มุมมองกูรูคาดการณ์ ศก.ปี 59 น่าลงทุนหรือควรชะลอ
นักลงทุนคาดปี 59 จีดีพีโต 3.5% รอ รธน.ชัดเจน ตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจ จับตาจีน ปัจจัยเสี่ยงไทย ด้านเลขาธิกรสภาพัฒน์ฯ มั่นใจยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 32.5 ล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้น
เป็นประจำทุกปีที่ 'ประชาชาติธุรกิจ' หนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วัน ในเครือมติชน จะมีกิจกรรมสัมมนาเศรษฐกิจ เเละมักได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
เช่นเดียวกับปีนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องนภาลัย โรงเเรมดุสิตธานี ภายใต้หัวข้อ ‘THAILAND 2016 อนาคตเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน’ มีภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยบางช่วงบางตอน วิทยากรผู้รู้รอบด้านเศรษฐกิจ อย่าง 'ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศขณะนี้มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจว่า ไทยเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ เพราะรัฐบาลทุกสมัยมีนโยบายกระตุ้น โดยใช้ประชานิยมคล้ายคลึงกัน ทำให้คนสุขภาพที่ไม่ดีอยู่เเล้ว เกิดอาการดื้อยา ฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน
ทั้งนี้ ไม่มีใครทราบว่า อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เพราะความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน และเมื่อมีความไม่แน่นอน ย่อมเสี่ยงกระทบการลงทุน
ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเราพูดเรื่องจีดีพีมากเกินไป ซึ่งให้ภาพไม่ค่อยชัดเจน แม้ตัวเลขปีนี้จะอยู่ที่ 2.5-2.7% แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกแย่ เนื่องจากรายได้ครัวเรือนไม่เติบโตตาม นอกจากรายได้ภาคเกษตรแล้ว ยังมีรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรด้วย เป็นตัวสะท้อนเหตุผลเศรษฐกิจไทยฝืด
ด้านมุมมองของ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กล่าวว่า ภาพรวมจีดีพีของไทยปีหน้าจะดีขึ้น ซึ่งมีหลายปัจจัยสนับสนุนอยู่ อาทิ การท่องเที่ยว ที่เป็นพระเอก โดยหวังว่า ปี 2559 จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 32.5 ล้านคน จากเดิม 30 ล้านคน ในปี 2558 ส่วนการลงทุนภาครัฐ ได้เตรียมการไว้แล้ว บางโครงการเริ่มก่อสร้างแล้วในปีนี้ แต่โครงการเมกะโปรเจกหลายแสนล้านบาทเริ่มก่อสร้างปีต่อไป
สำหรับการส่งออกนั้น เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ครึ่งปีแรก 2558 ผิดเป้า ดึงเศรษฐกิจไทยตกต่ำ แต่นักลงทุนเชื่อว่าปีหน้าจะดีขึ้น ทำให้การส่งออกไม่น่าเลวร้าย นอกจากนั้นค่าเงินบาทก็ปรับค่า จะเห็นว่าภาพหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี รัฐบาลได้สนับสนุนการลงทุนทั้งภาครัฐ เอกชน และเอสเอ็มอี
ขณะที่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า นักลงทุนต้องถามตัวเองว่า เมื่ออยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว และโครงสร้างทางอำนาจลักษณะนี้ จะเป็นโครงสร้างที่ยั่งยืนและพอใจหรือไม่ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเอกสาร เพื่อจัดสรรอำนาจการปกครอง ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย
“หากรัฐบาลปัจจุบันอยู่ต่อไปอีก 10 ปี จะให้อยู่แบบนี้ได้หรือไม่ ถ้านักลงทุนมั่นใจก็ไม่ว่าอะไร ทำธุรกิจต่อไป หากคิดว่า ต้องมีรัฐธรรมนูญและจัดสรรอำนาจใหม่ขึ้นมา เพื่อมีเสถียรภาพทางการเมืองก่อน นักลงทุนก็ต้องรอ เพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องการ คือ สิ่งที่คาดการณ์ได้”
กรรมการผู้จัดการฯ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ยังกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2559 ว่า ทุกคนต้องคาดการณ์ในเชิงบวกทั้งหมด โดยจีดีพีปีหน้าอาจโตถึง 3.5% จากเดิม 2.5% ปี 2558 โดยการส่งออกพลิกฟื้น จากปีนี้ -4.55% ปีหน้า +3% จะมีก็เพียงแต่ประเทศแถบละตินอเมริกาติดลบ แต่ในระดับที่น้อยกว่า ทั้งนี้ ไทยอาจเจอความเสี่ยงหลัก ๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยพูดเสมอ คือ จีน ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาหารือกับบริษัทมักจะสอบถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยเป็นหลัก
นายสันติธาร เสถียรไทย ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ธนาคารเครดิตสวิส กล่าวว่า แม้ไทยส่งออกไปจีนจำนวนมาก แต่ไม่มากเท่าเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย หรืออาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่การค้าและเงินสำรองไทยยังสูงอยู่ รวมถึงมีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะฉะนั้นเชื่อว่า สถานการณ์ในประเทศจะไม่วิกฤติ
ยกเว้น 2 ประเทศในเอเชียที่วิกฤติ คือ มาเลเซีย กับอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอินโดนีเซียมีการกู้เงินสกุลต่างประเทศมาแปลงเป็นเงินรูเปียะฮ์มากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี คือ ฟิลิปปินส์ เพราะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศได้ โดยคนภายนอกมองว่า สถานการณ์ดีขึ้นแบบก้าวกระโดด 50-60 อันดับ ทำให้นักธุรกิจกล้าเข้าไปลงทุน
ผู้บริหาร ธนาคารเครดิตสวิส ยังบอกว่า หากจะให้คาดเดาสภาพเศรษฐกิจ ปี 2559 คงคาดเดายาก แต่สิ่งที่สำคัญ เวลามีการชะลอตัวหรือฟื้นตัว ไม่ใช่ทุกส่วนจะไปด้วยกัน จะมีบางส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากตัวแปรบางอย่างจำนวนมาก บางส่วนได้รับยามาก บางส่วนเจอโรคหนัก แต่ส่วนที่จะถูกขับเคลื่อนได้ดี คือ โครงสร้างพื้นฐาน เพราะอยู่ใกล้ยา ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ส่งผลดีในด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเกษตรอาจมีราคาตกต่ำ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเกิดหนี้ภาคเกษตร ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นการลงทุนไม่จำเป็นต้องมองจีดีพีเป็นตัวตั้ง แต่มองแยกว่ากลุ่มใดเหมาะแก่การลงทุนแทน
ทั้งหมด คือ การคาดการณ์เเนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยในศักราชหน้า สุดท้ายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเเวดล้อมหลายด้านที่ต้องให้ความสำคัญ .