เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีหน้าที่ถ่วงดุล โดยคณะกรรมการกลาง มีบทบาทในการยับยั้งกรณีที่ปรากฏว่าอาจเกิดปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมเป็นการล่วงหน้า ในกรณีที่เกิดปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการกลางและผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจพิจารณาเรื่องราวร้องเรียน ร้องทุกข์ โดยให้อำนาจตรวจสอบและสั่งระงับไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการกลางต้องรายงานผลดำเนินงานให้วุฒิสภาทราบ และในกรณีที่คณะกรรมการกลางดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตหรือไม่ชอบธรรมให้ถือเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งระบบการประเมินบุคคลใหม่ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 3 ปีแรก ให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรองปลัดกระทรวง อธิบดีและรองอธิบดี ย้อนหลัง 5 ปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เช่น ผลงานที่โดดเด่น โครงการริเริ่มใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อราชการหรือประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ความรู้ ทักษะและความสามารถ เป็นต้น ส่วนระยะยาวให้มีระบบการประเมินบุคคลและระบบฐานข้อมูลบุคคลที่มีประสิทธิภาพสำหรับการประกอบการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการกลางด้วย
(อ่านรายละเอียดทั้งหมด : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2558/993163997.pdf)
ทั้งหมดคือสาระสำคัญของข้อเสนอแนะในกระบวนการ “ปฏิรูป” ระบบการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ ฉบับ ป.ป.ช. ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมือง “แทรกแซง” จนเป็นต้นตอให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นทางราชการต่อไปอีก
ส่วนรัฐบาล “บิ๊กตู่” จะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. หรือไม่ ต้องติดตามผลกันต่อไป ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก pantip