องค์กรชุมชน 14 จังหวัดใต้ แบ่งปันประสบการณ์-สิ่งของช่วยน้ำท่วมกรุง
คนกรุงเมืองนนท์ปลื้ม องค์กรชุมชน 14 จังหวัดใต้เดินทางไกลมาช่วยภัยน้ำท่วม มอบสิ่งของ-แบ่งปันประสบการณ์รับมือภัยพิบัติ-แนะมีสติช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย ชาวบ้านวิพากษ์ศูนย์อพยพที่ดีต้องอยู่ใกล้บ้าน
วันที่ 10 พ.ย.54 ที่ ร.ร.สตรีนนทบุรี ตัวแทนองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้นำสิ่งของมาช่วยเหลือและลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน อ.เมืองนนทบุรี ณ วัดแคใน ต.บ้านกร่าง จ.นนทบุรี นางลลิตา บุญช่วย เลขานุการสภาองค์กรชุมชน ต.หม่อแดง อ.สทิงพระ จ.สงขลา และคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชน จ.สงขลา กล่าวว่าการมาในครั้งนี้เพื่อบ่งบอกถึงน้ำใจเช่นเดียวกับพี่น้องภาคกลางเคยส่งสิ่งของลงไปช่วยเหลือชาว อ.สทิงพระครั้งประสบภัยพิบัติเมื่อปีก่อน
นางลลิตา ยังเล่าประสบการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า ครั้งนั้นเกิดจากความไม่รู้ เพราะ อ.สทิงพระไม่เคยเกิดน้ำท่วมรุนแรงขนาดนั้น ชาวบ้านแต่ละคนจึงตั้งรับกับความสูญเสียไม่ทัน แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ว่าควรรับมืออย่างไรกับภัยพิบัติ ดังนั้นจะสังเกตว่าเหตุการณ์เหมือนกับคนกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคกลางขณะนี้ที่เกิดจากความไม่รู้ แต่เชื่อแน่ว่าหากน้ำท่วมครั้งหน้าหลายคนจะแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
“ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ต้องช่วยเหลือดูแลกันเอง โดยเตรียมตัวให้พร้อมร่วมมือร่วมใจกัน จิตอาสาจึงมีส่วนสำคัญ รวมถึงผู้ประสบภัยควรจะตั้งสติและอยู่กับปัญหาให้ได้ หากมีสติ ผลดีมีได้เกิดที่ตนเองเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเกิดกับชุมชนและประเทศ” นางลลิตา กล่าว
ด้าน นายชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ แกนนำชุมชน ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี และผู้ประสานงานศูนย์อพยพผู้ประสบภัยโรงเรียนสตรีนนทบุรี กล่าวว่า การตั้งศูนย์อพยพผู้ประสบภัยที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น ควรจัดตั้งใกล้พื้นที่ประสบภัย เนื่องจากต้องการให้ชาวบ้านสามารถกลับไปดูแลบ้านเรือนของตนเองได้หลังน้ำลด และจะต้องมีกฎระเบียบในการเข้าออกศูนย์ผู้ประสบภัย ตลอดจนถึงจัดลำดับผู้อยู่อาศัยและลงทะเบียนอย่างเป็นระบบ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ไกลเหมือนที่รัฐจัดให้ตอนนี้ อีกทั้งของบริจาคซึ่งหากได้รับมากเกินไปก็ควรแบ่งปันไปให้ชุมชนอื่นที่เดือดร้อนกว่า
ขณะที่ นายวรวิทย์ กาญจนะพันคะ ผู้ประสบภัย ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี กล่าวว่าคนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยมานานนับเดือน ส่งผลให้วิถีชีวิตของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไป หลายคนที่มีบ้านชั้นเดียวต้องอพยพมาอยู่ที่โรงเรียนวัดแคใน ส่วนเรื่องอาหารได้รับการอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อจากองค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ และขอบคุณพี่น้องชาวใต้ทั้ง 14 จังหวัด ที่มีน้ำใจแบ่งปันสิ่งของต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนอย่างหนักในครั้งนี้.