"สามล้อถีบโบราณ" กับถนนราดยางสายแรกของเมืองคอน
นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีความเจริญสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภาคใต้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมทั้งการคมนาคมขนส่ง
เฉพาะในตัวเมืองนครศรีธรรมราชมีถนนสายสำคัญๆ อยู่หลายสาย แต่ที่เป็นถนนราดยางสายแรกและเป็นเส้นทางหลักใจกลางเมือง คือ "ถนนราชดำเนิน"
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ถนนสายนี้เกิดขึ้นได้เพราะ "สามล้อถีบโบราณ" ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในตัวเมืองนครฯ
นายสมรักษ์ เจ๊ะสมัน หรือ บังหลา ประธานชมรมสามล้อถีบเมืองคอน เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนไม่มีรถราสัญจรไปมามากมายเหมือนสมัยนี้ จะเดินทางไปไหน หรือจะไปทำธุระกันทีก็ต้องใช้รถม้า ในขณะนั้น "ร้านหลีฮวดใช้" ซึ่งมี นายวุฒิชัย ลีละพันธ์ หรือ "ลิ้วใช้" เป็นเจ้าของร้าน ได้รับซื้อรถม้าเก่า นำมาดัดแปลงผลิตเป็นรถสามล้อถีบ โดยได้รับวิชาทำสามล้อถีบมาจากเตี่ย
"ลิ้วใช้ บอกกับผมว่า สมัยนั้นเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบสามล้อถีบไม่พร้อม หากคิดจะทำสามล้อถีบ ก็ต้องทำเครื่องมือก่อน และเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการผลิตสามล้อถีบ ก็คือ เหล็กสกัด เพราะในสมัยก่อนไม่มีเหล็กสำเร็จรูป เตี่ยของลิ้วใช้ได้โยนเหล็กให้ 2 ชิ้น ให้ลิ้วใช้เอามาตีเป็นเหล็กสกัด กว่าจะได้มาเป็นเหล็กสกัดสักชิ้น เขานั่งร้องไห้แล้วร้องไห้อีก เพราะมันทำยากมาก กว่าจะได้ชิ้นส่วนมาผลิตและกว่าจะสร้างเป็นสามล้อถีบได้สักคัน มันใช้เวลานานมาก" บังหลา เล่าตำนานสามล้อถีบเมืองคอน
ในปี พ.ศ.2479 นายลิ้วใช้ หรือวุฒิชัย ได้ใช้สามล้อถีบมารับรอง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่สองของประเทศไทย ขณะเดินทางมาปฏิบัติราชการที่นครศรีธรรมราช ปรากฏว่า พระยาพหลฯ พึงพอใจเป็นอย่างมาก ทั้งการรับรองของลิ้วใช้ การช่วยเหลืองานราชการ และที่สำคัญคือ "รถสามล้อถีบ" ซึ่งเป็นพาหนะที่ทำการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ คล่องตัวเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีคนที่สองของเมืองไทยจะเดินทางกลับ ท่านก็ได้เอ่ยถามนายลิ้วใช้ ว่า "อยากได้อะไรบ้าง" ลิ้วใช้จึงขอถนนราดยาง เพื่อให้การสัญจรในตัวเมืองมีความสะดวกรวดเร็ว ประชาชนจะได้ทำมาหากินกันอย่างสบายมากขึ้น
ถนนราดยางที่นายลิ้วใช้ขอ เป็นระยะทางตั้งแต่บ้านท่าแพจนถึงหัวถนน พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รับปากว่าจะทำให้ เวลาผ่านไป 3 เดือนจึงมีการทำถนนราชดำเนิน ทำให้คนนครฯมีถนนราชดำเนิน ถนนราดยางสายแรกของนครศรีธรรมราช และใช้กันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้
สำหรับ "สามล้อถีบโบราณ" ปัจจุบันเหลือน้อยมาก บางจังหวัดก็ไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วนที่นครศรีธรรมราชเองก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่คัน ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการดูแลซ่อมบำรุงสามล้อถีบ เพราะอะไหล่ของสามล้อถีบนั้นมีราคาค่อนข้างสูง และยังหายากอีกด้วย อะไหล่บางตัวต้องเดินทางไปหาซื้อในจังหวัดอื่น การซ่อมแซมจึงใช้เวลานานพอสมควร
อีกปัญหาที่เป็นสาเหตุให้สามล้อถีบลดน้อยลง เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมขี่สามล้อถีบ เนื่องจากเห็นว่าล่าช้าและไม่ทันสมัย ทั้งๆ ที่สามล้อถีบ มีส่วนอย่างมากกับการได้ถนนราดยางสายแรกของเมือง
บังหลา เล่าให้ฟังอีกว่า ตอนเริ่มก่อตั้งกลุ่มสามล้อถีบใหม่ๆ ใช้ชื่อว่า "ชมรมสามล้อถีบเมืองนครศรีธรรมราช" มีสามล้อถีบของสมาชิกอยู่ประมาณ 300 คัน แต่ตอนนี้ก็ลดน้อยลง เหลือคนถีบสามล้อถีบอยู่ไม่กี่คน
"ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับความรู้จากลิ้วใช้ ร้านหลีฮวดใช้ เพราะหลังจากผมเรียนจบชั้นประถม 6 ก็ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เลยไปอยู่ที่ร้านหลีฮวดใช้ เพื่อหางานและหาเงินเลี้ยงชีพ ทำให้ผมมีความรู้เรื่องสามล้อถีบ และรักสามล้อถีบอย่างมาก"
บังหลา ยังฝากไปถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ช่วยกันอนุรักษ์สามล้อถีบเอาไว้ เพราะรถสามล้อถีบเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับนครศรีธรรมราชมายาวนาน และยังทำให้เกิดถนนราดยางสายแรก สายสำคัญของเมืองนครฯอีกด้วย
"น่าเสียดายหากเราจะปล่อยให้สิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ เลือนหายไปกับกาลเวลา โดยไม่ได้พยายามรักษามันไว้เลย"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สามล้อถีบโบราณ พาหนะคู่เมืองนครศรีธรรมราช
2 สามล้อถีบที่ ลิ้วใช้ นำมารับรอง พระยาพหลฯ นายกฯคนที่ 2 ของเมืองไทย
3-4 ร้านหลีฮวดใช้ในปัจจุบัน
5 นายสมรักษ์ เจ๊ะสมัน หรือ บังหลา