รบ.อภิสิทธิ์แก้ไม่ได้! ป.ป.ช.ชง‘บิ๊กตู่’ สางปัญหาการเมืองแทรกแซงย้าย ขรก.
ป.ป.ช. ชง รบ.บิ๊กตู่ ผุด "คณะกรรมการกลาง" สางปัญหาทุจริตโยกย้ายข้าราชการ ป้องกันการเมืองแทรกแซง ทำให้มีความโปร่งใส หลังเคยชง รบ.อภิสิทธิ์แล้ว ยังแก้ไม่ได้ เหตุ ก.พ. อ้างยังไม่มีกฎทำให้เกิดศักยภาพ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารงานบุคคลของภาครัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมเป็นไปได้ของข้อเสนอแนะดังกล่าว เพื่อให้การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่ก่อให้เกิดการทุจริตในราชการตามมา และให้สำนักงาน ก.พ. จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สำหรับข้อเสนอแนะของสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการพิจารณางานบุคคลของภาครัฐนั้น ระบุตอนหนึ่งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีข้อเสนอแนะเรื่องการสร้างความโปร่งใสในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีติช่วงเดือน ก.ค. 2553 ให้คณะกรรมการ ก.พ. ไปพิจารณา
อย่างไรก็ดีเมื่อเดือน ต.ค. 2557 สำนักงาน ก.พ. มีหนังสือด่วนแจ้งข้อเท็จจริงว่า หลักเกณฑ์การย้ายโอนข้าราชการตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ระบุว่า ต้องเป็นไปตามกฎ ก.พ. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกฎ ก.พ. ทำให้ไม่สามารถทำได้ จึงให้ยึดตามหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ไปก่อน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะพยายามกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการย้าย การโอน หรือเลื่อนข้าราชการพลเรือนมาโดยตลอดก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่าหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนได้ เพราะปัจจุบันระบบการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงมีการร้องเรียนและกล่าวหา เรื่องความไม่โปร่งใสในหลายหน่วยงาน ดังปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนต่าง ๆ อยู่โดยตลอด การแต่งตั้งข้าราชการที่ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม นอกจากจะทำให้หน่วยงาน และผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้งเกิดความมัวหมองขาดความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นผลให้ข้าราชการขาดขวัญและกำลังใจ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการทุจริตในวงราชการอีกด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาและพิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุการร้องเรียนและการกล่าวหาถึงเรื่องความไม่โปร่งใสและเป็นธรรมในการแต่งตั้งข้าราชการนั้น เนื่องมาจากระบบการสรรหาและการคัดเลือกข้าราชการขาดการถ่วงดุล การกำหนดกรอบ การใช้ดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจขาดประสิทธิภาพ และผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นสมควรเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารงานบุคคลของภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 19 (11) เพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นธรรมและถูกต้องเหมาะสม อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของภาครัฐและเป็นการช่วยแก้ปัญหาการทุจริตในวงราชการ
โดยให้มีการปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลของภาครัฐ 4 ประการหลัก ได้แก่ 1.ตั้งคณะกรรมการกลาง 2.จัดตั้งศูนย์/หน่วยงานประเมินและวิเคราะห์ข้าราชการ 3.กำหนดแนวทางและขั้นตอนการประเมิน 4.กำหนดแบบการประเมินข้าราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อ่านประกอบ : ผุด กก.กลางฯ!เลือก ขรก.ป.ป.ช.ชง‘รบ.บิ๊กตู่’ ป้องการเมืองแทรกแซง
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ป.ป.ช. news.tlcthai.com, ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก tnews