‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ปฏิรูป ปท.ไม่ทำใน 1 ปีครึ่ง จะไม่มีเวลาทำอีกเลย
“ผมอยากจะเรียนว่า กระทรวงการคลังกับผม เวลาจะทำอะไรรับรองว่า รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เราไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องมีหน้าที่เอาใจใคร และมีอายุขนาดนี้แล้ว และดูถี่ถ้วนแล้วว่า ต้องไม่ให้ฐานะการคลังถูกกระทบ”
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยประชาชาติธุรกิจ จัดสัมมนา Thailand 2016 อนาคตเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การมางานครั้งนี้เป็นหนทางเดียวที่จะสื่อความสิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมทำ ให้กับศาสนชนได้เต็มที่ ไม่มีข้อบิดเบือน ในยุคที่สังคมข่าวสารเต็มไปด้วยข่าว โดยในยุคที่ผมเรียนการตลาดในต่างประเทศ มีคนบอกว่า ‘เสียง’ เป็นสิ่งสำคัญมาก
เสียงในที่นี้ หมายถึง เสียงของข้อมูลข่าวสาร ถ้าคุณไม่สามารถเจาะทะลุเสียงนี้ได้ สิ่งที่สังคมได้รับรู้กับสิ่งที่คุณคิดและทำ สามารถแปรสภาพได้มโหฬาร
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปลายปีนี้จะครบเวลา 3 เดือนที่ผมเข้ามา ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ได้คิดว่าต้องเข้ามา และไม่เคยคิดจะเข้ามา โดยในสมัยเป็นที่ปรึกษคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) ตั้งใจช่วยงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว บางครั้งก็นึกอยู่ในใจเป็นผลจากการบนบานศาลกล่าวสมัยเป็นนักศึกษาหรือไม่
ครั้งนั้นได้สอบชิงทุน ก.พ.ไปเรียนต่างประเทศ ผมจำได้ว่า ได้กราบอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยบอกว่า ถ้าเสด็จพ่อให้ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ กลับมาผมจะทำทุกอย่างเพื่อประเทศ รู้สึกจะบนบานเสียงดังไปหน่อย เลยได้มาสองรอบ
รอบหลังนี้ไม่เหมือนรอบแรก รอบแรกหนักหน่วงมาก แต่ในยุคนั้นผมยังหนุ่มแน่น แต่ด้อยประสบการณ์ ได้เข้าไปมีโอกาสทำงาน เรียนรู้ ในที่สุดโชคดีพอทุกอย่างผ่านพ้นไป จำได้ว่าปี 2548 ตัวเลขดัชนีวัดไม่เคยมีครั้งใดจะดีเท่าปีนั้น ทุกมิติ พอถึงรอบนี้ ถึงแม้จะหนัก แต่เมื่อโจทย์เลขที่เราเห็นชัด
ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา เราเห็นภาพชัดเจนว่า อะไรคือปัญหา และจะแก้ไขอย่างไร ประเด็นสำคัญอยู่ที่การขับเคลื่อนไปให้ได้ในสิ่งที่เราคิดและต้องการ
“ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ของสื่อมวลชนนั้น ผมรับรู้หมด สิ่งใดเป็นประโยชน์จะนำไปใช้ ใครติชมหนัก ๆ ผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากปี 2540 ผมโดนไปเยอะ” ดร.สมคิด กล่าว และว่า ครั้งนี้มีกำลังใจมากทีเดียวจากทุกวงการ และเหตุที่ตัดสินใจเข้ามานั้น เพราะช่วงเวลานี้ถ้าคุณไม่เข้ามาทำอะไรบางอย่างหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เมืองไทยจะลำบากในอนาคต แต่หากทำอะไรบางอย่างและทำได้ดี จะเป็นโอกาสทองของไทยในอนาคต
รองนายกรัฐมนตรี บอกต่อว่า การกลับมาครั้งนี้แก่ตัวลง รอบคอบขึ้น และไม่ค่อยสนใจกับคำสรรเสริญเยินยอ หรือคำติชมมากเท่าไหร่ โดยวันแรกที่เข้ามา ผมมีสิ่งที่คิดในใจว่า มีหน้าที่ขับเคลื่อน คือ
การขับเคลื่อนเพื่อยุติหยุดยั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ประคับประคองทางเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ และช่วยเหลือผู้ประสบความลำบากจากภาวะเศรษฐกิจขณะนี้
ผมใช้คำนี้เพราะไม่เคยคิดแม้แต่นิดเดียวว่า ต้องการให้จีดีพีเติบโตสวนกระแสแห่งความไม่เป็นจริง เรารู้ดีว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยมีกี่เครื่อง
เครื่องใหญ่ คือ การส่งออก ในเมื่อเศรษฐกิจโลกเป็นเช่นนี้ จะฝันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมหาศาลเป็นสิ่งที่ฝันไปแล้ว
“หากคุณต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณมหาศาลเข้าไป เพื่อประคองให้จีดีพีเติบโต 5-6% ผมไม่ทำเด็ดขาด เพราะนั่นไม่มีประโยชน์ ฉะนั้นการขับเคลื่อนสิ่งแรกจึงต้องหยุดยั้งการชะลอตัวอย่างมีเหตุมีผล”
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า เรารู้อยู่แล้วสินค้าเกษตรประสบปัญหาราคาตกต่ำ บางตัวมีราคาไม่ถึงครึ่งของที่เคยเกิดขึ้น ไทยมีจีดีพี สมมติ 100 เกษตรกรชาวนาชาวไร่ 30 ล้านคน แชร์ไม่ถึง 10% ของจีดีพี เมื่อรายได้ส่วนนี้หายไปเกือบครึ่งหนึ่ง ท่านลองหลับตาคิดภาพดูว่า สุญญากาศตรงนี้จะนำอะไรไปถม อำนาจซื้อจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในที่สุดก็ไปสู่เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดใหญ่ และธนาคาร เมื่อธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ก็วนมาอยู่ที่เดิม เหมือนสมัยปี 2540 ซึ่งธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ แต่อาศัยวิธีกินส่วนต่างประคับประคองตัวเองอยู่รอด ฉะนั้นต้องไม่ให้เกิดวงจรนี้ขึ้นมา
สิ่งแรกที่เข้ามาวันนั้น ไม่ถึงสองอาทิตย์ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ได้มีมาตรการออกมาเป็นชุด ๆ ออกมาได้เร็ว เพราะนั่งอยู่ใน คสช.อยู่ปีหนึ่ง นั่งดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีอะไร อะไรที่ควรจะทำ และขอให้ทีมงานเตรียมแต่เนิ่น ๆ
ทั้งนี้ เมื่อเข้ามาถึง สิ่งที่ทำอย่างแรก คือ ทำอย่างไรเงินจะลงสู่รากหญ้า ซึ่งเส้นทางหลัก ผมเน้น ‘กองทุนหมู่บ้าน’ ไม่ว่าใครจะวิจารณ์อย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่ามี 2 ท่อที่จำเป็นต้องส่งเงินลงไป
ท่อของกระทรวงมหาดไทยตำบลละ 5 ล้านบาท โดยใช้เงินทั้งหมดประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท
แต่ผมต้องการอีก 1 ท่อ ซึ่งมีความเร็ว ตรงสู่หมู่บ้าน คือ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งระยะแรกไม่มีใครกล้าทำ เพราะกลัวจะถูกตำหนิ ผมไม่สนใจ เพราะผมไม่สนใจการเมืองด้วยซ้ำว่าใครอยู่ค่ายไหน
“ผมเรียนนายกรัฐมนตรีว่า กลไกนี้เป็นสิ่งที่ดี แม้จะมีจุดอ่อนอยู่ แต่ต้องทำ ถ้าพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นมาได้ กองทุนหมู่บ้านเป็นแกนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาฐานราก”
ดร.สมคิด ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่กระทรวงการคลังเร่ง เฉพาะโครงการน้อยกว่า 1 ล้านบาทเพื่อให้เกิดการหมุนรอบระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น เป็นนโยบายแรกที่ผลักดันออกมา เพื่อสร้างกระแสลงไปสู่รากหญ้า
สำหรับเอสเอ็มอี น่าสงสารมาก ฉะนั้นเงินช่วยเหลือจึงออกมาระลอกที่สอง ดอกเบี้ยต่ำ ปรับปรุงวิธีการค้ำประกันของ บสย. และช่วยแง่ภาษีเหลือเพียง 10%
ถัดมา คือ อสังหาริมทรัพย์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พวกเราทราบอยู่แล้วอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลสูงสุดในเศรษฐกิจ คือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะจะไล่ตั้งแต่อุปกรณ์ก่อสร้าง แรงงาน ทุกอย่าง ซึ่งผมได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไม่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ
แต่จะให้อานิสงส์ไปสู่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้มีบ้านอยู่ เพราะหากไม่มีบ้าน อย่าหวังสร้างตัว แม้จะมีเงินเดือนประจำ ไม่กินทั้งชาติ ก็ซื้อบ้านหลังหนึ่งไม่ได้ ฉะนั้นเงินก้อนนี้ก็ออกมา
ผมเข้าใจว่า ทุกคนมีความเป็นห่วงทั้งนั้น บางครั้งเกรงว่า ออกมาแล้วการคลังจะไหวหรือไม่ เอ็นพีแอลจะเพิ่มสูงหรือไม่ ก็ให้คำแนะนำ สั่งสอน และข้อมูลเบื้องต้น
“ผมอยากจะเรียนว่า กระทรวงการคลังกับผม เวลาจะทำอะไรรับรองว่า รอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เราไม่ใช่นักการเมือง ไม่ต้องมีหน้าที่เอาใจใคร และมีอายุขนาดนี้แล้ว และดูถี่ถ้วนแล้วว่า ต้องไม่ให้ฐานะการคลังถูกกระทบ”
สำหรับมาตรการกองทุนหมู่บ้าน สิ่งที่เป็นภาระของรัฐบาลจริง ๆ คือส่วนชดเชยดอกเบี้ย ประมาณ 2 พันล้านบาทเท่านั้น งบประมาณจริง คือ ส่วนที่ลงไปสู่ตำบลละ 5 ล้านบาท สิ่งนั้นคือต้นทุนทางงบประมารของนโยบาย ส่วนเอสเอ็มอีมีต้นทุนอยู่ที่การชดเชยดอกเบี้ย
ทั้งระบบต้นทุนงบประมาณจริง ๆ ประมาณ 5 หมื่นล้าน ไม่รวมส่วนที่ช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหน ถ้าไม่ปฏิรูป ต้องเจอแน่นอน ทุกรัฐบาล ทุกปี ไม่ว่าข้าว ยางพารา ในเมื่อไม่ปฏิรูป ไม่ดูความต้องการตลาด ไม่เพิ่มมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า
“ผลิตขึ้นมาแล้ว มาจี้รัฐบาลให้รับซื้อ รัฐบาลไม่ใช่โรงรับจำนำ แต่ไม่ช่วยก็ไม่ได้ เพราะเป็นคนค่อนประเทศ”
โดยไม่สนใจจีดีพีจะเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ สนใจเพียงแต่ช่วยเหลือแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คนลำบากจะพ้นหรือไม่ เป็นภาระต่อภาษีหลักหรือไม่ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะออกผลเต็มที่ประมาณปลายไตรมาส 4 ปี 2558 และต้นไตรมาส 1 ปี 2559
พร้อมเชื่อว่า ถ้าปีหน้าจีนไม่มีอะไรหนักหน้า ตัวนี้ช่วยชดเชยส่วนเจ็บตัวจากการส่งออกที่ลดลงพอสมควร
ดร.สมคิด กล่าวยังกล่าวถึงการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปเป็นสิ่งสำคัญ การกระตุ้นจะหยุดพอเท่านั้น ถ้าภายนอกไม่ดีจะพิจารณาดู แต่คิดว่าแค่นี้จะเพียงพอต่อการประคับประคอง แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การปฏิรูป
ถามว่า เหตุใดต้องปฏิรูป ผมจะบอกว่าไทยขณะนี้แปลกมาก บางทีดู ๆ เจริญกว่าคนอื่น แต่ดูชัด ๆ กลับเปราะบางมาก
สำหรับการปฏิรูปนั้น รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า เราต้องการมีการเติบโตที่สมดุลระหว่างภายในกับภายนอก ใช้จังหวะนี้สร้างความสมดุลให้ได้
ทั้งนี้ การทำให้ฐานรากแข็งแรง การพัฒนาแนวดิ่งได้ผลน้อยมาก เพราะเป็นเชิงนโยบาย แต่สิ่งสำคัญ คือการขับเคลื่อนของฐานรากกันเอง ฉะนั้นจากวันนี้ไปจะเห็นการทำงบประมาณปีต่อไป มี 2 ฐาน คือ แผนพัฒนาจังหวัด จะพัฒนาเกษตร ท่องเที่ยว สาธารณสุข อย่างไร โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่ดูจากกระทรวง ซึ่งไม่ทราบอะไรเลย นั่นคือ ฐานแนวดิ่ง
แต่ฐานที่สำคัญ คือ ฐานแนวราบ ซึ่งวันนี้ผมใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นแกนหลักใหญ่ในการพัฒนาประเทศ เขากำลังหารือกับกลุ่มเครือข่ายประชาชนทุกกลุ่ม เริ่มวางแผนพัฒนาชุมชนและใช้แผนงานเหล่านี้ของบประมาณทำงานในปีหน้า ซึ่ง สหกรณ์การเกษตรเป็นเป้าหมาย และไม่ควรทิ้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผมให้การบ้านกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกองทุน เช่น จดทะเบียนธุรกิจต้องใช้เวลาเป็นเดือน จะแข่งขันอะไรกับเวียดนาม ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องเร่งออกมา ส่วนกฎระเบียบจะมีการแก้ไขภายในเวลาที่มีอยู่ 1 ปีครึ่ง
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญต้องปฏิรูป คือ งบประมาณ โดยในการพัฒนาประเทศต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น การลดความเหลื่อมล้ำ ความสามารถเชิงแข่งขัน การปรองดองแห่งชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณให้ตามยุทธศาสตร์ อะไรไม่อยู่ยุทธศาสตร์ ไม่ต้องเสนอมา เพื่อจะช่วยลดการซ้ำซ้อนได้
ถ้าคุณไม่ทำสิ่งเหล่านี้ภายใน 1 ปีครึ่ง คุณจะไม่มีเวลาทำอีกเลย ถึงเวลานั้นจะสายเกินไป .