กรีนพีซวอนบ.ยักษ์ใหญ่ทูน่าแก้ปัญหาละเมิดแรงงาน-ยุติประมงทำลายล้าง
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก พบแรงงานประมงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ สต็อคปลาทูน่า 23 แห่ง จับปลามากเกินกำลังการผลิต จี้บริษัทยักษ์ใหญ่จัดการปัญหาและยุติประมงแบบทำลายล้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดแถลงข่าวรายงาน “โซ่ตรวนกลางทะเล:การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก" ณ ห้องกรกมล โรงแรมสุโกศล พญาไท
นายมาร์ค เดีย ผู้จัดการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมทูน่าโลกว่า รายงานครั้งนี้เป็นการเข้าไปติดตามการตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการการประมงทูน่า ซึ่งสาเหตุที่มุ่งเน้นไปที่ทูน่านั้นเนื่องจากในปัจจุบันมีสต็อคปลาทูน่าทั่วโลก 23 แห่ง จากการตรวจสอบทั้ง 23 แห่ง พบว่า มีการจับปลามากเกินกำลังการผลิต ส่งผลให้ปริมาณปลาทูน่ามีจำนวนลดลงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ความต้องการรับประทานทูน่าเพิ่มขึ้นถึง 1,100%
นายมาร์ค เดีย กล่าวถึงรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกของกรีนพีซได้ลงไปสัมภาษณ์แรงงานประมงที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในอินโดนีเซีย พบว่า คนงานเหล่านั้นถูกกดขี่และไม่ได้รับอาหารบนเรือประมงนอกน่านน้ำจากประเทศไทย ทั้งนี้เรือที่อยู่นอกน่านน้ำเป็นเรือไทยจำนวน 280 ลำ เป็นเรือลากจำนวน 189 ลำ และมีเรือแม่จำนวน 13 ลำ ที่ทำหน้าที่ในการส่งอาหารและรับปลาทูน่ากลับสู่ประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ เรือมารีนวัน ของบริษัท ซิลเวอร์ ซี ไลน์ จำกัด ที่ดำเนินการโดยคนไทย และเป็นบริษัทเดียวกันกับที่สำนักข่าวเอพีเคยรายงานว่า ทำการขนส่งอาหารทะเลด้วยการบังคับใช้แรงงานประมง
นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวยังเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ทำด้านอุตสาหกรรมทูน่ารายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก
ผู้จัดการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า สาเหตุที่ต้องเรียกร้องให้บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบริหารเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำประมง เนื่องจากข้อมูลพบว่า ไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ผลิตปลาทูนากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในแต่ละปีรับปลาทูน่ามากกว่า 96% จากพื้นที่การทำประมงนอกน่านน้ำไทย แต่บริษัทก็ให้คำมั่นสัญญาในการตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าที่จับในน่านน้ำไทย ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 4% เท่านั้น และไม่ได้พิจารณาถึงเรื่องการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเลที่มาจากแหล่งการทำประมงอื่น ทั้งๆที่การขนถ่ายปลากลางทะเลคือการเพิ่มความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในการกักตัวแรงงานไว้บนเรือและอยู่ในทะเลโดยไม่มีกำหนด
“ไทยยูเนี่ยนยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของตัวเองมาจากเรือประมงที่ปลอดจากการบังคับใช้แรงงาน บริษัทต้องแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานและไม่รับสินค้าประมงจาการขนถ่ายกลางทะเลในน่านน้ำไทย เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและเป็นรูปธรรม และหากไม่ลงมือทำอาหารทะเลที่มาจากการกดขี่ขูดรีดแรงงานประมงก็จะยังถูกส่งต่อไปสู่มือผู้บริโภค”
เมื่อถามว่ากรีนพีซจะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่จากหลักฐานดังกล่าว นายมาร์ค กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทไทยยูเนี่ยนกำลังถูกฟ้องร้องจากประเทศอเมริกาใน 3 คดี เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งการฟ้องดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของผู้บริโภคและการดำเนินคดีน่าจะเชื่อมโยงมาถึงไทย
อย่างไรก็ตามเรือประมงทูน่าในไทยนั้นส่วนใหญ่ก็จะทำประมงผิดกฎหมาย ดังนั้นการจะฟ้องร้องจึงไม่สามารถทำได้เพราะในส่วนอื่นๆก็กระทำในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ไทยยูเนี่ยนเป็นรายใหญ่ ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องหรือข้อเสนอแนะให้ไทยยูเนี่ยนออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและยุติการประมงทำลายล้างเพื่อเป็นตัวอย่าง 4 ข้อดังนี้
1.จัดหาปลาทูน่าที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีที่มาจากการบังคับใช้แรงงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสามารถให้หน่วยงานที่สามเข้าไปตรวจสอบ
2.ยกเลิกการขนถ่ายปลาทูน่าและสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล
3.หยุดการใช้ปลาทูน่าและสินค้าสัตว์น้ำที่ได้มาจากการทำประมงแบบทำลายล้างและการใช้เบ็ดราว
4.หยุดการทำประมงปลาทูน่าที่ใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา
ด้านนางสาวอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้จักชื่อของไทยยูเนี่ยนในฐานะบริษัทแม่ แต่ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋องที่มีชื่อเสียงระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นChicken of the sea ในอเมริกา MW Brands ในยุโรป หรือซีเล็คทูน่าในประเทศไทย และไทยยูเนี่ยนใช้ปลาทูน่าในกระบวนการผลิตสูงถึงปีละ 600,000 ตัน