สภาพัฒน์ฯ หวั่นไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าสุขภาพเพิ่มเป็น 1.4 ล้านบาท ในปี 2571
สภาพัฒน์ฯ เผยหากไทยเพิ่มอัตราการเกิดไม่ได้ ภายในปี 2564 จะส่งผลให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ กระทบเศรษฐกิจ-แรงงานประเทศระยะยาว
เมื่อวันที่ 5 พฤจิกายน 2558 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNFPA จัด "ประชุมเพื่อจัดทำเอกสารแผนงานพัฒนาประเทศ รอบที่ 11" ณ โรงเเรมอมารี วอเตอร์เกท โดยมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เอ็นจีโอ รวมไปถึงตัวแทนจากสื่อมวลชนเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยน เพื่อจัดทำเอกสารแผนงานในการพัฒนาประเทศในครั้งนี้
ในช่วงต้นการประชุม นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในปัจจุบัน พบว่า อัตราเจริญพันธ์ุรวมลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับทดแทน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กและแรงงานลดลง เเละผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงสร้างประชากรเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัย
ทั้งนี้ หากมองในระบบเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่เป็นกลุ่มทำเงิน คือ กลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มคนในช่วงนี้อยู่ 66% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ หากอัตราการเกิดใหม่ของไทยยังลดลงต่อไปจนถึงปี 2564 ประชากรกลุ่มแรงงานจะลดลงเหลือเพียง 63 % และจะลดเหลือ 55% ในปี 2583
สิ่งเหล่านี้จะผลักให้ไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน โดยคาดว่าหากยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่เข้ามาแทนที่ได้ ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะมีผลกระทบในหลายด้าน กล่าวคือ
1. ภาระในค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านบาท ในปี 2571
2. รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีอัตราการออมต่ำ เมื่อเกษียนอายุไปทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ แม้จะมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน แต่ยังมีน้อยอยู่
3. ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะลดลงตั้งแต่ปี 2577 กลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเฉลี่ยเร็วที่สุดกว่า 4.4%
"จากการวิจัยพบว่า ปัจจุบันอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ผู้สูงอายุ 1คน ต่อวัยแรงงาน 4.2 คน และคาดว่าในปี 2564 จะเหลืออัตราเพียง 1: 3.2 คน" นางสาวจินางค์กูร กล่าว เเละว่า จำเป็นต้องพัฒนากลุ่มคนแรงงานให้มีความสามารถมากขึ้น ร่วมไปถึงผู้สูงวัยต้องสามารถดูเเลได้มากขึ้นด้วย
โดยหากอัตราการเกิดยังต่ำต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ บางครั้งคนหนึ่งคนจะต้องสามารถทำได้หลายอย่าง ทั้งดูเเลผู้สูงวัยและทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย
4. ขาดแคลนกำลังแรงงาน อัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ในสังคมไทย ทำให้ไทยมีแนวโน้มที่วัยแรงงานจะลดลงเหลือ 35.2 ล้านคนปี 2583 มีปัญหาผลิตภาพต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น
ด้าน ผศ.ดร. สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กและเยาวชนต้องได้รับการพัฒนาด้านสติปัญหาและอารมณ์มากขึ้น เพราะปัจจุบันพบว่า เด็กไทยเฉลี่ยระดับไอคิวและอีคิว อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งพลังของเยาวชน คนรุ่นใหม่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาประเทศ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ .