นักวิจัยเผยโลกร้อน เครียดพุ่ง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงาน
นักวิจัยเผย อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทำประสิทธิภาพแรงงานลด ชี้มาเลย์ สิงคโปร์ เผชิญภาวะความเครียดจากความร้อน สูงสุดในอาเซียน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัย Verisk Maplecroft ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำงานด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีผลต่อโลกและสภาพแวดล้อม ได้รายงานว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกนั้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานลดลงโดยเฉพาะแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่นแรงงานภาคเกษตร ก่อสร้าง เป็นต้น จากภาวะความเครียดจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นนี้ มีผลต่อระดับความเครียดในชั่วโมงการทำงาน ส่งผลเสียทางสุขภาพ อารมณ์ ร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ขณะเดียวกันยังผลกระทบในภาคการเกษตรและปศุสัตว์ เสี่ยงต่อภาวะการขาดแคลนอาหาร ความยากจน ซึ่งอาจมีแนวโน้มไปถึงการอพยพของพลเมืองในอนาคต
สถาบันวิจัยVerisk Maplecroft ประเมินว่าในอีก 30 ปี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงงานจะสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากภาวะความเครียดจากความร้อนเฉลี่ย 16% โดยเฉพาะ สิงคโปร์และมาเลเซีย คาดว่า จะส่งผลต่อการทำงานถึง 25% และ 24% ตามลำดับ
ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราเพิ่มขึ้น 21% กัมพูชาและฟิลิปปินส์ 16%
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางสถาบันวิจัยรายงานว่า จะมีอัตราความร้อนส่งผลต่อการทำงานเพิ่มขึ้น 12% เช่นเดียวกับเวียดนาม
ทั้งนี้ในงานวิจัยสะท้อนให้เห็นว่าในปี 2045 จำนวนวันในแต่ละปีที่จะต้องทนทำงานด้วยภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress days) โดยเฉพาะในสิงคโปร์และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นถึง 364 (จากเดิม 335และ 338 ตามลำดับ ) ในขณะที่อินโดนีเซีย จะมีวันที่ต้องเผชิญกับความร้อนมากถึง 355 วัน ในฟิลิปปินส์เอง จะเผชิญกับภาวะนี้ 276-337 วัน
สำหรับประเทศไทยนั้น จำนวนวันในแต่ละปีที่จะต้องทนทำงานด้วยภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress days) จะเพิ่มจากปีละ 240 วัน เป็นปีละ 289 วัน
จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า มีเมืองเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญหน้ากับสถาวะความเครียดจากความร้อน โดยใน 50 อันดับแรกของกลุ่มเมืองที่เสี่ยงต่อภาวะนี้ พบว่า มีเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ และเมืองในกลุ่มอาเซียนหลายเมือง เช่น กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมืองสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ และกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย
หากเปรียบเทียบประเทศที่คาดว่าจะประสบปัญหาในเรื่องนี้มากที่สุด นั่นคือ มาเลเซีย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้านหลายเท่าตัวมาก
ด้านดร.เจมส์ อลัน หัวหน้าวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม สถาบัน Verisk Maplecroft กล่าวว่า "สภาวะอากาศที่เปลี่ยนไปของโลก โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น นอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ถึงเวลาที่รัฐบาลในแต่ละประเทศและภาคธุรกิจ ควรหันมาใส่ใจ แก้ปัญหา และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้"
ขอบคุณรายงานวิจัยและภาพประกอบ Infographic :http://maplecroft.com/portfolio/new-analysis/2015/10/28/heat-stress-threatens-cut-labour-productivity-se-asia-25-within-30-years-verisk-maplecroft/