ค่าเก็บข้าวค้างสต็อก'รบ.ปู'เดือนละพันล.! จ่อเปิดประมูลข้าวเสียให้โรงงาน
“อภิรดี” รมว.พาณิชย์ ตอบข้อซักถาม “ครูหยุย” ปมบริหารจัดการ-ระบายข้าวในสต็อกโครงการจำนำข้าว รบ.ยิ่งลักษณ์ ยันเสียค่าเก็บข้าวพันล้าน/เดือน มีข้าวเหลือ 18.7 ล้านตัน เสีย 6 ล้านตัน แจ้งความเซอร์เวเยอร์-เจ้าของโกดังแล้ว เตรียมเปิดให้โรงงานประมูลข้าวเสีย ลั่นโปร่งใส-ตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการจัดการเกี่ยวกับคลังเก็บสินค้าข้าวในโครงการรับจำนำข้าว (สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันภาครัฐต้องมีภาระทางการคลังเป็นอย่างมาก ต้องแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ไขลุล่วงเป้าหมายที่ได้คาดหวังไว้ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
โดยถามว่า 1.รัฐบาลมีมาตรการในการจัดการเกี่ยวกับคลังสินค้าที่เก็บข้าวเสื่อมคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงข้าวเน่าเสียหรือไม่ ประการใด ข้าวที่เก็บรักษาไว้ในคลังเก็บสินค้ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายในการเก็บดูแลรักษาจำนวนเท่าใด
2.รัฐบาลมีนโยบายหรือแนวทางในการบริหารจัดการในการระบายข้าวเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากข้าวในคลังสินค้าเสื่อมคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่ ประการใด
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ มาตอบกระทู้ถามดังกล่าวแทน โดยนางอภิรดี กล่าวตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการ และแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อดำเนินการบริหารจัดการข้าวในสต็อกของรัฐบาล มีการตั้งทีมจำนวน 100 ชุด ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวที่คงเหลือในสต็อกของรัฐทั่วประเทศ พบว่ามีทั้งข้าวเหลือทั้งหมดประมาณ 18.7 ล้านตัน เป็นข้าวกลุ่มผ่านเกณฑ์ หรือหย่อนคุณภาพเล็กน้อย สามารถนำมาระบายได้ปกติประมาณ 12 ล้านตัน ข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือข้าวเสียประมาณ 6 ล้านตัน และกลุ่มข้าวขาดบัญชีประมาณ 4 แสนตัน ซึ่ง นบข. ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทเซอร์เวเยอร์และเจ้าของโกดังที่เก็บข้าวคุณภาพต่ำ และข้าวขาดบัญชีแล้ว และขณะนี้ยังมีข้าวอยู่นอกคลังกลางที่ยังต้องตรวจสอบอีกประมาณ 3 แสนตัน
นางอภิรดี กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาข้าวในสต็อกของรัฐบาล จำนวน 18.7 ล้านตันนั้น มีค่าใช้จ่ายเป็น ค่าเช่าคลัง ค่าฝากเก็บ ค่าดอกเบี้ย ค่ารักษา ค่ารมยา ค่าเงินกู้ ค่าประกันภัย เฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 พันล้านบาท และจะลดลงเรื่อย ๆ หากมีการระบายข้าวออก ซึ่งตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระกับรัฐบาล เพราะฉะนั้นรัฐบาลได้รับทราบประเด็นนี้ และพยายามจะระบายออกให้เร็วที่สุด
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เริ่มระบายข้าวตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน ะบายข้าวในสต็อกไปแล้วเป็นข้าวคุณภาพประมาณ 5 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท มีข้าวคงเหลือในสต็อกประมาณ 13.7 ล้านตัน ส่วนข้าวเสียที่อยู่ในขั้นตอนการรับแจ้งความ และตำรวจกันไว้เป็นของกลางนั้น ล่าสุดได้รับแจ้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบคุณภาพและปริมาณเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องเก็บเป็นของกลาง สามารถนำมาระบายได้ ซึ่งในส่วนข้าวเสีย จะมีการจัดระบบควบคุมที่รัดกุมชัดเจน ไม่ให้ข้าวเหล่านี้ไหลเวียนกลับมาในตลาด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อตลาด และคุณภาพของข้าวไทย
“วิธีการคือ จะเริ่มระบายข้าวที่ไม่เหมาะแม้แต่จะทำอาหารสัตว์ เปิดประมูลให้นิติบุคคลหรืออุตสาหกรรมนำไปใช้ และต้องมีใบรับรองว่าจะใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น และมีระบบควบคุมการขนส่งจากคลังไปถึงโรงงาน โดยกฎหมายจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อข้าวเข้าโรงงานแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าไปสุ่มตรวจได้ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง ขั้นตอนจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อความมั่นใจในการระบายข้าว” รมว.พาณิชย์ กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบโกดังข้าวจาก dailynews