“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” กับข้อเสนอ “จัดการภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม บูรณาการ ครบวงจร”
อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา นำเสนอ “การผ่าวิกฤตมหาอุทกภัยก้าวอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนที่ปลอดภัย” ในการประชุมศูนย์ประสานงานช่วยเหลือภัยพิบัติเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคี ที่ประกอบด้วย สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ คณะประสานงานองค์กรชุมชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค สภาองค์กรชุมชน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ก้าวอย่างยั่งยืนของชุมชนปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ในวิกฤตของโลกที่เกิดจากความไม่สมดุลย์ เพราะมีการเอาเปรียบระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติมากเกินไป เราต้องน้อมนำปรัชญาเศรษกิจพอเพียงมาใช้จึงจะช่วยโลกให้พ้นจากวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าได้
ปัจจุบันประชากรโลก 7,000 ล้านคน มีมากเกินกว่า 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับทรัพยากรโลกที่มีอยู่ คน 20% แรกบริโภค 55% ส่วน 20% สุดท้ายกลับบริโภคไม่ถึง 5% อีกทั้งคุณธรรมความดีน้อยลงและลดทอนลงเรื่อยๆ นับเป็นภาระหนักอึ้งของโลกกับทรัพยากรที่มีอยู่ เราต้องหันมาใช้เทคโนโลยีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้ชีวิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และต้องลดจำนวนประชากร ถ้าประชากรประมาณ3 พันล้านคน โลกจะอยู่สบายขึ้น
เมื่อสังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตมหาอุทกภัยนับเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ถ้าได้เรียนรู้และทำงานจริงจังทั้งประเทศ ความร้ายแรงที่จะเกิดในอนาคตก็จะน้อยลงกว่าปัจจุบัน และการทำให้ชุมชนปลอดภัย จะต้องมองทั้งโลก โดยเน้นเรื่องความดี ความสามารถ และความสุข ลดวัตถุนิยมลงให้น้อยที่สุด
ส่วนข้อเสนอในการสร้างประเทศไทยใหม่ และจัดการน้ำอย่างขนานใหญ่ มองว่าจะมีทางเลือกที่ให้ถกเถียงกัน คณะกรรมการฟื้นฟูประเทศไทยใหม่ และคณะกรรมการจัดการน้ำทั้ง 2 คณะ ต้องมีวิสัยทัศน์การจัดการที่เหมาะสม ที่สำคัญต้องไม่ลืมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน ทุกระดับ ท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ระดับชาติ โดยใช้กระบวนการที่ดี ซึ่งปัจจุบันรัฐยังจัดกระบวนการไม่เป็น จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง อย่างที่ประตูน้ำคลองสามวา หรือที่อื่นๆ บ้านเรามีความซับซ้อนมาก ต้องใช้ทำงานแบบแนวราบ ที่นับว่าเป็นเรื่องยากมาก ประชาชนทั้งหมดต้องมาร่วมกัน และต้องไม่เอาจุดยืนของแต่ละฝ่ายเป็นตัวตั้ง
“ในยามวิกฤตเช่นนี้ องค์กรชุมชน เราต้องถือเรื่องการจัดการและการเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ” ขอเสนอแนวคิด วิธีการ แบ่งเป็นประเด็นดังนี้
การป้องกันระยะไกลมาก ต้องมุ่งสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ชะลอและลดจำนวนประชากรให้เข้าระดับสมดุล อนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยปรับวิถีชีวิตวัฒนธรรมจาก “บริโภคนิยม/วัตถุนิยม/ ยื้อแย่งแข่งขันนิยม” เป็น “พอเพียงนิยม/คุณธรรมความดีนิยม/เอื้อเฟื้อแบ่งปันนิยม”
การป้องกันระยะไกล ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติ รวมถึงน้ำ ป่า อากาศ ทั้งระบบ ที่เชื่อมโยงบูรณาการครบวงจร ทั้งภายในประเทศและที่เกี่ยวโยงกับประเทศข้างเคียง รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในเชิงการวางผังเมืองและผังชนบททุกมิติ รวมถึงระบบคมนาคม การขนส่ง ถนนหนทาง เขตอุตสาหกรรม เขตพาณิชยกรรม เขตที่อยู่อาศัย เขตป่า เขตพื้นที่สีเขียว
การป้องกันระยะปานกลาง เลือกดำเนินการบางส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติและการวางผังเมืองและชนบทที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก และใช้เวลาไม่นานนักเช่น การทำแก้มลิงขนาดใหญ่ในบริเวณลุ่มน้ำต่างๆ การทำเหมืองฝายและประตูน้ำที่เหมาะสม การปรับหรือสร้างถนนและทางเดินของน้ำที่เหมาะสม การจัดทำระบบป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ระบบป้องกันอันตรายจากพายุ และคลื่นยักษ์สึนามิ ระบบการป้องกันอุบัติเหตุ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม
การป้องกันระยะใกล้ สร้างกำแพงกั้นริมแม่น้ำ คู คลอง/ การปรับหรือพัฒนาระบบทางเดินของน้ำใกล้ชุมชนทั้งในชนบทและเมือง การปรับหรือพัฒนาถนน คู คลอง ทั้งในชนบทและในเมือง/ การปรับหรือพัฒนาอาคารบ้านเรือนให้สามารถป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ ไฟไหม้ ได้ดีขึ้น/ การสำรวจจุดเสี่ยงประเภทต่างๆ และดำเนินการป้องกันความเสี่ยงนั้นๆ
การเตรียมความพร้อม มีระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ยานพาหนะ อุปกรณ์ ฯลฯ ความพร้อมด้านปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ เวชภัณฑ์ ความพร้อมด้านการจัดการรวมถึงความพร้อมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ความพร้อมของบุคลากรในแต่ละประเภท ความพร้อมด้านการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ การจัดทำคู่มือ เอกสาร การให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ความเข้าใจ การฝึกซ้อมเป็นระยะๆ เพื่อเพิ่มประสิทธฺภาพของการเตรียมความพร้อมและความสามารถเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน
การเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน (ภัยพิบัติ) ต้องดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อม และปรับเปลี่ยนหรือสร้างสรรค์วิธีการและอื่นๆให้เหมาะกับสถานการณ์จริงอย่างทันเวลา การรักษาและเสริมสร้างกำลังใจ ความสามัคคี รวมพลังสร้างสรรค์ ร่วมมือประสานงานระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลและใช้การสื่อสารอย่างถูกต้องเหมาะสม เพียงพอ สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ
การบรรเทาและฟื้นฟู ต้องจัดการโดยชุมชนเป็นหลัก โดยองค์กรอื่นๆเป็นฝ่ายสนับสนุน ความทันต่อเวลา ความเหมาะสมของลำดับก่อนหลัง และปริมาณการช่วยเหลือสนับสนุนในการบรรเทาและฟื้นฟู การผสมผสานการบรรเทาและฟื้นฟูกับการพัฒนาและอภิวัฒน์ (ใช้วิกฤตเป็นโอกาส)
การพัฒนาและอภิวัฒน์ สังคมควรศึกษาเรียนรู้ สร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมจากประสบการณ์จริง จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ จากการจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและอภิวัฒน์ที่ดียิ่งขึ้น การพัฒนาและอภิวัฒน์เกี่ยวกับการจัดการและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ การพัฒนาและอภิวัฒน์เกี่ยวกับระบบป้องกันและการเตรียมความพร้อมในระยะ ระดับ มิติ และด้วยวิธีการต่างๆ
บทบาทและการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆ ชุมชน องค์กรชุมชน ภาคประชาชน ควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ และมีส่วนร่วมสูงในการจัดการภัยพิบัติทุกระยะ ทุกระดับ ทุกด้าน ทุกมิติ และในทุกวิธีการ/ หน่วยงานภายนอกชุมชนทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง องค์การอื่นๆ ของรัฐ ภาคธุรกิจ ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์การจากต่างประเทศ ควรเป็นฝ่ายสนับสนุนร่วมมือประสานงานอย่างมีคุณภาพประสิทธิภาพ โดยมีชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
การศึกษาวิจัย เครือข่ายการเรียนรู้และความร่วมมือ ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติที่มากพอและดีพอ ควรมีเครือข่ายที่มีองค์ประกอบต่างๆ ตามความสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดการความรู้ และพัฒนาเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติในระยะ ระดับ มิติ และวิธีการต่างๆ ตามที่เห็นร่วมกันว่าเป็นประโยชน์ โดยมีกิขกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ ตามที่เห็นร่วมกันว่าเหมาะสม
ขอย้ำถึงหลักการสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น หรือการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ต้องใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยประชาชน ชุมชน องค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญ ซึ่งต้องร่วมมือกับท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) และหน่วยงาน องค์กรภายนอก ทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย สถาบันศาสนา เป็นฝ่ายหนุนเสริมสนับสนุน โดยมีเป้าหมายรูปธรรมที่มีตัวชี้วัด มีวิธีการเหมาะสมลงมือปฏิบัติ วัดผลประเมินผลได้และเรียนรู้ปรับปรุงพัฒนา วงจรการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืนต่อไป
ภาพรวม “การจัดการภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม บูรณาการ และครบวงจร” ที่ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมกันจัดการภัยพิบัติในทุกขั้นตอน เริ่มจากการเตรียมความพร้อม การเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน การบรรเทาและฟื้นฟู การพัฒนาและอภิวัฒน์ การป้องกันระยะไกล ปานกลาง ระยะใกล้ ร่วมมือทั้งในชุมชน ระหว่างชุมชน จนถึงระดับชาติ ทำให้ครบวงจร และหวังว่าจะไม่หยุดแม้เมื่อน้ำลดระดับสู่ภาวะปกติแล้ว.