สหรัฐฯ ส่งเรือรบเผชิญหน้ามังกร ใครได้ใครเสีย ?
การที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส ลาสเซน เข้าไปลาดตระเวนและสอดแนมในน่านน้ำแถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้ ในรัศมี 12 ไมล์ทะเลจากเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นในบริเวณดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลจีนโกรธมาก ถึงขั้นเรียกทูตสหรัฐฯ เข้าประท้วง ขณะเดียวกันสื่อทางการของจีนเองก็เขียนวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของสหรัฐฯ ด้วยภาษาที่รุนแรงและท่าทีที่แข็งกร้าว
บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ สื่อของรัฐบาลจีน ลงเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายวัน มีบทหนึ่งเขียนว่า การรุกล้ำของเรือยูเอสเอส ลาสเซนเป็นการยั่วยุแบบหน้าด้าน และการที่สหรัฐฯ อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำนั้น บ่งบอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯ อาจจะส่งเรือรบเข้ามาในเขต 12 ไมล์ทะเลรอบ ๆ เกาะที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจีนอีก หากสหรัฐฯ จะทำอีกจริง จีนจะต้องหามาตรการตอบโต้และสถานการณ์จะเลวร้ายลงสำหรับสหรัฐฯ
หากการยั่วยุแบบนี้ดำเนินต่อไปอีก เรือรบของจีนจะต้องเผชิญหน้ากับเรือรบสหรัฐฯ บ่อยขึ้นในทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนจะถูกบังคับให้ต้องเร่งระดมกำลังพลในภูมิภาค รวมทั้งจัดให้มีกำลังทหารประจำเกาะของจีนให้เร็วขึ้น ถึงระดับที่ให้จีนสามารถเผชิญหน้ากับกองกำลังสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้ หากสหรัฐฯ ยืนกรานว่าการยั่วยุแบบนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นไปได้ว่าจีนจะระดมเครื่องบินรบประจำการบนเกาะใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้น
บทบรรณาธิการยังบอกต่อไปด้วยว่า จีนเคยกล่าวมาแล้วว่าเกาะที่ได้มีการขยับขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้นั้น มีเป้าหมายในทางสันติและสำหรับพลเรือน จีนไม่มีความตั้งใจที่จะจัดให้ทหารเข้ามาประจำการ แต่สหรัฐฯ บีบบังคับให้จีนต้องก้าวไปในทิศทางที่จีนไม่ได้ต้องการทำ หากจีนส่งทหารเข้าประจำการบนเกาะเล็ก ๆ แถบนี้ สหรัฐฯ จะทำอะไรได้ บางทีประธานาธิบดีบารัค โอบามาสหรัฐฯ อาจจะมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะต่อกรกับจีนเพียงเพื่อเกาะเล็ก ๆ เหล่านี้ จีนพร้อมจะปกป้องผลประโยชน์หลักของตน สหรัฐฯ ไม่มีทางจะเอาชนะความมุ่งมั่นของจีนในการปกป้องอธิปไตยของตนได้ หลังจากที่สหรัฐฯ อวดแสดงพลังให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทหารที่ยอดเยี่ยมที่หน้าประตูบ้านจีนแล้ว สหรัฐฯ น่าจะรู้ว่าเมื่อไรควรจะหยุด
ด้านสหรัฐฯ นั้น นายแอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวยืนกรานว่าสหรัฐฯ จะส่งเครื่องบินขึ้นบิน จะส่งเรือไปปฏิบัติการที่ไหนก็ได้ ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศเปิดทางให้ทำได้ สหรัฐฯ ทำแบบนี้ทั่วโลก และในทะเลจีนใต้ก็ไม่มีข้อยกเว้น
นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ มองว่ามีโอกาสไม่น้อยที่เรือรบสหรัฐฯ กับจีนจะเผชิญหน้ากันในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหลังจากที่นายคาร์เตอร์และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนออกมาประสานเสียงกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าสหรัฐฯ มีสิทธิเสรีภาพที่จะลาดตระเวน แม้ว่าสหรัฐฯ ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีด้านการทหารที่ล้ำหน้า แต่ทะเลจีนใต้เป็นถิ่นของจีน และจีนถือไพ่ที่เหนือกว่า เพราะมีจำนวนเรือรบมากกว่าสหรัฐฯ
รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากองเรือทะเลใต้ของจีน ซึ่งเป็นกองเรือที่ออกปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้นั้น เป็นกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 3 กองเรือของจีน โดยมีเรือทั้งหมด 116 ลำ นอกจากนั้นจีนยังมีเรือยามฝั่งมากกว่า 200 ลำ ส่วนใหญ่มีขนาดระวางเกิน 500 ตันและหลายลำมีขนาดเกิน 1000 ตัน ขณะที่กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ มีเรือ 55 ลำ
แซม เบทแมน อดีตทหารเรือออสเตรเลียที่ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาสถาบันที่ศึกษาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศในสิงคโปร์ชี้ว่า ในบางสถานการณ์ปริมาณมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าคุณภาพ เรือรบสหรัฐฯ อาจถูกเรือรบจีนล้อมกรอบได้ และในสถานการณ์แบบนั้น ตามกฎของการปะทะหมายความว่า เรือรบสหรัฐฯ คงลังเลที่จะเป็นฝ่ายยิงก่อน เพราะอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้ ทางออกคือเรือรบสหรัฐฯ จะต้องเป็นฝ่ายถอย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงอีกหลายคนเห็นว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างไม่สามารถถอนตัวออกจากสถานการณ์ได้โดยที่ไม่เสียหน้า ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงจะต้องตั้งป้อมคุมเชิงกันไปแบบนี้ โดยไม่กี่วันหลังจากที่เกิดความตึงเครียดขึ้นในทะเลจีนใต้แล้ว เจ้าหน้าที่ทหารเรือของสหรัฐฯ กับจีนยอมคุยกันและต่างตกลงว่าจะเปิดช่องทางการเจรจาไว้และยึดแนวทางตามพิธีทางการทูต ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้เกิดการปะทะกัน
นักวิเคราะห์ที่เขียนให้กับนิตยสารเดอะ ดิโพลแมท ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะส่งผลพวงที่ร้ายแรงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจีนมองว่าเป็นการรุกล้ำเข้ามาเพื่อสอดแนม ขณะที่สหรัฐฯ เองก็กำลังจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่มีฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะได้เลย อย่างไรก็ตามในครั้งนี้สหรัฐฯ วางแผนมาก่อนแล้ว อาจมีเป้าหมายเพื่อบั่นทอนการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีนที่ได้กลายเป็นข้อพิพาทกับอีกหลายชาติในภูมิภาค โดยต้องการสะท้อนให้ประชาคมโลกเห็นว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ สหรัฐฯ ยังคงสามารถแล่นเรือเข้าไปในน่านน้ำที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จีนทราบล่วงหน้า
อย่างน้อยมีทางออกที่อาจเป็นไปได้อยู่ 2 ทางจากความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ทางแรกจีนยอมถอย แต่จีนทำไม่ได้ เพราะจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะประเทศมหาอำนาจ ที่สามารถก้าวพ้นออกมาจากศตวรรษแห่งความอัปยศได้ โดยในช่วงดังกล่าวจีนเป็นผู้แพ้ ถูกรุกรานและรังแก ดังนั้นไม่มีทางที่จีนจะยอมถอยในกรณีนี้
หรือทางออกสำหรับสหรัฐฯ คือ ยอมกลืนคำพูดเรื่องเสรีภาพในการส่งเรือไปลาดตระเวน ซึ่งหากสหรัฐฯ ทำ ก็เท่ากับว่าจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้หลักประกันด้านความมั่นคงให้กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ในกรณีญี่ปุ่น ถ้าสหรัฐฯ ยอมถอย อาจทำให้ท้ายที่สุดญี่ปุ่นเลือกที่จะพึ่งพาตนเองด้วยการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของตน ญี่ปุ่นมีศักยภาพที่จะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ผลที่ตามมาคือการแข่งขันด้านอาวุธระหว่างจีนกับญี่ปุ่น สถานการณ์แบบนี้ไม่มีชาติไหนอยากให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องลงเอยด้วยสงครามเสมอไป การใช้แนวทางการทูตและการเจรจา รวมทั้งจัดตั้งกลไกในการจัดการกับวิกฤตเป็นเรื่องจำเป็นและสามารถป้องกันสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ สหรัฐฯ กับจีนจะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวพ้นออกจากความตึงเครียด โดยไม่ต้องเสียหน้าและเสียสละผลประโยชน์หลักของชาติตนมากเกินไป
ภาพประกอบจาก REUTERS