รัฐธรรมนูญ กับการต่อต้านคอร์รัปชัน
ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สปช. พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ได้บรรจุสาระเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันไว้ไม่น้อยกว่า 35 มาตรา โดยเขียนรวมไว้เป็นสัดส่วนอยู่สองเรื่อง ได้แก่ “การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย” ที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนบทบาทของ “ประชาชน” จากเดิมที่ใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วก็รอรับหรือเรียกร้องและร้องขอให้รัฐทำอะไรบางอย่าง ให้พัฒนาเป็น “พลเมือง” ที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นความต้องการ รวมทั้งเปิดให้เข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบ ติดตามและตรวจสอบการบริหารงานและการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ เรื่องที่สองคือ “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” เพื่อป้องกันและเอาผิดกับพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอย่างซับซ้อนแอบแฝง
เนื่องจากการคอร์รัปชันที่เกิดในระบบราชการทุกวันนี้มีรูปแบบ วิธีการ และสาเหตุปัจจัยที่หลากหลายอีกทั้งการกระทำเหล่านั้นได้ทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียหายในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงมีความพยายามออกแบบกลไกในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันไว้ในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างครอบ คลุมและกระจายอยู่ในหมวดหมู่ต่างๆ โดยจำแนกได้ดังนี้
1. ประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน โดยมีการกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและการมีส่วนร่วมป้องกันและขจัดคอร์รัปชัน รวมทั้งให้มีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและฟ้องร้องดำเนินคดี
2. ประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ โดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดยใช้เงินแผ่นดิน ต้องเปิดเผยข้อมูลและประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้และวิพากษ์ วิจารณ์ข้อมูลเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างหลักประกันให้สื่อมวลชนให้สามารถทำหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการแทรกแซงใดๆ
3. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าคนโกงต้องถูกจับและลงโทษอย่างรุนแรง ด้วยการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง รวดเร็วและเป็นธรรม เพิ่มโทษเอาผิดทั้งคนให้และคนรับสินบนด้วยบทลงโทษที่รุนแรงและรวดเร็ว
4. ปิดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเงินของแผ่นดิน โดยวางมาตรการที่รัดกุม เข้มงวด เปิดเผยและครอบคลุมมากขึ้นในการใช้จ่ายเงินของรัฐ เพื่อให้เงินถูกใช้ไปอย่างรับผิดชอบเกิดความคุ้มค่าและไม่ถูกใครฉ้อโกงง่ายๆ รวมถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจากนโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิด การห้ามมิให้นำงบที่มีการแปรญัตติหรือตัดทอนจากรายการใดไปจัดสรรดัดแปลงทำโครงการหรือแผนงานใหม่ และให้มีศาลแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นจากพฤติกรรมคอร์รัปชันอย่างทันท่วงที
5. สร้างการเมืองที่ใสสะอาด เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอ สร้างโอกาสให้คนดีได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง ด้วยการห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับคอร์รัปชันมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งและให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครรับการเลือกตั้งให้สาธารณชนได้ตรวจสอบย้อนหลัง การกำหนดกรอบพฤติกรรมและจรรยาบรรณของนักการเมืองที่สังคมคาดหวังอย่างเข้มข้น และวางบทลงโทษที่รุนแรงต่อนักการเมืองที่ฉ้อฉล
6. การบริหารราชการและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ต้องทำด้วยคุณธรรมจริยธรรม มิใช่เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง เพื่อส่งเสริมคนดีมีความสามารถ มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล การกำหนดสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองควรทำและไม่ควรทำเพื่อป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต
7. การสั่งงานราชการและการกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ ต้องยึดถือประโยชน์ของส่วน รวมเป็นสำคัญ โดยกำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐให้ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลและมีการกำกับควบคุม เพื่อสร้างความถูกต้องและความเข้มแข็งให้ระบบราชการ มีการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผนึกกำลังเป็นประชาคมที่เข้มแข็งเพื่อร่วมกันดูแลรักษาผลประโยชน์ของรัฐและป้องกันการแทรกแซงของนักการเมือง
8. ป้องกันคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการทำงานอย่างโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและรายงานงบการเงินและสถานะทางการคลังให้ประชาชนได้รับรู้
การบัญญัติหลักการเพื่อการต่อสู้กับคอร์รัปชันอย่างรอบด้านไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อวางเป้าหมายร่วมกันของคนไทยและสร้างหลักประกันว่า “ทิศทางการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของประเทศจะไม่ถูกละเลย” ที่สำคัญการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องของประเทศชาติ ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ดังนั้นขอได้โปรดช่วยพิจารณาและสนับสนุนให้มีบรรจุสาระสำคัญเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่
ข้อสังเกต
1. ม. 209 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อ สปช. ให้พิจารณานั้น ได้กำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันวิธีการเดิมๆ ที่ผู้มีอำนาจทำการฉ้อฉลชอบสั่งการแบบปากเปล่าทำให้ไม่มีหลักฐานเอาผิดถึงตัวทำได้ แต่ต่อมาถูกตัดทิ้งไป
2. ส.ส. ส.ว. ควรต้องมีมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบทางการเมือง ที่เข้มข้นหรือขั้นสูง และผู้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานและรองประธานของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ยิ่งต้องยึดถือขั้นสูงกว่า เช่นเดียวกับ ศาล อัยการ คณะกรรมการในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
3. ต้องติดตามรายละเอียดของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นใหม่ด้วย เช่น พ.ร.ป. ป.ป.ช. เพราะอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ กติกา โครงสร้างองค์กรและรูปแบบการทำงาน ได้อีกมาก
4. คณะกรรมการเลือกตั้ง ควรมีอำนาจในการออกกฎ เหล่านี้เพื่อสร้างความโปร่งใสในการเลือกตั้งให้ได้คนดี
4.1 พรรคการเมืองต้องแจกแจงนโยบายที่มีลักษณะประชานิยม ถึงที่มาของแหล่งเงิน ขอบเขตการดำเนินการ กลไกที่จะทำให้นโยบายนั้นๆ บรรลุผล รวมถึงความรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายต่อสาธารณะ
4.2 ควบคุมและกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องรับผิดชอบร่วมกับพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ตนสังกัด หัวคะแนนและผู้ปฏิบัติงานของผู้สมัคร
4.3 กำหนดให้พรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องแสดงข้อมูลสำคัญ เช่น รายชื่อทีมงาน หัวคะแนน ญาติใกล้ชิด ที่มาของค่าใช้จ่าย ประวัติทางการเมือง/การทำงาน ทั้งในเชิงธุรกิจและสาธารณะ
4.4 เปิดให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ (ด้วยความบริสุทธิ์ใจ) นโยบายพรรคการเมืองได้โดยเสรี
5. แม้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะกำหนดว่า “รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เพียงพอ” เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระและเข้มแข็งให้กับองค์กรเหล่านี้ มิให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองที่จะใช้เป็นเครื่องมือปกป้องพวกพ้องตนเองได้ แต่ในความเป็นจริงองค์กรอย่าง ป.ป.ช. ยังได้รับงบประมาณและการบรรจุข้าราชการน้อยกว่าที่ควร จนบั่นทอนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานมาตลอด
6. มีข้อเสนอแนะอยู่มากจากประชาชน นักวิชาการและ สปช. ให้มีการปฏิรูป ตำรวจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีปัญหาคอร์รัปชันอยู่มาก แต่ในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่มีการกล่าวถึง แม้แต่ในส่วนการปฏิรูป
7. แม้จะมีการกล่าวถึงสิทธิและการคุ้มครองประชาชนในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน แต่ปัจจุบันรัฐยังไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งเพียงพอในการปกป้องประชาชนผู้ให้เบาะแสหรือเปิดโปงพฤติกรรมการโกง