คนไทยเป็นเบาหวานพุ่ง กว่าครึ่งไม่รู้ตัว กรมอนามัย แนะออกกำลังกาย-ปรับการกิน
พบคนไทยวัยทำงานเป็น “เบาหวาน” กว่าร้อยละ 10 และกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน แนะปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกายช่วยได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ด้านองค์การอนามัยโลกย้ำควรกินน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อวัน พร้อมยื่นข้อเสนอสุดเข้มข้น 12 ข้อ เพื่อการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสม
นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงรายงานสถานการณ์โรคเบาหวานในปี 2558 จากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation; IDF) พบว่า มีผู้เป็นเบาหวานทั่วโลก 387 ล้านคน ซึ่งสาเหตุสำคัญ คือการไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ได้รับการตรวจคัดกรองว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่เบี้องต้น ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46 และการที่เป็นเบาหวานแล้ว ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน และความสูญเสียที่สำคัญคือตาบอด การถูกตัดขา ไตวาย และการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับประเทศไทย พบว่า คนไทยที่อายุมากกว่า 15 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 6.9 โดยที่มีประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 45-59 ปี เป็นเบาหวานถึงร้อยละ 10.1 และผู้ที่อายุ 30-44 ปี เป็นเบาหวานร้อยละ 3.4 นอกจากจำนวนจะสูงขึ้นแล้วยังพบว่า มากว่าครึ่งหนึ่งไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน และผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตอีกกว่าร้อยละ 10
นพ.เพชร กล่าวอีกว่า ความอ้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่นำไปสู่โรคเบาหวาน จากการสำรวจพบว่ามากกว่าร้อยละ 30 ของชายไทย และมากกว่าร้อยละ 40 ของหญิงไทย มีน้ำหนักตัวเกิน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 6.8 ส่วนคนที่อ้วนมากจะเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 14.3 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนี้จะลดลงถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหารและใช้ชีวิตให้มีกิจกรรมทางกายมากขึ้น มีการควบคุมน้ำหนักอย่างเข้มงวด ได้ช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 70 ในคนที่มีความเสี่ยงสูง
“การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเบาหวานนั้น ทุกคนทำได้ โดยการออกกำลังกาย ดูแลจิตใจตนเอง อย่าให้น้ำหนักตัวเกิน ต้องหมั่นตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัยอันควร เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เบี้องต้น และเมื่อเป็นเบาหวานแล้ว การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ” นพ.เพชร กล่าว
สำหรับวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน นพ.เพชร กล่าวว่า ทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์คือ Healthy eating - Act today to change tomorrow โดยสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย ใช้คำขวัญในภาษาไทยว่า “กิน อยู่ เป็น – เริ่มวันนี้พร้อมเปลี่ยนพรุ่งนี้ให้ดีขึ้น” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ให้มีการบริโภคตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย ถือเป็นการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันทางทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติร่วมกันองค์การอนามัยโลกได้มีข้อเสนอเพื่อลดพลังงานจากน้ำตาลในอาหารประจำวันด้วย ซึ่งทุกวันนี้ คนไทยบริโภคน้ำตาลวันละ 16-20 ช้อนชา หรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อปีทีเดียว
ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อปี 1986 ทางองค์การอนามัยโลกเคยแนะนำให้คนทั่วไปบริโภคน้ำตาลในปริมาณร้อยละ 10 ของพลังงานที่ได้จากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในวันหนึ่งร่างกายได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี ในวันนี้ก็ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 200 กิโลแคลรี แต่เมื่อมาถึงปี 2015 ทางองค์การอนามัยโลกได้ทบทวนข้อแนะนำเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน และลดระดับน้ำตาลที่บริโภคให้น้อยกว่าร้อยละ 5 (ประมาณ 6 ช้อนชา) ต่อวัน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ โดยน้ำตาลที่ควรลดได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำตาลธรรมชาติได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำผลไม้และน้ำผลไม้เข้มข้น
ทพญ.จันทนา กล่าวด้วยว่า ปริมาณที่แนะนำล่าสุดนี้ สอดคล้องกับกรมอนามัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และภาคี ร่วมกันรณรงค์มาโดยตลอด คือไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเท่ากับปริมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั่นเอง
“ขณะนี้ทาง อย.กำลังทำข้อกำหนดในการออกฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยต้องระบุปริมาณน้ำตาลที่แนะนำอยู่ที่ 5% ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ง่ายยิ่งขึ้น” ทพญ.จันทนา กล่าว
สำหรับมาตรการเพื่อการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสม โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาตินั้น ได้มีข้อแนะนำถึง 12 ข้อ ประกอบด้วย
1.ติดฉลากสีบ่งถึงปริมาณน้ำตาลทั้งหมด
2.ห้ามโฆษณาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล
3.ทบทวนแนวทางการรับประทานอาหารสุขภาพที่มีน้ำตาลสูงตามธรรมชาติได้แก่ ผลไม้บางชนิด และน้ำผลไม้
4.ห้ามไม่ให้บริษัทผลิตเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลให้หวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นผู้สนับสนุนรายการกีฬา
5.ห้ามขายเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลให้หวานหรืออาหารที่มีน้าตาลสูงในโรงอาหาในโรงเรียน
6.กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ดูแลสถานที่ในการจัดให้มีน้ำดื่มสะอาดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงเรียน สถานที่ทำงาน และบริเวณสาธารณะ
7.มาตรการเพิ่มภาษี เพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล
8.มาตรการสร้างแรงจูงใจของรัฐในการส่งเสริมการผลิตผักใบและผลไม้แทนที่การผลิตน้ำตาล
9.มาตรการสร้างแรงจูงใจของรัฐที่จะสนับสนุนการมีและเข้าถึงผักสด ผลไม้สดและน้ำสะอาด
10.บังคับให้มีการปรับสูตรอาหารแปรรูปเพื่อลดปริมาณน้ำตาล
11.การรณรงค์ให้ความรู้ทางสาธารณสุขแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับอันตรายทางสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
และ 12.สนับสนุนงานวิจัยที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคน้ำตาลและโรคเบาหวาน